ยอมแพ้ ‘ภัยแล้ง’ โจรซํ้าเติมฉกปั๊ม ลุ้นฝนจากไต้ฝุ่น
สศก.เผยภัยแล้งข้าวนาปีลดเกือบ 3 ล้านตัน ก.เกษตรฯเล็งพักหนี้เกษตรกรสู้ภัยแล้ง กรมชลฯแนะรัฐตีปี๊บผลงานบริหารจัดการน้ำ “รอยล” จับตาไต้ฝุ่นหลินฟ้า-จันหอม เพิ่มฝนภาคอีสาน 5-7 ก.ค. เขื่อนภูมิพลวิกฤติเหลือน้ำ 241 ล้าน ลบ.ม. ปล่อยน้ำได้อีก 30 วัน สุโขทัยแล้งสุดในรอบ 20 ปี ไร่มะเขือ-ไร่อ้อยเสียหายหนัก ขณะที่แม่น้ำปิงลดลงต่อเนื่อง ชาวนครสวรรค์จัดคิวสูบน้ำป้องกันเปิดศึกแย่งน้ำ ชาวนาชัยนาทน้ำตาตกหนี้ท่วมเล็งขายนาล้างหนี้ ชาวนาอ่างทองซวยซ้ำ โจรฉกอุปกรณ์สูบน้ำบาดาล อบต.บ้านผึ้งปัดพ่อเฒ่าฆ่าตัวตายหนีภัยแล้ง ขณะที่ตลิ่งแม่น้ำป่าสักทรุดบ้านเมืองอยุธยาพัง 2 หลัง
สถานการณ์ภัยแล้งที่แผ่ขยายสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง พื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะนาข้าวใกล้แห้งตายเพราะขาดน้ำ ยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลายแม้จะมีการระดมทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อน และพื้นที่การเกษตรแต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งคาดว่าปีนี้มีผลผลิตข้าวนาปีลดลงเหลือ 24.14 ล้านตัน จากปริมาณผลผลิตปกติเฉลี่ยปีละ 27 ล้านตัน ลดลงประมาณ 2.86 ล้านตัน หรือ 11% จากปีปกติ อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเลื่อนการปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด มาเป็นปลายเดือน ก.ค. จะไม่ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวมากนัก เพราะพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรใช้ปลูกนั้นเป็นพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อแสง เช่น พันธุ์ กข พันธุ์ปทุมธานี พันธุ์ชัยนาท เป็นต้น สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีเลื่อนการปลูกออกไปได้ และมีความต้องการน้ำที่น้อยลง อีกทั้งเป็นการกระจายช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นระยะๆ ถือว่าเป็นการส่งผลดีต่อราคาที่เกษตรกรขายได้อีกด้วย
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดของนายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ สนช.ที่ถามนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบภาวะภัยแล้ง พร้อมเสนอให้ปรับปรุงบัตรสินเชื่อเกษตรกร จากที่ให้เกษตรกรรูดซื้อเฉพาะปัจจัยการผลิตในวงเงิน 5 หมื่นบาท ให้ สามารถรูดเป็นเงินสดได้ นายสมหมาย ภาษี รมว. คลัง ชี้แจงว่า การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งในปีนี้ ได้ให้ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน เตรียมโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไว้แล้ว พร้อมทั้งมีมาตรการเร่งให้หน่วยงานเร่งการใช้จ่ายเงินตามโครง การงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ให้ลงถึงพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ ส่วนกรณีบัตรสินเชื่อเกษตรกรที่เสนอให้เบิกเป็นเงินสดมาใช้ได้นั้นมีความเป็นไปได้ แต่ต้องทำแค่ชั่วคราว หากขัดสนจริงโดยเฉพาะช่วงฤดูกาลหน้าแล้งนี้ อาจให้เบิกเป็นเงินสด 2 หมื่นบาท จากวงเงิน 5 หมื่นบาท ขณะที่นายอำนวย ปะติเส รมช. เกษตรฯ ชี้แจงว่า รัฐบาลเตรียมความพร้อมแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยจะแก้ปัญหาเรียงตามลำดับความเดือดร้อน ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรอยู่
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558-2569 ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานว่า พล.อ.ฉัตรชัย ให้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการน้ำทั้งหมดว่า ควรเผยแพร่ข้อมูลและทำความเข้าใจแก่ประชาชนถึงแนวทางจัดการน้ำที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมีการดำเนินงานไปแล้วจำนวนมากแต่ขาดการประชาสัมพันธ์ อาจจัดเป็นงานเสวนาและเปิดให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง
