ประชุมพม่าศึกษาที่เชียงใหม่ จนท.ธนาคารโลกประจำพม่าเล่าวิธีแก้ความยากจน ผ่านกองทุนหมู่บ้านละ 30 ล้านจั๊ต แต่ยังต้องเสริมเรื่องบริหารกองทุนโดยชุมชน และแก้ไขวงจรชำระหนี้ เพราะยังมีการกู้นอกระบบเพื่อใช้หนี้กองทุน - นักวิจัยพม่าด้านเกษตรเผยพม่ามีสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกน้อย ใช้ปุ๋ยน้อย ต้องส่งเสริมให้ใช้วิธีทันสมัย รวมถึงหนุนเอกชนเพิ่มการลงทุน
สองข้างทางของทางหลวงระหว่างเมืองเจ้าก์ปะต่าว-มิกตีลา ภาคมัณฑะเลย์ ตอนกลางของพม่า ภาพถ่ายในปี 2551 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)
ในการประชุมนานาชาติด้านพม่าศึกษา "พม่าในยุคเปลี่ยนผ่าน: ความเชื่อมโยง ความเปลี่ยนแปลง และความท้าทาย" (Burma/Myanmar in Transition: Connectivity, Changes and Challenges) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค. ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น
ในวันที่ 2 ของการประชุม ช่วงเช้ามีการอภิปรายหัวข้อ "พม่ายุคเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูป" ตอนหนึ่งเป็นการนำเสนอสถานการณ์ในชนบทและภาคเกษตรกรรมของพม่าโดย มิง เย เปงเฮง ธนาคารโลก สำนักงานประจำพม่า, โอนมา ไคง์ คณะทำงานด้านความมั่นคงทางอาหาร (FSWG) ดำเนินรายการโดย เถ่ง ซเว นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ถอดโมเดล "กองทุนหมู่บ้านพม่า" งัดทุกยุทธศาสตร์ขจัดความยากจน
ทั้งเงินให้เปล่า งบพัฒนาพื้นที่ ส.ส. และ "กองทุนหมู่บ้านพม่า"
มิง เย เปงเฮง จากธนาคารโลก สำนักงานประจำพม่า กล่าวถึงงบประมาณสำหรับแก้ไขความยากจนในพม่าว่ามีหลายโครงการ เช่น กองทุนลดความยากจน (Poverty Reduction Fund) เริ่มในปี ค.ศ. 2011 เป็นรูปแบบเงินให้เปล่า โดยจ่ายงวดเดียวกระจายไปตามรัฐและภาคต่างๆ ที่ครัวเรือนมีความยากจน
นอกจากนี้ยังมีกองทุนพัฒนาโดยงบประมาณจากรัฐสภาพม่า แบ่งตามเขตเลือกตั้ง ส.ส. 330 เขต ได้งบประมาณเขตละ 100 ล้านจั๊ต หรือ 2.8 ล้านบาท ทั่วประเทศ หรือคิดเป็นงบประมาณทั้งหมด 33 พันล้านจั๊ต หรือ 924 ล้านบาท ต่อปี โดยเป็นแผนที่รัฐสภาพม่าอนุมัติเมื่อปี 2557
อีกกองทุนหนึ่งที่ มิง เย เปงเฮง กล่าวถึงคือกองทุนเมียะเส่งยอง (Evergreen Village Project) หรือ "โครงการหมู่บ้านเขียวชอุ่ม" เป็นกองทุนแบบให้กู้ยืม ได้รับการจัดสรรมาจากธนาคารโลก ผู้บริหารโครงการคือกระทรวงปศุสัตว์ ประมง และการพัฒนาชนบท เป้าหมายคือพัฒนาหมู่บ้านยากจน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 1,150 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 138 ตำบล 47 อำเภอทั่วพม่า ตั้งเป็นกองทุนให้กู้ยืมสำหรับหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 30 ล้านจั๊ต หรือ 8.4 แสนบาท โดยมีผู้รับประโยชน์จากโครงการ 1.8 ล้านคน ใช้งบประมาณรวม 3.45 หมื่นล้านจั๊ตหรือ 966 ล้านบาท
โครงการหมู่บ้านเขียวชอุ่มดังกล่าว มีเป้าหมายลดความยากจนในพื้นที่ชนบทด้วยการสร้างโอกาสในการมีงานทำ ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงศักยภาพของหมู่บ้านในการรับมือภัยพิบัติ โดยรูปแบบเงินกู้ยืมจากกองทุนนี้ จะให้ครัวเรือนนำไปใช้ในธุรกิจระดับครัวเรือนที่ต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำคอกสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ บ่อเลี้ยงปลาหรือพื้นที่เกษตรที่อยู่ในที่ดินของครัวเรือน กิจการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และธุรกิจอื่นๆ โดยจะพิจารณาให้เงินกู้ยืมกับครัวเรือนที่ยากจนแต่มีศักยภาพในการบริหารจัดการเงินกู้
ทั้งนี้ในแต่ละหมู่บ้านเป้าหมายของกองทุนหมู่บ้านเขียวชอุ่ม จะมีคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการ 7 คนมาจากการเลือกตั้งในหมู่บ้าน และต้องมีผู้หญิงเป็นตัวแทนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
