ชาวนาอ่างทองสุดชอกช้ำ จ่ายค่าเช่าที่แล้ว แต่ไร้น้ำทำนา ซ้ำร้ายขาดรายได้หนี้สินเพิ่มพูน รับจ้างทำงานหารายได้จุนเจือครอบครัว ด้านประธานสภาเกษตร เผย ชาวนาเช่าที่ทำกินเกินครึ่ง
วันที่ 18 มิ.ย. 58 นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ในจังหวัดอ่างทองนั้น มีพื้นที่ทำนา ประมาณ 370,000 ไร่ และมีเกษตรกรเช่าที่ทำนาปลูกข้าว ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของที่ทำนาทั้งหมด ซึ่งบางส่วนต้องจ่ายค่าเช่าทำนาทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือทำนาสักครั้ง หลังทางรัฐบาลได้ประกาศให้หยุดทำนา ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เริ่มทำนาได้ เกษตรกรต่างดีใจหวังจะได้ทำนา โดยเกษตรกรบางส่วนได้ลงมือปักดำทำนาไปแล้ว
เมื่อทราบข่าว การลดการจ่ายน้ำทำนา พื้นที่บางส่วนทางชลประทานจ่ายน้ำไปไม่ถึง ก็เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ขณะที่ลงมือทำนาไปแล้ว ก็เริ่มมีความกังวลว่า ผลผลิตจะเสียหาย เนื่องจากมีการลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนชาวนาที่ยังไม่ได้ทำนาก็ได้แต่เฝ้ารอว่า จะได้ทำนาเมื่อใด
พื้นที่ทำนาใน จ.อ่างทอง
และช่วงที่รอการทำนาอยู่นั้น ภาระหนี้สินที่เป็นอยู่กับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ต้องชำระ หากเกษตรกรไม่ได้ทำนาจะนำเงินที่ไหนมาชำระหนี้ แม้แต่ค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวก็ยังไม่มี เนื่องจากชาวนาไม่มีเงินเดือน นอกจากการขายผลผลิต ก็ต้องหางานรับจ้าง หนักเอาเบาสู้จนกว่าจะได้ทำนาต่อไป
นายมนัส แสงหิรัญ อายุ 54 ปี ชาวนา บ้านหมู่ 3 ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ตนเองเช่าที่ทำนาจำนวน 7.2 ไร่ และจ่ายค่าเช่าราคาไร่ละ 700 บาทไปแล้ว เนื่องจากในต้นปีที่ผ่านมานั้น ทางชลประทานประกาศหยุดจ่ายน้ำทำนา และมาจ่ายน้ำให้ทำนาอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม
จากนั้นมีประกาศออกมาอีกครั้งว่า ให้ชะลอการทำนา เนื่องจากน้ำต้นทุนเหลือน้อย ให้ทำในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากพื้นที่นาเช่าของตนเองเป็นแอ่งกระทะราบลุ่ม เสี่ยงต่อการน้ำท่วมเสียหายในฤดูน้ำหลาก จึงทำให้ในปีนี้หมดโอกาสในการทำนา แต่ต้องเสียค่าเช่าที่ และต้องจ่ายดอกเบี้ยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมไปถึงค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวด้วย
นางวิเชียร วรโภชน์ อายุ 49 ปี ชาวนา บ้านหมู่ 3 ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เช่าที่ทำนาจำนวน 60 ไร่ หว่านข้าวทำนาไปเมื่อครั้งที่ผ่านมา เจาะบ่อบาดาลสูบน้ำทำนา แต่ต้องขาดทุนเป็นหนี้ เนื่องจากผลผลิตลดจำนวนลง และราคาข้าวก็ถูกลง ทำให้ในช่วงนี้ต้องค้างค่าเช่าที่ทำนา เนื่องจากไม่มีเงินไปจ่ายเจ้าของที่นา และเงินทุนที่ทำนาครั้งต่อไปก็ไม่มี
ตอนนี้เมื่อมาทราบว่าต้องชะลอการทำนาออกไปอีก ก็เครียดมาก แต่ไร้ซึ่งทางออกของปัญหา หากจะทำนาครั้งต่อไปก็ไม่มีข้าวปลูก ค่าเช่าก็ต้องหามาจ่ายเจ้าของที่นา ซ้ำร้ายหนี้สินกับดอกเบี้ยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ยังไม่มีจ่าย อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ต้องหารับจ้าง เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 18 มิ.ย. 2558