ASTVผู้จัดการ - ลูกหนี้ทั้งในและนอกระบบเตรียมเฮ กระทรวงยุติธรรมเตรียมชงแก้เพิ่มโทษสถาบันการเงิน-นายทุนเรียกเก็บดอกเบี้ยโหดเกินอัตรา พร้อมเพิ่มคำจำกัดความ “ดอกเบี้ย” ป้องกันเล่นตุกติกแยกเก็บค่าธรรมเนียม-บริการ หลัง กม.เดิมใช้มานานกว่า 83 ปีไม่สอดคล้องทันเล่ห์เจ้าหนี้ หวังสกัดนิติกรรมอำพรางของธุรกิจสินเชื่อ บัตรเครดิต ไฟแนนซ์
วานนี้ (16 มิ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ย พ.ศ. ...
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2475 มีการบังคับใช้มาเป็นเวลานานกว่า 83 ปีแล้ว เนื้อหาของกฎหมายไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน และระบบเศรษฐกิจที่มุ่งแข่งขันสร้างผลกำไรอย่างไม่สมเหตุสมผล เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ที่มีฐานะที่สูงกว่าเอารัดเอาเปรียบโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายดำเนินธุรกิจในรูปแบบของนายทุน หวังผลประโยชน์ตอบแทนจากดอกเบี้ยในอัตราที่สูง การกระทำในลักษณะนี้แอบแฝงการกู้ยืมเงินโดยอาศัยนิติกรรมหรือแอบแฝงในธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการหลีกเลี่ยงกฎหมายด้วยการทำสัญญาประเภทอื่นที่ไม่ใช่การกู้ยืมเงิน เพื่อเรียกดอกเบี้ยโดยใช้วิธีซึ่งมีลักษณะของการบิดเบือนข้อกำหนดในสัญญาและเจตนาของคู่สัญญา
ส่วนลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ด้อยโอกาสในการต่อรองทั้งทางด้านเศรษกิจและสังคม นอกจากนี้ การขาดความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมายเป็นสาเหตุให้ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ และในที่สุดจะต้องหาเงินมาชำระหนี้ด้วยวิธีการต่างๆ หรือถูกบังคับยึดทรัพย์สิน ส่งผลถึงปัญหาการก่ออาชญากรรมในสังคม ทั้งนี้ ปัจจุบันกฎหมายไม่สามารถทำให้นายทุนเกรงกลัวต่อโทษทางอาญาได้ ดังนั้น เพื่อให้การกู้ยิมเงินเป็นไปในทางที่ควรและเกิดความสงบสุขในสังคมจึงเห็นควรยกเลิก พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 และจำเป็นต้องแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายในพระราชบัญญัตินี้ เพื่อควบคุมเจ้าหนี้นอกระบบที่มีพฤติกรรมรุนแรง และป้องกันไม่ให้ผู้กู้ฟุ่มเฟือย
นางสุวณากล่าวอีกว่า ตามที่กฎหมายได้กำหนดห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งหากผู้ที่ทำผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ที่ประชุมได้เสนอบทลงโทษในร่าง พ.ร.บ.นี้คือหากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนกลุ่มกระบวนการที่เป็นลักษณะนายทุนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้หากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอว่าคำว่าดอกเบี้ยให้หมายรวมถึงค่าธรรมเนียม และค่าบริการที่เรียกเก็บด้วย เพราะที่ผ่านมาธุรกิจประเภทบัตรเครดิต ไฟแนนซ์ หรือหนี้ในระบบ มักมีการใช้ถ้อยคำอื่นทำให้เข้าใจว่าไม่ใช่ดอกเบี้ย แต่สุดท้ายแล้วคือดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องชำระ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย คาดว่าสัปดาห์หน้า จะประชุมรับฟังความเห็นอีกครั้ง หากได้ข้อยุติ ก็จะเสนอมายังกระทรวง เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณานำเรื่องเข้าที่ประชุม ค.ร.ม. ต่อไป
ที่มา : ASTV ผู้จัดการ วันที่ 16 มิ.ย. 2558