ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามี องค์กร/สมาคมที่เกี่ยวข้องกับชาวนาถูกจัดตั้งขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป้าหมายเพื่อเป็นกระบอกเสียง และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่หลายครั้งการรวมตัวของชาวนาที่มีหลากหลายสมาคมทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ เสียงสะท้อนในการเรียกร้องการแก้ไขปัญหาขาดพลัง และไม่มีผลสะท้อนกลับ ขณะที่รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีนโยบายส่งเสริมให้องค์กรชาวนามีความเป็นเอกภาพและเกิดความเข้มแข็ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของ 8 องค์กรชาวนาได้รวมตัวกันจัดตั้ง "สมาพันธ์ข้าวและชาวนาแห่งประเทศไทย" เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 และมีมติเป็นเอกฉันท์เลือก "นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน" ผู้คร่ำหวอดในวงการข้าวนั่งตำแหน่งประธานสมาพันธ์เป็นคนแรก ในโอกาสนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้สัมภาษณ์พิเศษนายนิพนธ์ถึงที่มาที่ไป แนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนจากภัยแล้ง ตลอดจนมุมมองทิศทางอนาคตอุตสาหกรรมข้าว และชาวนาไทย จะปฏิรูปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร
++เบื้องหลังตำแหน่งประธาน
"นิพนธ์" กล่าวว่า ล่าสุดสมาพันธ์ข้าวและชาวนาแห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็น "สหพันธ์สมาคมชาวนาไทย" ซึ่งที่มาของการรับตำแหน่งประธานสหพันธ์ในครั้งนี้ เริ่มจาก 8 องค์กรข้าวประกอบด้วย สมาคมชาวนาข้าวไทย,สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย, สมาคมเครือข่ายชาวนาไทย, สมาคมส่งเสริมชาวนาไทย, สมาคมชาวนาอีสาน, สมาคมชาวนาและโรงสีข้าวไทย (เป็นสมาคมจดทะเบียนใหม่ล่าสุด), สมาคมเกษตรกรไทย และคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชน ต้องการให้องค์กรชาวนามีความเป็นเอกภาพและมีความเข้มแข็ง โดยหาคนกลางที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและจากคนในวงการข้าวมาเป็นผู้ขับเคลื่อน
" ที่ประชุมเดิมในตอนแรกได้มีมติเลือก ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย มาดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ แต่ได้รับการปฏิเสธจากเจ้าตัว ด้วยสาเหตุมีภารกิจมาก จึงขอเป็นที่ปรึกษาแทน ถัดจากนั้น 8 องค์กรก็มาเลือกผมเป็นประธาน เนื่องจากเห็นว่า อดีตเคยนั่งนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เคยเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และเคยเป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ตลอดจนเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้าวคนหนึ่งของประเทศ จึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ คนแรก ด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์"
++ชง 3 มาตรการเร่งด่วน
สำหรับภารกิจเร่งด่วนคือการช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง หลังจากกรมชลประทานได้งดจ่ายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรจึงได้เสนอมาตรการเร่งด่วน 3 มาตรการคือ 1.ให้รัฐบาลจ่ายชดเชยตามพื้นที่เสียหายจริง ไร่ละ 1 พันบาท 2.รัฐบาลต้องเร่งจัดสรรงบประมาณขุดเจาะบ่อบาดาล/พักน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และ 3.ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชะลอการชำระหนี้ของเกษตรกร เพราะชาวนาปลูกข้าวไม่ได้ เพราะลำพังแค่เงินเลี้ยงชีพก็แทบจะหาไม่ได้ ปัจจุบันมาตรการ ธ.ก.ส.ที่ออกมาช่วยชาวนาไม่ได้ส่งเงินต้น แต่ก็ยังต้องส่งดอกทุกเดือน
"ล่าสุดได้รับข่าวจากนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าจะมีเงินชดเชยช่วยชาวนาจากการที่ได้เสนอในครั้งนี้ หากเป็นจริงมองว่าเป็นผลงานแรกที่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล จะทำให้ทางสหพันธ์ ได้รับการยอมรับและศรัทธา จากชาวนา จำนวน 4 ล้านครัวเรือน"
++ผุดไอเดียตั้งบริษัทชาวนา
