เผยที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) พิจารณา 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนการพัฒนาแร่เศรษฐกิจ และแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2559-2564 พร้อมบูรณาการขับเคลื่อนทุกด้านสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
วันนี้(3 ก.ค. 2558)เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) โดยที่ประชุม กอช. มีการพิจารณา 4 เรื่องสำคัญด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) นำเสนอดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม
สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อให้การวางและจัดทำผังเมืองสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ ทำให้โรงงานที่ประกอบกิจการอยู่เดิมจำนวนมากที่มีความจำเป็นเพื่อการส่งออกและบริการชุมชน สามารถตั้งและขยายโรงงานได้ รองรับนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
มติที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองตั้งคณะทำงานหารือแนวทางที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอและร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ กอช. ภายใน 1 เดือนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี
2. การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สาระสำคัญของเรื่อง สืบเนื่องจากการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรม ส่งผลให้ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและเกิดปัญหาสังคมตามมา ซึ่งทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณและยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การมีแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อุตสาหกรรม 5 จังหวัดนำร่อง เพื่อผลักดันสู่การปฏิบัติโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นจุดเริ่มของการแก้ปัญหาดังกล่าว ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมให้มีความสมดุลกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
มติที่ประชุมคณะกรรมการ เห็นชอบยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามแผนโดยให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทยหารือกับสำนักงบประมาณในการจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ โดยนำร่องเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี และให้นำเสนอกลไกการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ โดยเฉพาะรูปแบบคณะกรรมการขับเคลื่อนและแสดงให้เห็นภาพความสำเร็จของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในอนาคตในการประชุมครั้งต่อไป
3. แผนการพัฒนาแร่เศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ทองคำ โพแทช ควอตซ์ เหล็ก และถ่านหิน
สาระสำคัญของเรื่อง สืบเนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาทรัพยากรแร่ผ่านแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงรับ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทยจึงยังไม่มีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจน
การจัดทำแผนการพัฒนาแร่เศรษฐกิจที่สำคัญตามที่ อก. เสนอ จึงเป็นการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในระยะต่อไป เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
มติที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. เห็นชอบในหลักการและให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแกนในการจัดทำแผนแต่ละชนิดแร่อย่างละเอียด ในแผนพัฒนาแร่เศรษฐกิจที่สำคัญตามที่เสนอ โดยให้ศึกษา พิจารณาประโยชน์และผลกระทบอย่างรอบด้านจากการลงทุนแร่ทั้ง 5 ชนิด และวางแผนการพัฒนาให้ชัดเจนสอดคล้องกับความต้องการเศรษฐกิจ และชุมชน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก โพแทช และควอตซ์ จะพัฒนาอย่างไรให้เกิดต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับเศรษฐกิจและประชากรในพื้นที่ และนำเสนอ กอช. เห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี
4. แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2559-2564
สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเศรษฐกิจโลก และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยให้ความสำคัญและสร้างความสมดุลการเติบโตระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จากการศึกษาของ IMD พบว่าอันดับผลิตภาพของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ในปี 2558 อันดับผลิตภาพของไทยโดยรวมอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 61 ประเทศ โดยผลิตภาพอุตสาหกรรมอยู่ในอันดับที่ 51 นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในหมวดโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ก็พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีมากนัก คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอยู่ในลำดับที่ 44 และด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน
วิทยาศาสตร์อยู่ในลำดับที่ 47 ประกอบกับการมีปัจจัยความท้าทายใหม่ๆ ที่ประเทศไทยและภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญ อาทิ สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาเข้าสู่สังคมเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม และปัญหาการติดอยู่ในกับดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ทำให้มีความจำเป็นต้องมีแนวทางในการรองรับ โดย แผนแม่บทฯ มีเป้าประสงค์ 4 ประการคือ 1. ผลิตภาพรวม (TEP) มีอัตราการเติบโตร้อยละ 3 ต่อปี 2. ผลิตภาพแรงงานมีอัตราการเติบโตร้อยละ 5 ต่อปี 3. มีระดับความสำเร็จของกลุ่มเครือข่าย 4. อัตราความ พึงพอใจเฉลี่ยต่อบริการภาครัฐมากกว่าร้อยละ 80 โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน และเพื่อให้การดำเนินการตามแผนแม่บทฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงเห็นควรให้ กอช. ดูแลกำกับการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว
มติที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. ให้ความเห็นชอบหลักการของแผนแม่บทฯ โดยเห็นควรให้มีกลไกขับเคลื่อนโดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs เข้าร่วมการพัฒนาประสิทธิภาพและนวัตกรรม และให้เสนอ กอช. ในครั้งต่อไป
การบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ โดยคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) นับเป็นกลไกสำคัญต่อไปที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้การบูรณาการของทุกกระทรวงและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศมีการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในระยะยาว
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 3 ก.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.