“ประยุทธ์” ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงลิ่ว ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง สั่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรโดนฮุบที่ดิน เล็งซื้อหนี้มาบริหาร หรือปล่อยสินเชื่อให้โดยตรงไม่คิดดอกเบี้ย ชักไม่พอใจเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจไม่คืบ ฉุน! จะเริ่มกระตุ้นเมื่อไร ด้าน “อุ๋ย” ยืดอกรับชี้แจงเหตุล่าช้า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ามีความเป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่หมักหมมมานาน จึงได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้มีเงินมาปล่อยกู้แบบไม่มีดอกเบี้ย โดยในเบื้องต้นหนี้ครัวเรือนจะมีจำนวนเป็นล้านล้านบาท นี่คือปัญหาจากการที่ไม่ทำโครงสร้างให้เข้มแข็ง ไม่สร้างห่วงโซ่ของคุณค่าที่ต่อเนื่องกัน ที่ผ่านมาอนุมัติเงินเป็นโครงการให้จบๆไปจึงเป็นแบบนี้
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ดูรายการทีวีที่นำเสนอปัญหาเกษตรกรเอาที่ดินไปฝากจำนองกับนายทุน ถูกเก็บดอกเบี้ยสูง ในที่สุดที่ดินตกเป็นของนายทุน และมีปัญหาแหล่งเงินที่เกษตรกรจะนำไปซื้อคืนที่ดินมา ขาดที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต โดยทางกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบพบว่า ในส่วนของเกษตรกรเป็นหนี้นอกระบบ 149,000 ราย จำนวนหนี้รวม 21,000 ล้านบาท และเป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงิน 140,000 ราย รวมหนี้ 360,000 ล้านบาท
ขณะที่ในปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเกษตรกรหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงยุติธรรม มีศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้ รับความเป็นธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรหลายกองทุน กระทรวงการคลัง มีคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน โดยขณะนี้ในส่วนของเกษตรกร
ที่เป็นหนี้นอกระบบมีเรื่องอยู่ระหว่างฟ้องร้อง 90,000 ราย มูลหนี้ 13,000 ล้านบาท นายกฯ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดประสานหารือช่วยเหลือเกษตรกรโดยด่วน เช่น กระทรวงยุติธรรมเข้าไปดูแลเกษตรกรในส่วนที่กำลังถูกฟ้องร้องเพื่อไม่ให้ที่ดินตกเป็นของนายทุนที่เป็นเจ้าหนี้ รวมทั้งมีแนวคิดในการหาแนวทางซื้อหนี้มาให้เกษตรกรผ่อนต่อกับทางภาครัฐได้หรือไม่ ต้องไปดูมาตรการต่างๆที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือ พิจารณาถึงข้อติดขัด ข้อดีข้อเสียต่างๆ โดยให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ประสานงานภาพรวม แล้วรายงานให้นายกฯรับทราบโดยด่วน
ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2558 โดย กำหนดให้รัฐมนตรีเร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในงบลงทุนภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ รวมทั้งงบกลางด้วย
“คราวนี้นายกรัฐมนตรีเอาจริง หากทำสัญญาไม่ได้ตามกำหนดให้ระงับโครงการและยึดคืนงบประมาณมาเลย เพื่อนำงบประมาณไปช่วยเหลือเกษตรกร ภัยแล้ง และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่หากโครงการใดมีความจำเป็นอย่างแท้จริง ให้ทำเรื่องเสนอของบประมาณมาใหม่”
สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.2558 เบิกจ่ายแล้ว 48% และทำสัญญาไปแล้วรอเบิกจ่ายอีก 15% รวมเป็นงบลงทุนที่ดำเนินการไปแล้ว 63% มีโครงการที่รอลงนามในสัญญาประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณ ในภาพรวมต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 1.2% โดยยังมีงบประมาณที่รอเบิกจ่าย 45% ซึ่งเหลือเวลาอีก 3 เดือนที่ต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จ จึงต้องเร่งหามาตรการมาเร่งการเบิกจ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความเห็นในที่ประชุม ครม.ถึงตัวเลขการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการเบิกจ่ายได้แค่ 50% โดยกล่าวว่า “นี่มันงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนแรก หรือ 3 เดือนท้ายกันแน่” โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติงบตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนแรกวงเงิน 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบกลาง วงเงิน 7,800 ล้านบาท และเงินกู้ไทยเข้มแข็ง วงเงิน 15,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจชี้แจงเบื้องต้นคร่าวๆว่า งบกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในขั้นตอนของการลงนามในสัญญา และจะขอชี้แจงกับสาธารณชนเรื่องนี้เอง ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆที่หน่วยงานต่างๆออกมาแถลงว่าตัวเลขติดลบ หรือมีการเปลี่ยนแปลงจากการปรับฐาน เช่น ตัวเลขหนี้ครัวเรือน เงินเฟ้อ จึงมอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรไปจัดระบบการอธิบายตัวเลข เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจตามความเป็นจริง ชี้แจงให้สังคมทราบว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลดำเนินงานอะไรไปแล้วบ้าง
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 8 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.