นักวิชาการชี้ต้องเฉลี่ยน้ำให้กับทุกพื้นที่ แนะรัฐบาลอย่าขอความร่วมมือแบบขอไปที วอนมีมาตรการชัดเจน ห้ามนิคมอุตสาหกรรมสูบน้ำ สนามกอล์ฟต้องปิดชั่วคราว
แนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำแล้งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้ขอความร่วมมือประชาชนงดการสูบน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาไปใช้ในภาคการเกษตร ล่าสุด มีการคาดว่า จะสามารถดำเนินการส่งน้ำเพิ่มเติมไปให้ภาคเกษตรได้ โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤตคือพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพาะปลูกข้าวซึ่งตั้งท้องเตรียมที่จะออกรวงและจะมีการเก็บเกี่ยวในฤดูกาลต่อไป และอีกกลุ่มคือพื้นที่ที่ข้าวยังไม่ตั้งท้องและมีโอกาสรอดได้หากฝนตกในช่วงต่อจากนี้
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่แย่ที่สุดของชาวนา อย่างแรก คือ ราคาข้าวตกต่ำหลังจากมีการยกเลิกโครงการจำนำข้าวไป ราคาขายก็อยู่ที่เกวียนละ 5,000-6,000 บาท หากมองต้นทุนที่ต้องจ่ายก็แทบไม่มีกำไรเลย ที่สำคัญผลผลิตข้าวปีนี้ก็แย่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ผลผลิตที่ได้ต่อไร่เพียง 60-70% เท่านั้น ปัจจัยนี้จะยิ่งทำให้ต้นทุนกับรายได้ห่างกันยิ่งขึ้น
"ปีนี้ชาวนาขาดทุนแน่นอน นอกจากนี้ในเรื่องของการชดเชยรัฐก็ไม่มีนโยบายในการชดเชยที่ชัดเจน มีแต่นโยบายห้ามทำนาปรัง เพราะจะไม่ปล่อยน้ำ ห้ามชาวนาสูบน้ำ ทั้งๆที่ข้าวของชาวนากำลังออกรวง ทำแบบนี้ยิ่งซ้ำเติมทำให้ชาวนาไม่มีรายได้"
รศ.ดร.ประภาส กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร แม้ทหารจะออกมา แต่สุดท้ายชาวนาก็ต้องลักลอบสูบน้ำอยู่ดี เพราะไม่มีใครยอมปล่อยให้ข้าวตาย นโยบายรัฐที่ไม่ยอมให้น้ำเกษตรกร ทั้งๆที่น้ำ แต่กลับจัดสรรน้ำไว้ให้ภาคอุตสาหกรรม และรัฐเองก็ไม่เคยห้ามสนามกอล์ฟ หรือนิคมอุตสาหกรรมหยุดสูบน้ำ รวมถึงการอุปโภคบริโภค หมู่บ้านจัดสรรที่ขยาย ขยายเมืองออกไปจนน่าเกลียด รัฐไม่เคยออกมาบอกคนกลุ่มนี้เลย
"ในอนาคตเขื่อนที่ใช้สำหรับกักเก็บน้ำในการทำการเกษตรจะกลายเป็นเขื่อนสำหรับน้ำประปา จึงไม่รู้เลยว่าชาวนาจะอยู่อย่างไร ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ชาวนาเดือดร้อนมาก อำนาจต่อรองไม่มี รัฐบอกขอความร่วมมือชาวนาแต่ก็ส่งทหารลงไปในพื้นที่ ประสบการณ์การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาคือองค์กรชาวนาเป็นองค์กรที่อ่อนแอที่สุดแม้จะมีจำนวนมากที่สุด การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาส่วนใหญ่เคลื่อนไหวผ่านนักการเมืองท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ซึ่ง ณ วันนี้ ส.ส.ก็ไม่มี นักการเมืองท้องถิ่นก็ไม่กล้าขยับ"
สุดท้ายนักวิชาการ จากจุฬาฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องน้ำจะต้องเฉลี่ยให้ทุกพื้นที่ อาจจะจำแนกพื้นที่ต่างๆว่าตรงไหนวิกฤติมากก็ส่งน้ำเข้าไปก่อน แล้วก็เฉลี่ยๆในแต่ละจุด ไม่ใช่การออกมาขอความร่วมมือแบบขอไปที และไม่เคยมีมาตรการชัดเจนออกมาว่า สนามกอล์ฟต้องหยุด นิคมอุตสาหกรรมหยุดสูบ ห้ามขายน้ำให้โรงงาน
"ไม่ใช่การแค่ออกมาพูดว่าขอความร่วมมือหยุดล้างรถ แบบนี้เขาเรียกมาตรการตีฝีปากไปวันๆ ไม่มีผลต่อการจัดสรรน้ำ ที่สำคัญในอนาคตต้องมีองค์กรจัดการบริหารน้ำเพราะน้ำเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่มานั่งทุบโต๊ะโดยคนคนเดียว แล้วคนอื่นไม่ได้ต่อรองอะไรเลย”
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 22 ก.ค. 2558