นายเลิศวิโรจน์กล่าวต่อว่า แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่เริ่มดำเนินการในปี 2558 เน้นโครงการที่แก้ปัญหาเร่งด่วนของประชาชนเป็นรายพื้นที่ ใช้งบประมาณปกติและใช้งบจากเงินกู้ควบคู่กัน ในส่วนของกรมชลฯ งานที่ดำเนินการด้วยงบปกติได้เดินหน้าดำเนินการมาแล้ว เช่น โครงการขุดลอกคูคลอง 656 แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จ 644 แห่ง ในพื้นที่ 65 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนแก้มลิงจะต้องมีการจัดทำทั้งสิ้น 257 แห่ง ใน 50 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ แบ่งเป็นแก้มลิงที่ใช้งบปกติและงบกลางดำเนินการคืบหน้าไปกว่า 90% หรือ 38 แห่ง ที่เหลืออีก 219 แห่ง กรมชลฯรอรับเงินกู้จากรัฐบาล หากได้รับเงินเรียบร้อยสามารถเดินหน้าดำเนินการให้แล้วเสร็จช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำวันนี้ ได้รายงานให้ พล.อ.ฉัตรชัยรับทราบว่ากรมชลฯยังติดตามสถานการณ์น้ำไหลลงเขื่อนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลัก ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ว่าจะมีเหตุการณ์น้ำผิด สังเกต นอกเหนือจากที่คาดการณ์หรือไม่ เพื่อรายงานข้อมูลให้รัฐบาลสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้ทันท่วงที ขณะนี้ยังคาดการณ์น้ำตามเดิม ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนคาดการณ์ในระยะสั้นกรมอุตุนิยมวิทยารายงานต่อที่ประชุมว่า จะมีฝนตกในประเทศระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.นี้ อาจมีปริมาณไม่มาก แต่จะเริ่มมีฝนมากขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ค.นี้ ก่อนที่จะตกหนาแน่นระหว่างเดือน ส.ค. ก.ย. และจะทยอยเบาบางและหมดฝนในเดือน ต.ค.เป็นต้นไป
นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศน้ำเพื่อการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แบบจำลองสภาพอากาศพบพายุไต้ฝุ่น 2 ลูก คือ หลินฟ้า ที่กำลังเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศฟิลิปปินส์ และพายุไต้ฝุ่นจันหอมที่อยู่ห่างออกไปทางภาคตะวันตก และกำลังจะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะกลายเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น หลังจากนั้นแม้ว่าพายุทั้ง 2 ลูก จะไม่เข้าประเทศไทยแต่จะมีผลโดยตรงคือมีหย่อมความกดอากาศต่ำ จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 5-6 ก.ค. จะมีฝนตกหนัก ในพื้น จ.อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุตรดิตถ์ สกลนคร เลย และในวันที่ 7 ก.ค.จะลงมาทางอีสานตอนใต้ คือ นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ กรณีนี้จะทำให้น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผอ.เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก เปิดเผยว่า ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามประกาศของกรมอุตุฯ แต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อยมากกว่าค่าปกติ ร้อยละ 55 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่ 1 พ.ค.-2 ก.ค. มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลไม่ถึง 20 ล้าน ลบ.ม. น้อยที่สุดในรอบ 51 ปี ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลเหลือเพียง 241 ล้าน ลบ.ม. ระบายเพื่ออุปโภค บริโภคและรักษาระบบนิเวศวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำที่ระบายได้อีกเพียง 30 วันเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการเรือ-แพ รับนักท่องเที่ยวไปชมทัศนียภาพเหนือเขื่อนภูมิพลนำเรือ-แพ มาผูกไว้ริมฝั่ง เพราะระดับน้ำแห้งเกินกว่าที่จะชักลากไปเหนือเขื่อนได้
ขณะที่นายชูชาติ รีเรี่ยง อายุ 53 ปี ชาวไร่มะเขือเทศ หมู่ 8 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลกระทบต่อชาวไร่มะเขือเทศ เนื่องจากขาดแคลนน้ำทำให้ต้นมะเขือเทศแห้งเหี่ยว ชาวไร่ส่วนใหญ่ต้องอาศัยนำจากคลองแม่น้ำยมสายเก่า แต่ปัจจุบันระดับน้ำแห้งจนเหลือแต่พื้นดินทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำมารดไร่มะเขือเทศ ขณะที่นายสวัส ฉบับแบบ อายุ 51 ปี ชาวไร่อ้อย หมู่ 8 ต.ในเมือง เปิดเผยว่า ทำไร่อ้อย 100 ไร่ ประสบปัญหาภัยแล้งต้นอ้อยขาดน้ำลำต้นเริ่มเหี่ยวเฉาเสียหายไปจำนวนมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ปัญหาโดยด่วน
ที่ จ.นครสวรรค์ ชาวนาในพื้นที่ ต.ท่างิ้ว และ ต. บ้านแดน อ.บรรพตพิสัย ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ต้นข้าวที่ปลูกขาดแคลนน้ำและกำลังยืนต้นตาย ชาวนาในพื้นที่ต้องจัดคิวสูบน้ำเพื่อป้องกันปัญหาแย่งน้ำ นายสมคิด อภิเดช ชาวนา หมู่ 4 ต.ท่างิ้ว เปิดเผยว่า นาข้าวในพื้นที่เริ่มเหี่ยวเฉามีบางส่วนยืนต้นตาย ทำให้ชาวนาแต่ละพื้นที่ตั้งกลุ่มสูบน้ำจากแม่น้ำปิงใส่คลองสาธารณะเพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่นาข้าว มีการตั้งกติกาโดยจัดคิวสูบน้ำเพื่อป้องกันปัญหาการแย่งสูบน้ำ ขณะที่แม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายหลักในพื้นที่มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายเจียร โพธิ์โต ชาวนาพื้นที่ หมู่ 2 ต.บ้านเชี่ยน อ.หันคา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า หลังจากปลูกข้าวไปได้ระยะหนึ่งน้ำในคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง เริ่มแห้งขอด ส่งผลให้ต้นข้าวที่กำลังตั้งท้องได้รับน้ำไม่เพียงพอเริ่มยืนต้นตาย ก่อนหน้านี้ตนมีหนี้สะสมจากการทำนางวดที่แล้วหลายแสนบาท หากงวดนี้ต้นข้าวยืนต้นตายทำให้ขาดทุนอีกรอบ คงต้องขายนาใช้หนี้อย่างแน่นอน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาช่วยเหลือชาวนาตามสมควร เพื่อจะนำเงินไปใช้หนี้