"นิพนธ์" กล่าวว่า การที่จะช่วยชาวนาอย่างยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญต้องพึ่งตนเอง โดยการลดต้นทุนการผลิต ปัจจุบันจะเห็นว่าชาวนาใช้น้ำมากเกินไป ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้องสูบน้ำเข้านา น้ำมันแพง แต่ถ้าลดการใช้น้ำ เท่ากับลดต้นทุนไปแล้วส่วนหนึ่ง ตามหลักวิชาการต้นข้าวต้องการน้ำแค่ 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงหว่านกล้าตอนเริ่มงอก และตอนข้าวตั้งท้องและออกรวง เท่านั้น ที่สำคัญชาวนาต้องหันมาผสมปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักเอง จากปัจจุบันปุ๋ยเคมีราคาแพง ขณะนี้กำลังประเมินว่าศักยภาพของสหพันธ์เข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ที่จะขอนำเข้ายากำจัดวัชพืช และนำเข้าปุ๋ยเคมีเอง หรือไม่ก็ให้ อ.ต.ก. นำเข้าปุ๋ยขายให้เกษตรกรโดยตรง เพื่อให้เกษตรกรได้มีทางเลือก และมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ไม่ให้พ่อค้าเอาเปรียบจนเกินไป
"ผมฝันจัดตั้งบริษัทของชาวนา ชื่อไทยฟาร์เมอร์มาร์เก็ตติ้ง เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรครบวงจร ในแต่ละภูมิภาคคล้ายกับวิสาหกิจชุมชน ผลิตข้าวถุงคุณภาพ ตามเทรนด์รักสุขภาพของคนสมัยใหม่ ให้ชาวนาในแต่ละพื้นที่ปลูกข้าวตามความต้องการของตลาด ขณะนี้ได้ร่วมกับ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ของทีดีอาร์ไอ ศึกษาความต้องการบริโภคข้าวของแต่ละประเทศว่า นิยมทานข้าวชนิดไหน ปริมาณเท่าไร"
ส่วนในเรื่องการรวมกลุ่มกันผลิตนาแปลงใหญ่ของรัฐบาล จะตอบโจทย์เกษตรกรไทยหรือไม่ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นรายย่อย การรวมตัวกันนั้นค่อนข้างยาก มองกันว่า อนาคตระบบการค้าข้าวเมืองไทย จะต้องผลิต 2 ระบบคือ 1.ระบบนาแปลงใหญ่ เพื่อใช้เครื่องจักรกล เพื่อลดต้นทุน ซึ่งตรงนี้ต้องหลีกทางให้เครือซีพีและเครือไทยเบฟ น่าจะเหมาะกว่า เพราะกลุ่มทุนเหล่านี้สามารถลงทุนได้มหาศาล
++หนุนปลูกข้าวจีเอ็ม
ในส่วนของข้าวจีเอ็มโอ(ข้าวตัดแต่งพันธุกรรม) หรือเรียกสั้นๆ ว่าจีเอ็ม นั้นยังไม่ได้ข้อยุติทางวิชาการว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ข้าวจีเอ็ม ทำให้ต้านทานโรคและแมลง และมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เป็นการลดต้นทุน เพราะตอนนี้พ่อค้ามาทำข้าวพันธุ์ไฮบริด(พันธุ์ลูกผสม) ชาวนาเสียเปรียบ เพราะเอาไปทำพันธุ์ไม่ได้ เหมือนไก่ตอน อ้วน แต่เพาะพันธุ์ไม่ได้ ขณะที่ข้าวจีเอ็ม ชาวนาสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ขยายพันธุ์ได้ ขณะนี้สังเกตเห็นตลาดโลกเงียบไปแล้ว เพราะตอนนั้นที่เกิดการโวยวายขึ้นมา เพราะเทคโนโลยีตัวนี้สหรัฐอเมริกาทำล้ำหน้า ยุโรปตามไม่ทัน ตอนนี้ยุโรปคงศึกษาอะไรไปมากแล้ว จะสังเกตเห็นว่ากระแสต่อต้านหรือคัดค้านเงียบหายไป "ตัวอย่างพืชจีเอ็มโอ ที่เห็น อาทิ ฟักทองยักษ์ แตงโมขนาดใหญ่เป็นสิบเท่าปกติจากที่เห็นทั่วไปในเมืองไทย ขณะนี้ทางสหประชาชาติกำลังมองว่า หากประชากรโลกมีถึง 9 พันล้านคน โลกจะขาดแคลนอาหาร ซึ่งในมุมนักวิชาการก็ไม่ผิด ที่มองว่าพืชจีเอ็ม จะทำให้เซลล์มนุษย์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป แต่กี่สิบปีที่จะเป็นแบบนั้น หรืออาจจะต้องเห็นภาพการอดตายก่อน ถึงจะเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีจีเอ็มเข้ามาใช้ในระบบการผลิตสินค้าเกษตร"
++ซัดพาณิชย์ทำตลาดไม่เป็น
"นิพนธ์" กล่าวอีกว่า จากผลกระทบภัยแล้ง ทางกระทรวงพาณิชย์ต้องป่าวประกาศให้ทั่วโลกรับรู้ หรือคู่ค้าทราบว่าไทยไม่มีน้ำในการปลูกข้าว ผลผลิตเสียหายมาก ในส่วนนาปรัง รัฐบาลประกาศให้งดทำนา ส่วนนาปียังไม่แน่ใจว่าจะปลูกข้าวได้หรือไม่ ต้องรีบประกาศ เพื่อดันราคาข้าวในตลาดโลกให้กระเตื้องขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่เห็นมีใครทำอะไรเลย หากสมัยเป็นนายกสมาคมโรงสีข้าวคงต้องรีบแล้ว เพราะเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กลับไม่มีใครพูด ข้าวในประเทศเลยราคาไม่สูง ถือว่าผิดปกติ
"ตรรกะที่บอกว่าของน้อย ราคาจะปรับขึ้น ถึงแม้จะอ้างว่ามีสต๊อกข้าวรัฐบาล เป็นตัวกดดันราคาไม่ขยับก็ตาม แต่อย่างน้อยกลไกตลาดจะต้องไม่บิดเบี้ยว สาเหตุที่ราคาข้าวในประเทศราคาไม่สูงขึ้นเพราะอะไร เพราะใครต้องการข้าวก็มาขอซื้อจากคลังรัฐบาลได้แทนการซื้อขายปกติ แล้วอย่างนี้โรงสีกับชาวนา จะอยู่ได้อย่างไร นอกจากนี้จะเดินหน้าเพื่อให้ชาวนาได้มีส่วนในการจัดการบริหารข้าวทั้งระบบด้วย ไม่ใช่ให้สิทธิ์แต่ผู้ส่งออก จึงจะมีสิทธิ์นั่งในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มองว่าไม่เป็นธรรม เรื่องนี้จะเรียกร้องให้ถึงที่สุด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,072 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 22 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.