แล้งหนักกระทบผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญทั่วประเทศเสียหายหนัก ข้าวลุ่มเจ้าพระยาคาดวูบกว่า 2 ล้านตัน ยางกรีดไม่ออกหายตามอีก 2 แสนตัน มันสำปะหลังเสียหายแล้วกว่า 20% ขณะผัก ผลไม้ทั้งข้าวโพดหวาน สับปะรดป้อนโรงงานแปรรูปวูบถ้วนหน้า เงาะ มังคุดส่งออกของมีน้อย สมาคมส่งออกข้าวลุ้นอินเดียแล้ง เป็นโอกาสรัฐระบายสต๊อกครั้งใหญ่ ดันราคาข้าวไทย-ข้าวโลกขยับ
จากภัยแล้งฝนตกช้าผิดปกติอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่ส่งผลกระทบต่อน้ำในเขื่อนใหญ่ของประเทศในภาพรวมมีปริมาณไม่เพียงพอป้อนภาคเกษตร และกำลังลุกลามเสี่ยงต่อน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และเพื่อรักษาระบบนิเวศเสี่ยงอาจไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดีนอกจากในพืชข้าวที่กระทบในเบื้องต้นแล้ว จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ"พบพืชเกษตรสำคัญอีกหลายรายการ อาทิ ยางพารา มันปะหลัง ผัก ผลไม้ และอื่นๆ ต่างได้รับผลกระทบผลผลิตลดลงถ้วนหน้า ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่อาจลดลงด้วย
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า จากพื้นเพาะปลูกข้าวลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเขตชลประทานที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีจำนวน 4.6 ล้านไร่ หากไม่สามารถปลูกข้าวได้อย่างสิ้นเชิงคาดจะส่งผลให้ปริมาณข้าวสารหายไปราว 2 ล้านตัน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของชาวนาที่หายไปที่รัฐต้องเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตามผลผลิตข้าวที่หายไปนี้จะยังไม่ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารในประเทศปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาข้าวส่งออก เนื่องจากรัฐบาลไทยยังมีข้าวเก่าในสต๊อกกว่า 16 ล้านตันที่ผู้นำเข้าไม่ต้องเร่งซื้อ
"ผลผลิตข้าวของไทยไม่น่ามีปัญหา เพราะแม้ฝนแล้งผลผลิตจะหายไป แต่พอมีฝนตกตามปกติคาดคร็อปการผลิตหน้าจะมีผลผลิตออกมามากเพราะชาวนาทุกภาคจะเร่งปลูกข้าว ดังนั้นช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่รัฐบาลต้องเร่งระบายข้าวในสต๊อก ซึ่งต้องจับตาว่าอินเดียจะประสบภัยแล้งหรือไม่ หากเขาเกิดภัยแล้งก็จะต้องลด หรืองดส่งออกเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร (จากปัจจุบันอินเดียมีสต๊อกข้าวสารอยู่ประมาณ 20 ล้านตัน) จะเป็นโอกาสของรัฐบาลไทยในการระบายข้าวในสต๊อก และโอกาสของผู้ส่งออกในการส่งออก จะทำให้ราคาข้าวทั้งในและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่วนเวียดนามคงไม่มีปัญหาเพราะเขายังมีน้ำในการทำนา"
นางสุรีย์ ยอดประจง นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบจากภัยแล้งและมีโรคแมลงระบาดคาดผลผลิตมันสำปะหลังที่ได้เริ่มปลูกในฤดูการผลิตใหม่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมาจะได้รับความเสียหายไปแล้วประมาณ 20% ของภาพรวม ขณะที่ในปีการผลิต 2558/59 ทางสมาคมได้คาดการณ์ผลผลิตหัวมันสดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2557/58 ที่ 10% หรือกรณีเลวร้ายจะมีผลผลิตใกล้เคียงกัน จากปีการผลิต 2557/58 คาดไทยจะมีผลผลิตหัวมันสดประมาณ 31 ล้านตัน ซึ่งคณะสำรวจของทางสมาคมจะลงพื้นที่สำรวจและจะทราบผลผลิตปี 2557/58 ที่ชัดเจนในต้นเดือนกันยายนนี้
"กรณีเลวร้ายสุดผลผลิตหัวมันปี 2558/59 ไม่น่าต่ำกว่าปี 2557/58 เพราะแม้ผลผลิตมันในภาคอื่นๆอาจได้รับความเสียหายบ้าง แต่พื้นที่ภาคตะวันตกปีนี้แถวกาญจนบุรี อุทัยธานีน้ำฝนอุดมสมบูรณ์ดีจะมีผลผลิตมาชดเชย ขณะที่ผลผลิตมันของกัมพูชาปีนี้ก็เพิ่มขึ้นมหาศาล เราสามารถนำเข้ามาแปรรูปส่งออกได้ การส่งออกมันปีนี้คงไม่กระทบมาก"
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่า จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้ความชื้นลดลง หลายพื้นที่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือกรีดน้ำยางไม่ออก หรือออกน้อย คาดจะส่งผลให้ในปีนี้ผลผลิตยางพาราของไทยจะลดลงเหลือราว 4 ล้านตัน จากปี 2557 มีผลผลิตประมาณ 4.2 ล้านตันทำให้มีผลผลิตเพื่อส่งออกลดลง แต่ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามผลผลิตที่มีน้อย
ขณะแหล่งข่าวจากวงการส่งออกผักผลไม้ กล่าวว่า จากภัยแล้งที่รุนแรงในขณะนี้มีผลให้ผลผลิตผักผลไม้ส่งออกสำคัญเกือบทุกรายการของไทยมีผลผลิตที่ลดลงไม่เพียงพอในการส่งออก และมีราคาสูงไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหวาน สับปะรด เงาะ มังคุด ทุเรียน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,065 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 26 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.