“..ปัญหาที่ดินและป่าไม้ประเทศไทยมี land man ratio สูงที่สุดในเอเชีย มีที่ดินกระจุกตัวสูงมาก คนที่ถือครองที่ดินมากที่สุด 10% ถือครองโฉนด 80% ของประเทศ”
22 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ้งภากรณ์ ครั้งที่ 3 หัวข้อ “สิ่งแวดล้อมไทยกับการกระจายอำนาจ” ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำนักข่าวอิศราถอดความและเรียบเรียงเนื้อหาที่น่าสนใจบางห้วงบางตอนมานำเสนอ ดังนี้
“ดร.มิ่งสรรพ์” ฟันธงว่า รัฐไทยไม่มีทักษะการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไร้ทิศทาง และไม่มีกติการวมว่าจะแก้ไขอย่างไร นอกจากนี้กลไกและเครื่องมือในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะรับประกันประสิทธิภาพความยุติธรรมและความยังยืน ซึ่งเป็นมาทุกรัฐบาลจนถึงรัฐบาลนี้และคิดว่าจะเป็นในรัฐบาลต่อๆไป
“การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของไทยจึงเป็นการจัดตั้งองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาทีละประเด็น โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันในภาพรวม เป็นระบบรวมศูนย์ เช่น คนดูแลเรื่องการจัดการน้ำมีมากว่า 40 องค์กร แต่ต่างคนต่างทำ”
“นโยบายทรัพยากรธรรมชาติที่มีความชัดเจนมากๆคือ นโยบายป่าไม้และที่ดิน มีการสถาปนากรมป่าไม้มา 100 กว่าปีแล้ว สาเหตุที่มีเพราะต้องการดึงอำนาจจากหัวเมืองฝ่ายเหนือเข้ามาสู่ศูนย์กลาง ดึงทรัพยากรเข้ามาสู่ส่วนกลาง”
“ฉะนั้น รวมศูนย์กันมาตั้งนานแล้ว แต่เป็นการรวมศูนย์เพื่อจัดการถ่ายโอนอำนาจระหว่างภูมิภาคกับกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็มีมรดกทางวัฒนธรรมเป็นระบบที่รวมศูนย์มาตั้งแต่นั้น”
“แต่น้ำไม่มี ใครๆก็เข้าถึงน้ำได้ เรียกว่าระบบการเข้าถึงโดยเสรี จวบจนวันนี้ไม่มีนโยบายที่แท้จริงเรื่องน้ำนอกจากนโยบายก่อสร้าง แต่ถ้าไปถามรัฐบาลว่าหากใครขาดแคลนน้ำแล้วควรได้น้ำก่อน ก็ไม่รู้ ไม่มีกติกาใดๆทั้งสิ้น ใครทำอะไรก็ได้”
“จะใช้เงินตั้ง 2 แสนกว่าล้านบาท แต่ไม่เคยพูดกันเลยว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องพวกนี้ ความสนใจเรื่องน้ำก็หมดไปด้วย วันนี้กลายเป็นเรื่องน้ำแล้ง ฉะนั้นนโยบายทรัพยากรธรรมชาติของเรา จึงเป็นเรื่องเฉพาะกิจ” ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว
ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวว่า ปัญหาที่ดินและป่าไม้ประเทศไทยมี land man ratio สูงที่สุดในเอเชีย มีที่ดินกระจุกตัวสูงมาก คนที่ถือครองที่ดินมากที่สุด 10% ถือครองโฉนด 80% ของประเทศ
“คนเดียวมี 6 แสนไร่ เป็นความผิดของเขาไหม ไม่ผิด เพราะคุณปล่อยให้เขาทำ ฉะนั้นเราต้องแก้ที่ระบบ ไม่ใช่แก้ที่คน ถ้าเราไม่แก้ที่ระบบก็แก้ไม่ได้ นี่คือปัญหาที่เกิดจากเรื่องที่ดิน”
เจ้าหน้าที่ที่ดินเขาก็จะปวดหัวกับคนรวยเพราะว่า มันมี “ส.ค.บวม” หมายความว่า เมื่อก่อนไม่มีโฉนด ก็ใช้ส.ค.1 ส.ค.1 มี 30 ไร่ ไปเติมเป็น 300 ไร่ ก็บวมออกมา จึงเรียกส.ค.บวม
แล้วก็มี “ส.ค.บิน” คือ ที่ดินอยู่นครพนม แต่สามารถย้ายมาอยู่นครราชสีมาได้ คือ บินย้ายที่กันได้ รวมทั้งไปออกเอกสารสิทธิ์ในที่อนุรักษ์ นี่คือปัญหาที่ต้องฟาดฟันกับคนรวยที่ได้เอกสารสิทธิ์มาโดยมิชอบ
“แต่ปัญหาของคนจนก็ไม่มีทำกิน ต้องไปทำกินในเขตป่า ชาวบ้านบอกว่าเขาอยู่มาก่อนป่า กลายเป็นว่าป่ามาทับคน ส่วนกรมป่าไม้ก็บอกว่า คนทับป่า ป่าอยู่มาก่อน แต่คำถามคือ เมื่อป่าเสื่อมโทรมแล้ว จะให้ประชาชนไหม”
