หลังจากปัญหาสิ่งแวดล้อมคุกคามหนัก สภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้รัฐบาลพยายามที่จะคืนพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติเพื่อกลับมาสู่การรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม แพร่เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการรุกป่าเพื่อปลูกสวนยางและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดในชุดที่ 2 ที่รัฐบาลมีแผนทวงคืนพื้นที่
นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวในที่ประชุม กรอ.แพร่ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดแพร่เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า คสช.มีมาตรการการทวงคืนพื้นที่ป่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมความสมดุลของธรรมชาติ จึงมีการจัดระเบียบป่า ในภาพรวมพบว่า ปัญหาใหญ่คือพืชเชิงเดี่ยว ข้าวโพดและยางพารา เฉพาะยางพาราพบว่ามีการบุกรุกปลูกมากถึง5 ล้านไร่ของภาคเหนือ ในพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ของราชพัสดุ และพื้นที่ สปก.ที่นายทุนเข้ากว้านซื้อจากเกษตกรนำไปปลูกสวนยางพารา ในการรุกป่าพบว่า เป็นของนายทุนประมาณ 1.5 ล้านไร่ ทั้งหมดจะใช้เวลาในการยึดคืนเป็นเวลา 2 ปี ในปีนี้ต้องยึดคืนให้ได้ 5 แสนไร่ ปีหน้า 9 แสนไร่ จังหวัดที่มีการกระทำผิดมากคือ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์จังหวัดละประมาณ 200,000 ไร่ จังหวัดแพร่มีการบุกรุกปลูกสวนยางพาราจำนวน 4,000 ไร่ ปีนี้ขอคืน 2,000 ไร่ ปีหน้าอีก 2,000 ไร่ เจ้าหน้าที่จะเข้าตัดต้นยาง ถ้าเป็นที่ สปก. จะยึดคืนมาจัดสรรให้กับประชาชนที่ยังไม่มีที่ทำกินใหม่ ถ้าเป็นที่ป่าก็จะส่งมอบให้กับผู้รับผิดชอบป่าเพื่อทำการฟื้นฟูต่อไป
ส่วนข้าวโพดในจังหวัดแพร่ที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องมีจำนวนมากเช่นกัน ส่งผลไปถึงราคาที่ถูกพ่อค้ากดราคาเสมอมา เวลาผลผลิตออกมีผู้รับซื้อไม่กี่ราย ทำให้ผู้ซื้อกำหนดราคารับซื้อได้ และยิ่งเกษตรกรปลูกมากๆ ขึ้น จะมีการบีบราคาลงมาทำให้เกษตรกรในภาคกลางที่ปลูกข้าวโพดได้ดี ในพื้นที่ชลประทาน 10 ล้านไร่พากันเข็ดหลาบกับมาตรการกดราคาของพ่อค้ารายใหญ่ เมื่อภาคกลางไม่ปลูกทำให้บริษัทพยายามส่งเสริมการปลูกกันทางภาคเหนือ ซึ่งข้าวโพดในภาคเหนือมีปัญหามากทั้งราคาที่เกษตรกรจะได้รับและสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐบาลมีมาตรการออกมาเพื่อเคร่งคลัดในการปลูกข้าวโพด มาตรการสำคัญคือการลดการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่าเขาบนที่สูงที่ครอบครองที่ดินโดยไม่ถูกต้องไม่มีเอกสารสิทธิ์ ผู้รับซื้อจะถูกตรวจสอบอย่างเคร่งคลัดตรวจสอบว่าเอาผลผลิตข้าวโพดมาจากแหล่งใด จะมีการจดทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดอย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็จะไม่รับขึ้นทะเบียน ถือเป็นมาตรการแก้ปัญหาการทำลายป่าในพื้นที่สูง หรือในโซนภาคเหนือตอนบน จังหวัดแพร่จึงส่งสัญญาณให้กับคณะกรรมการ กรอ.จังหวัดแพร่ ให้รับทราบว่า ไม้หนึ่งคือ ยางพารา ไม้สองคือ ข้าวโพด อาจส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระดับจังหวัดบ้างแต่ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งราคา และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้ นายศักดิ์ สมบุญโตกล่าว
จากมาตรการดังกล่าวเกษตรกรทั้งข้าวโพดและยางพาราอาจต้องประสบความเดือดร้อน ในฤดูการผลิตนี้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจที่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนที่รุกป่าปลูกสวนยางพารา และชาวบ้านที่ขายที่ดินแล้วรุกป่าต่อ อาจต้องถูกยึดคืนและจะส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอนถ้าไม่มีมาตรการรองรับที่เพียงพอ
ที่มา : มติชน วันที่ 1 มิ.ย. 2558