นายวิเชียร เฉลิมศรี อายุ 33 ปี ชาวนาพื้นที่ หมู่ 3 ต.คลองวัว อ.เมืองอ่างทอง เปิดเผยว่า ตนเคยทำนา 28 ไร่ หลังเกิดภัยแล้ง กรมชลประทานชะลอการจ่ายน้ำ ลดการทำนาเหลือ 8 ไร่ ลงทุนขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ในการสูบน้ำราคา 18,000 บาท เพื่อนำน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าว แต่เมื่อไม่นานมานี้ถูกคนร้ายขโมยอุปกรณ์ปั๊มน้ำบ่อบาดาลไป ทำให้เสียเงินซื้อมาติดตั้งใหม่ราคา 5,000 บาท ต่อมาหาวิธีป้องกันโดยนั่งเฝ้าขณะสูบน้ำ และถอดหัวปั๊มออกเมื่อใช้งานเสร็จ อยากวิงวอนมิจฉาชีพอย่าทำร้ายชาวนา ทุกวันนี้ชาวนาลำบากเสี่ยงต่อการขาดทุนอยู่แล้ว
ด.ต.พิทักษ์ ต่อยอด นายก อบต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม กล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว นายจันทา นรินทร์ อายุ 71 ปี ใช้ปืนยิงตัวตายภายในกระท่อมนาใกล้หมู่บ้าน หมู่ 2 ต.บ้านผึ้ง เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเครียดปัญหาภัยแล้งว่า จากการตรวจสอบจากญาติผู้ตายพบว่า ผู้ตายไม่ได้เครียดจากภัยแล้งและไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ส่วนสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้า เนื่องจากผู้ตายคิดถึงภรรยาที่เสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีก่อนทำให้คิดสั้น ขณะที่นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผวจ.นครพนม ทำหนังสือชี้แจงระบุว่า นายจันทาไม่ได้ยิงตัวตายเพราะเครียดภัยแล้ง ทั้งนี้ จ.นครพนม ร่วมกับส่วนราชการ จัดทำโครงการต่างๆ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ โดยไม่มีปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำอุปโภค บริโภค ที่ผ่านมามีการตรวจสอบช่วยเหลือราษฎรอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายชิตชนก สมประเสริฐ ผอ.ชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำเหลือ 56 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเหลือ 30 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 54 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 103 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 51 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนผู้ใช้น้ำช่วยกันประหยัดน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำทุกเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์ที่คาดการณ์ไว้
นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ รอง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะตรวจสอบเหตุตลิ่งทรุดตัวพังลงแม่น้ำป่าสักระยะทางยาวกว่า 50 เมตร บริเวณหน้าเขื่อนพระรามหก หมู่ 6 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ ส่งผลให้บ้านเลขที่ 14/2 ของนางนัยนา นพคุณ อายุ 42 ปี และบ้านเลขที่ 45/5 ของนายอุเทน แก่นสากล อายุ 69 ปี พังเสียหาย นายสืบศักดิ์เปิดเผยว่า ตลิ่งริมแม่น้ำป่าสักทรุดตัวอย่างกะทันหัน ส่วนสาเหตุมาจากน้ำในแม่น้ำป่าสักลดต่ำ ทำให้บ้านประชาชนพังเสียหาย 2 หลัง แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ ได้ประสานสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาอยุธยา สำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว
นางพร แคล้วคำพุด อายุ 60 ปี ชาวบ้าน หมู่ 5 ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนจากภัยแล้งไม่มีน้ำประปาใช้เพราะน้ำในบ่อผลิตประปาของหมู่บ้านแห้ง ส่วนน้ำในลำห้วยทับใต้ที่มีอยู่เริ่มเน่าเสียทำให้ไม่มีน้ำใช้มากว่า 1 เดือน ชาวบ้านต้องทนใช้น้ำในลำห้วยที่เน่าเหม็น ส่วนพืชผักที่ปลูกไว้เริ่มแห้งตาย เคยแจ้งไปยังหน่วยงานภาครัฐ แต่ไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 4 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.