“ดร. มิ่งสรรพ์” ยังระบุว่า ปัจจุบันการจัดการที่ดินโดยชุมชนและท้องถิ่น ยังไม่เป็นวิธีการที่ถูกยอมรับเท่าที่ควร เช่น เรื่องป่าชุมชนก็หายไปในสภา กลไกการจัดการปัจจุบันคือ ที่สาธารณะและที่ป่า มีรัฐเป็นผู้ดูแล
“วันนี้มีเสียงเรียกร้องจากชาวบ้านว่าต้องเอาที่ดินสาธารณะมาให้เขาจัดการ ที่ผ่านมารัฐบาลจัดการมา 40 ล้านไร่ แล้วไม่สำเร็จ จัดการไปจัดการมา สปก.เปลี่ยนเป็นที่ของผู้ทรงอิทธิพลไปหมด หรือสปก.ไม่เปลี่ยน เป็นชื่อคนๆนั้นอยู่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคนที่ใช้ชื่อตัวจริงเป็นผู้มีอิทธิพล”
“ขณะนี้มีการใช้ที่ดินในฐานะทรัพย์สิน ใช้ที่ดินแทนเงินมากกว่าการออมด้วยเงินในธนาคาร จึงมีการเก็งกำไรที่ดิน ให้ผลตอบแทนราคาสูง แต่ไม่ได้มีการใช้ที่ดิน ก็มีการคำนวณว่ามีการสูญเสียราว 1 แสนล้านบาท ในขณะที่เรามีที่ไร้ที่ทำกิน 8 แสนครัวเรือน”
“ดร.มิ่งสรรพ์” ชี้ว่า หากปล่อยให้ตลาดที่ดินเป็นไปโดยเสรีนิยมสุดโต่งอย่างทุกวันนี้ จะแก้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ แต่หากให้ชุมชนที่เข้มแข็งจัดการกันเองก็จะได้ความยุติธรรมคืนมา ดังนั้นต้องกระจายอำนาจบางส่วนในเรื่องการจัดการที่ดินในชุมชน
ทั้งนี้ การปล่อยให้ชาวบ้านจัดการที่ดินกันเองเป็นเรื่องดี แต่มีผู้ศึกษาว่าต้องมีขอบเขตของผู้ใช้และขอบเขตทรัพยากรที่ชัดเจน มีกติกาที่สอดคล้องกันระหว่างการใช้กับการ บำรุงรักษา มีระบบการตัดสินใจร่วมกัน มีกลไกจัดการความขัดแย้งฯลฯ
“ดร.มิ่งสรรพ์” กล่าวถึงนโยบายน้ำประเทศไทยว่า จากการศึกษาสรุปได้ว่ายังไม่มีความเป็นธรรม ขณะที่การจัดสรรน้ำของรัฐขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาระหว่างหน่วยราชการ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชน
“การจัดสรรน้ำของรัฐไม่สามารถรับประกันความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน ล่าสุดมีการศึกษาว่า การจัดสรรน้ำภายในลุ่มน้ำโดยประชาชนจัดสรรกันเองนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า ประชาชนเองก็ยินดีแบ่งน้ำให้ผู้อื่นใช้เพื่ออุปโภค บริโภค”
ส่วนการจัดการเรื่องน้ำท่วมพบว่า ความคืบหน้าวันนี้ยังไปไม่ถึงไหนและไร้ทิศทาง ไม่มีการคิดเชิงวางแผนร่วม มีแต่การแบ่งเค้กสร้างเขื่อน สร้างฟลัดเวย์ ฯลฯ ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องมาคุยกันทั้งแผนน้ำหรือแผนคมนาคม
“การจัดการเรื่องน้ำท่วมไม่ได้อยู่ที่การบรรเทา เพราะเรื่องการบรรเทามีกฎหมายป้องกันอุทกภัยให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพอสมควร แต่ปัญหาอยู่ที่การป้องกันน้ำท่วม ซึ่งต้องมีการจัดการร่วมกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน และเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มาคุยด้วยกันในลุ่มน้ำเดียวกัน”
“ดร.มิ่งสรรพ์” เสนอทิ้งท้ายว่า การกระจายอำนาจในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ต้องระบุบทบาทอปท.อย่างชัดเจนในแผนทรัพยากรของชาติ สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การขอดูโฉนดที่ดิน
รวมทั้งให้มีอำนาจตรวจสอบและเพิกถอนสิทธิ์ได้หากได้มาโดยมิชอบ หรือสามารถรื้อถอนสิ่งก่อสร้างสาธารณะที่เป็นภัยต่อสาธารณะและสิ่งแวดล้อมได้
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 23 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.