มิง เย เปงเฮง กล่าวถึงอุปสรรคและความท้าทายของกองทุนที่ใช้พัฒนาชนบทพม่าก็คือ สำหรับครัวเรือนที่กู้ยืมเงินมาจากกองทุน อาจมีปัญหาไม่สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ ต้องไปกู้เงินจากแหล่งอื่น ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 เพื่อมาชำระคืน ทำให้ยังเกิดวงจรการเงินกู้เงินในครัวเรือนยากจน ความท้าทายอีกเรื่องก็คือ จะพัฒนาความสามารถในการกำกับและบริหารกองทุน รวมทั้งประเมินผลโดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านให้ยั่งยืนได้อย่างไร
นักวิจัยด้านความมั่นคงทางอาหารเสนอให้พม่าทำเกษตรภาคพาณิชย์ ผลผลิตสูงใช้ทรัพยากรน้อย
โอนมา ไคง์ (Ohnmar Khaing) จากคณะทำงานด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security Working Group - FSWG) กล่าวว่า พม่าเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ยังมีผลผลิตต่ำ เกษตรกรยังขาดโอกาสพัฒนา การเข้าถึงตลาด เกษตรกรต้องการขายผลผลิตตัวเอง แต่ผลผลิตที่ได้ยังมีน้อย และมีความต้องการปรับปรุงสภาพการผลิตโดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาอย่างรอบด้านด้วย
ทั้งนี้ภาคเกษตรกรรมของพม่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงจาก การผลิตเพื่อเน้นปลูกข้าวเป็นหลัก มาเป็นการผลิตแบบเพิ่มผลผลิตและเน้นความกินดีอยู่ดี ไปสู่ประเทศที่ทันสมัย และมีภาคการเกษตรที่ทันสมัย
วิสัยทัศน์ใหม่ของพม่าควรเป็น ภาคเกษตรพาณิชย์ (Agribusiness) ได้ผลผลิตต่อไร่มาก และใช้ทรัพยากรน้อย นอกจากนี้มีตัวแปรที่ต้องคำนึงด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Changing Climate) ภาวะการกลายเป็นเมืองที่มาพร้อมกับรายได้เฉลี่ยของประชาชนที่มากขึ้น รวมไปถึงการค้าในภูมิภาคที่จะบูรณาการเข้าหากัน มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
ทั้งนี้รูปแบบการบริหารพื้นที่เพาะปลูกที่น่าสนใจนำมาใช้ในพม่า เช่น เกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) การจ้างบริหารพื้นที่ทำเกษตร (Contract management) การให้เช่าดินทำเกษตรและการเก็บเกี่ยวผลผลิตร่วมกัน (Tenant farming and Sharecropping)
โดยที่ในพม่าต้องการภาคเกษตรพาณิชย์เพื่อการพัฒนา รวมไปถึงภาคเกษตรพาณิชย์เพื่อสันติภาพโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งความขัดแย้งเพิ่งยุติลงด้วย
สำหรับพื้นที่การเพาะปลูกนั้น เมื่อเทียบระหว่างพม่า ไทย และเวียดนาม พม่าแม้จะมีเนื้อที่ประเทศมาก แต่พื้นที่เพาะปลูกคิดเป็นสัดส่วนแล้วมีน้อย โดยพม่า มีพื้นที่เพาะปลูก 11.984 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของเนื้อที่ประเทศ และใช้ปุ๋ยเพียง 15.7 กก. ต่อเฮกตาร์ ขณะที่ ประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูก 19.75 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 38.7 ของเนื้อที่ประเทศ และใช้ปุ๋ย 153.2 กก. ต่อเฮกตาร์ ส่วนเวียดนาม มีพื้นที่เพาะปลูก 10.072 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 32.5 ของเนื้อที่ประเทศ และใช้ปุ๋ย 297.1 กก. ต่อเฮกตาร์
โอนมา ไคง์ เสนอว่า ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรรมในพม่า คือต้องสนับสนุนเกษตรกรเปลี่ยนจากการผลิตดั้งเดิมมาใช้วิธีการที่ทันสมัย ใช้นวัตกรรมการเพาะปลูกที่สร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้การพัฒนาภาคการเกษตรของพม่าต้องมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกำหนดวาระทางการเมืองใหม่สำหรับประเทศ
ในส่วนของสถาบันการศึกษา การฝึกอบรมเพิ่มเติม (Vocational Training) สำหรับเกษตรกรเพื่อลดช่องว่างด้านทักษะการเกษตรเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ต้องเพิ่มการลงทุนทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ต่อภาคการเกษตรยังน้อยกว่า 1%
ที่มา : ประชาไท วันที่ 28 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.