"หม่อมอุ๋ย" ไฟเขียว 6 มาตรการเร่งรัดและปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรที่เป็นหนี้กองทุนรวมฯค่ากว่า 6.3 พันล้าน ชูมาตรการนาทีทองเป็นไม้เด็ด จูงใจเร่งชำระ จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยและค่าปรับ ระบุ12 โครงการใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวต้องเร่งหมุนให้เร็วขึ้น อีกด้านโละหนี้สูญให้กับเกษตรกรที่ไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้คืน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในฐานะประธานกรรมการ คชก. ได้เห็นชอบมาตรการเร่งรัดติดตามการค้างชำระหนี้กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรวม 77 โครงการ วงเงิน 6.3 พันล้านบาท (ดูตารางประกอบ) และเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้เป็นกรอบแนวการติดตามเร่งรัดการชำระหนี้และปิดโครงการได้เร็วขึ้น จึงเห็นควรออกมาตรการดังนี้คือ 1.มาตรการนาทีทอง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพในการชำระหนี้ โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถดำเนินการกับลูกหนี้ได้ทันที โดยการยกเว้นดอกเบี้ยและค่าปรับให้แก่ลูกหนี้ที่ได้ส่งชำระคืนเกินกว่าวงเงินกู้ยืม โดยให้นำดอกเบี้ยหรือค่าเบี้ยปรับที่ได้ชำระแล้วไปหักเป็นต้นเงินกู้ตามสัญญา ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
2.มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการรับชำระหนี้ต่ำ ที่ผ่านการประเมินศักยภาพแล้ว ปรากฏว่ายังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ แต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากสาเหตุสุจริตจำเป็นหรือเป็นภาระหนักต้องใช้ระยะเวลาในการชำระหนี้คืนภายในเดือนพฤษภาคม 2561 โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยหรือค่าปรับให้แขวนไว้ หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยได้ครบตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ยกเว้นดอกเบี้ยและค่าปรับที่แขวนไว้ดังกล่าวทั้งจำนวน
3.มาตรการปลดเปลื้องหนี้สิน ให้ดำเนินการตัดหนี้สูญให้กับลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ อาทิ กรณีประสบภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ กรณีโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ ลูกหนี้เสียชีวิต สาบสูญ หรือละทิ้งถิ่นที่อยู่หาตัวไม่พบ และหนี้สินของลูกหนี้มีจำนวนตัวเงินกู้ไม่เกิน 1 หมื่นบาท เป็นต้น 4.หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป โดยปกติต้องขาดอายุความคดีแล้ว แต่ได้มีการดำเนินการให้ผู้กู้ยืมรับเงินสภาพหนี้เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง หรือในกรณีหน่วยงานของรัฐได้ติดตามทวงถามเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง แล้วปรากฏว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้
5.หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีหลักเกณฑ์พิจารณา ได้แก่ เป็นหนี้ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งปรากฏว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีทรัพย์สินใดหรือผู้กู้ยืมเงินเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น 6.ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย หรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ โดยมีเกณฑ์พิจารณา คือ ความจำเป็นพื้นฐานไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี
แหล่งข่าว กล่าวว่า โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 12 โครงการ วงเงินกว่า 3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ระยะยาวกำหนดชำระคืนถึงปี 2564 หากเร่งรัดแล้วสัมฤทธิผล อย่างน้อยเงินคืนกลับมาจะหมุนเร็วขึ้น เพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ หรือภัยพิบัติต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันสถานะการเงินของ คชก. ในช่วงวันที่ 1-30 เมษายน 2558 กองทุนรวมฯมีรายรับจำนวน 6.78 พันล้านบาท ประกอบด้วย เงินสดยกมาจากเดือนมีนาคม 2558 จำนวน 6.72 พันล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และเงินรับคืนจากโครงการต่างๆ รวม 62 ล้านบาท ทำให้ยอดเงินสดในมือ ณ วันที่ 30 เมษายน 2558 มีจำนวน 6.78 พันล้านบาท โดยมีภาระผูกพันวงเงิน 95 ล้านบาทส่งผลให้กองทุนคงเหลือเงินดำเนินการ 6.68 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม จำนวน 62.5 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานส่งคืนกองทุน คชก.
ทั้งนี้ลูกหนี้เงินคงค้างชำระหนี้ มีหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงมหาดไทย และกรมการค้าภายใน ได้เร่งให้จัดทำรายละเอียด จำแนกลูกหนี้ต่างๆ ให้เร็วที่สุด และเร่งชี้แจงให้ลูกหนี้มาชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่อนำเข้าสู่มาตรการนาทีทอง และให้แจ้งกรมบัญชีกลางเพื่อปรับปรุงบัญชีต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,068 วันที่ 9 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 8 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.