วันนี้ (14 ก.ค. 58) ที่กระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้รายงานข้อมูลการสำรวจภาระหนี้สินของเกษตรกรทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ทุก ส่วนราชการร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องสูญเสียสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเองไป โดยใช้ข้อมูลการสำรวจหนี้สินเกษตรกรของกระทรวงมหาดไทยเป็นฐานข้อมูล
โดยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร โดยได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร และการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ทั้งในด้านกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ และการปลดเปลื้องหนี้สิน โดยกระทรวงมหาดไทยจะจัดส่งข้อมูลหนี้สินเกษตรกรทั้งหมด จำนวน 1,637,562 ราย มูลค่าหนี้ประมาณ 3.88 แสนล้านบาท ให้แก่ ศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจัดส่งข้อมูลหนี้นอกระบบให้กระทรวงยุติธรรม และหนี้ในระบบให้กระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกรโดยชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงาน ให้แก่ คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนส่วนจังหวัด (อชก.จังหวัด) และ อชก.อำเภอ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ในแต่ละพื้นที่ ตามจำนวนที่สำรวจไว้แล้ว และคัดกรองหนี้สินดังกล่าวส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป รวมทั้งให้จัดทำแผนปฏิบัติการเจรจาหนี้ให้ครบทุกราย ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ตามลําดับความจำเป็นเร่งด่วนของหนี้ เช่น หนี้ที่มีสัญญาขายฝาก หรือหนี้ที่ที่ดินจะหลุดเป็นของนายทุนเป็นลำดับแรก และดำเนินการเจรจาหนี้ทุกรายให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร กระทรวงมหาดไทยได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นไปอย่างมีระบบ และเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินไม่ให้เสียที่ดินทำกินไป ทั้งนี้ ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญและบูรณาการร่วมกับทุกส่วนราชการในพื้นที่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรเกิดผลอย่าง เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 14 ก.ค. 2558