โดย...ซอว์ เดเด
พื้นที่พัฒนาที่ร้อนแรง ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก และเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา การเร่งเดินหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้งสองประเทศ ก่อปัญหาให้ประชาชนทั้งสองประเทศคล้ายๆ กัน
ในฝั่งไทยนั้น ประกาศ คสช.กำหนดการใช้ที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ทำให้ชาวบ้านร่วม 100 รายได้รับผลกระทบ ขณะที่ในฝั่งเมียนมาก็มีปัญหาแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นเช่นกัน
ซออาลเบอต์ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลภาคสนามกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (Karen Human Rights Group) หรือ KHRG เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงขณะนี้ เกิดปัญหาการยึดแย่งที่ดิน หรือการบังคับเอาที่ดินเกิดขึ้นมากมายในรัฐกะเหรี่ยง เพราะรัฐบาลเมียนมาเริ่มเข้ามายึดที่ดินภายในรัฐกะเหรี่ยงผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ รวมถึงการดำเนินงานของกลุ่มทุน
ซออาลเบอต์ กล่าวว่า รูปแบบการยึดเอาที่ดินที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ได้แก่ 1.การสร้างโครงข่ายคมนาคม เช่น ถนน และสะพาน 2.การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ผ่านโครงการขนาดใหญ่ เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเกษตร การเปิดสัมปทานเหมืองแร่และทำไม้ รวมถึงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 3.การขยายพื้นที่ของทหาร และการสร้างฐานที่มั่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยกองทัพเมียนมา
“โครงการต่างๆ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และทำให้ชาวบ้านในพื้นที่จนลง และพวกเขาต้องขายสัตว์เลี้ยงเพื่อความอยู่รอด เพราะต้องสูญเสียที่ดินทำกิน โดยที่รัฐบาลเมียนมา หรือกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องไม่ได้เยียวยาใดๆ เลย แม้หลายครั้งมีการรับปากและหลอกให้ชาวบ้านลงชื่อยินยอม”
ซอเวเล หัวหน้าฝ่ายงานรณรงค์ของ KHRG กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างเขื่อนต่างๆ ในรัฐกะเหรี่ยง ส่งผลให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น การเปิดสัมปทานทำไม้ให้กับกลุ่มทุน ส่งผลให้มีการทำไม้รุกเข้ามาในพื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน นอกจากสูญเสียที่ดินทำกินแล้ว ชาวบ้านยังไม่สามารถพึ่งพาป่าชุมชนของพวกเขาได้อีก แม้แต่ฟืนในการหุงต้มแทบไม่มีเหลือให้ชาวบ้านได้ใช้เลย
ซอเวเล กล่าวว่า การทำเหมืองทองที่มีมากในเขตยองลีบินและเขตผาปูน ทำให้แหล่งนํ้าปนเปื้อนสารพิษและเกิดปัญหาสุขภาพขึ้นมาก ทั้งสารพิษสะสมในร่างกายและโรคผิวหนัง แม้วันนี้รัฐบาลเมียนมามีการตรากฎหมายที่ดินขึ้น แต่ยังไม่เห็นข้อกฎหมายที่จะปกป้องสิทธิของชุมชน และชาวบ้านในที่ดินตนเองเลย
ซอเวเล กล่าวว่า กองกำลังปกป้องชายแดนของรัฐบาลเมียนมา หรือ BGF ก็เป็นอีกกลุ่มที่เข้ายึดแย่งที่ดินจากชาวบ้านเพื่อขยายฐานที่มั่น สร้างบ้านพักให้กับครอบครัวทหารในสังกัดและเพื่อเก็งกำไรขายให้กลุ่มทุนที่จะเข้ามา
“ขณะนี้ชาวบ้านเริ่มมีการทำหนังสือส่งไปยังรัฐบาลกลางของเมียนมา รวมถึงกองกำลังในพื้นที่อย่างเคเอ็นยู ระดับพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ช่วยหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่ผลที่ได้รับคือ ชาวบ้านกลับถูกกดดันให้ยินยอมจากทั้งสองฝ่าย” ซอเวเล กล่าว
ซอเวเล กล่าวว่า การจะดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ ต้องมีการพูดคุยกับชาวบ้าน คำนึงถึงประโยชน์ของผู้พลัดถิ่น และผู้ลี้ภัยในประเทศไทยหากมีการส่งกลับด้วย กองทัพรัฐบาลควรลดกำลังออกจากพื้นที่ชาวบ้าน รวมถึงชะลอ หรือยกเลิกโครงการที่มีผลกระทบกับชาวบ้านในขณะนี้ และควรคำนึงถึงสิทธิของผู้ลี้ภัยหากมีการส่งกลับด้วย
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17 ก.ค. 2558