นายกฯ สั่งแก้กฎหมายเช่านาภายใน 3 เดือน เหตุกฎหมายเก่าบีบคั้นเจ้าของที่ดินมาก เกษตรกรต้องเช่านอกระบบ-ไร้สัญญา 1.08 ล้านครัวเรือน
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2558 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2524 หรือ กฎหมายเช่านา หรือให้ยกร่างขึ้นใหม่ ภายใน 3 เดือน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เช่าที่ดินและผู้ให้เช่าที่ดิน โดยสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลร่วมกัน
"กฎหมายเช่านาอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาการยกร่างแก้ไขมาก่อนแล้ว เพราะตัวกฎหมายมีเงื่อนไขบังคับเจ้าของที่ดินและคุ้มครองผู้เช่ามากเกินไป จนทำให้เจ้าของที่ดินไม่ยอมให้เช่า แต่เกษตรกรมีความจำเป็นต้องขอเช่า สุดท้ายจึงกลายเป็นการเช่าที่ดินโดยไม่ทำตามกฎหมาย จึงต้องแก้ไขให้กฎหมายให้สามารถปฏิบัติได้จริง ดึงทุกคนเข้าสู่ระบบ" นายชวลิตกล่าว
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในกฎหมายเช่านาฉบับปัจจุบันที่ทำให้เจ้าของที่ดินไม่ยอมให้เช่า 5 ข้อ ได้แก่ 1) มีข้อบังคับให้การให้เช่ามีระยะเวลาขั้นต่ำ 6 ปี ซึ่งเจ้าของที่ดินเห็นว่านานเกินไป 2) การบอกเลิกให้เช่าที่ดิน กระทำได้ต่อเมื่อเจ้าของที่ดินจะนำไปใช้เพื่อทำการเกษตรเท่านั้น และต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (คชก.) ระดับตำบลอนุมัติก่อน
3) ไม่อนุญาตให้ปล่อยเช่าที่นาเป็นรายปี 4) ให้อำนาจกำหนดราคาค่าเช่าไว้กับ คชก. ซึ่งปัจจุบันราคาไม่สอดคล้องกับราคาข้าวในตลาด 5) หากเจ้าของที่ดินต้องการนำที่ดินออกขาย จะต้องให้สิทธิผู้เช่าสามารถซื้อได้เป็นรายแรก
นอกจากนี้ ผลการศึกษาปัญหาการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเคยว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชศึกษาไว้เมื่อปี 2554 พบว่า เกษตรกรไทยมีประมาณ 5.87 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้มีประมาณ 2.64 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 45% มีการเช่าที่ดินทำการเกษตร มีจำนวนที่ดินปล่อยเช่าประมาณ 30.59 ล้านไร่ และมีเกษตรกร 1.08 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 41% ที่เช่านาโดยไม่ได้ทำสัญญาตามกฎหมาย รวมทั้งมีเกษตรกร 72.81% จากทั่วประเทศที่ไม่ทราบว่ามีอัตราเพดานค่าเช่าสูงสุดตามกฎหมาย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 มิ.ย. 2558