โดย...ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
เครือข่ายประชาชนเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ขอให้ชะลอการตัดโค่นสวนยางพาราแนวเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง เร่งทำข้อมูลผู้เดือดร้อนก่อนเปิดเจรจากับรัฐ
ผลสืบเนื่องมาจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าไม้อย่างต่อเนื่องจนปริมาณลดลงจำนวนมาก ด้วยการวางยุทธศาสตร์ภายใน 10 ปี ต้องทวงคืนพื้นที่ป่าไม้ให้ได้อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย
2 มิ.ย.2558 เวลา 16.00 น. ประชาชนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายองค์กรชุมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินจังหวัดตรัง สภาองค์กรชุมชนจังหวัดตรัง และเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้ เดินทางมาที่ศาลากลาง จังหวัดตรัง เพื่อยื่นหนังสือขอให้ชะลอการดำเนินการตัดโค่นรื้อถอนยางพาราในแนวเทือกเขาบรรทัดจังหวัดตรัง ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดยมีข้อเสนอให้
1. ชะลอการดำเนินโค่นต้นยางพาราในพื้นที่เทือกเขาบรรทัดจังหวัดตรังไว้ก่อน โดยเฉพาะแปลงของเกษตรกรรายย่อยที่มีการทำกิน ซึ่งไม่ใช่ตัวแทนของนายทุน
2. ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง 4 ฝ่าย คือ ท้องถิ่น ท้องที่ เกษตรกรที่ถือครองที่ดิน และสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงทุกพื้นที่ที่มีการจัดทำข้อมูลบนภาพถ่ายทางอากาศ 1: 4000 ร่วมกัน
3. ในพื้นที่ตำบลนำร่องจำนวน 32 ตำบล ซึ่งมีการจัดทำข้อมูลแล้วจำนวน 12,470 ไร่ ครอบคลุมสมาชิก 32,000 คน โดยมีการจัดทำข้อมูลการถือครองรายแปลงแล้วนั้น และมีการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่น ท้องที่ สภาองค์กรชุมชนตำบล ที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาองค์กรชุมชน 2551 และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) โดยมีการชะลอเพื่อปรึกษาหารือหาทางออกร่วมกันเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง
ทางด้านนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวกับตัวแทนประชาชนที่มายื่นหนังสือว่า จังหวัดตรังมีเป้าหมายที่จะดำเนินการรื้อถอน 141 แปลง ในพื้นที่ป่าที่มีการบุกรุกและได้ดำเนินคดีตามกฎหมายและคดีถึงที่สุดแล้ว ทั้งทางเทือกเขาบรรทัดและชายฝั่งทะเลอันดามัน ภายในกำหนดระยะเวลา 4 เดือนหลังจากนี้ โดยก่อนการรื้อถอนตัดฟันต้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบกับทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน ว่าที่ดินเป็นของคนจน เป็นของตัวแทนนายทุน หรือเป็นของนายทุน โดยไม่ให้กระทบที่ดินที่เป็นของคนยากจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล ประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด โดยมีประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจากจังหวัดตรัง, พัทลุง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล เจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ปลัดอำเภอนาโยง และตำรวจสันติบาล เข้าร่วมประมาณ 40 คน
วาระหนึ่งของการประชุม คือ การนำเสนอข้อมูลผู้เดือดของทั้ง 5 จังหวัด พบว่าการรวบรวมข้อมูลทำได้ไม่สมบูรณ์ ส่วนตำบลนำร่อง ได้แก่ ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง และตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง พบว่าข้อมูลยังไม่สมบูรณ์พอที่จะมีการเร่งเปิดเจรจากับภาครัฐ ส่วนตำบลนำร่องของจังหวัดสตูล คือ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง และจังหวัดสงขลา คือ ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ ยังทำการรวบรวมข้อมูลได้น้อย ซึ่งยังต้องมีการพัฒนาการการเก็บข้อมูลอีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับแผนการทำงานต่อไป คณะทำงานยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด ได้กำหนดให้มีการลงพื้นที่เพื่อพัฒนาข้อมูลของตำบลช่อง ในวันที่ 3 มิถุนายนนี้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลช่อง พร้อมกับประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูลด้วย โดยให้ทั้ง 5 จังหวัดนำเสนอข้อมูลภาพรวมของผู้เดือด และในวันที่ 7-8 มิถุนายน จะมีการลงพื้นที่พัฒนาข้อมูลตำบลลานข่อย เพื่อทำข้อมูลให้สมบูรณ์สำหรับการเจรจากับภาครัฐในเดือนมิถุนายน 2558
ที่มา : ประชาไท วันที่ 2 มิ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.