บรรดาเศรษฐีเมืองไทยคงต้องร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดก วาระ 3 ไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากนี้ไปต้องรอกระบวนการทูลเกล้าฯเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 180 วัน เพื่อให้เวลาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเตรียมตัว
ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกผลักดันมาตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศเมื่อช่วงปี 2557
เป้าหมายการผลักดันกฎหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะ คสช.เห็นว่าคนรวยที่มีการใช้ทรัพยากรในประเทศเพื่อสะสมความมั่งคั่ง ควรต้องถูกเก็บภาษีเมื่อทรัพย์สินมีการเปลี่ยนมือไปให้ลูกหลาน
กฎหมายที่จะประกาศบังคับใช้แตกต่างจากร่างเดิมพอสมควร โดยเฉพาะในประเด็นของมูลค่ามรดกที่ต้องจ่ายภาษี
จากเดิมกำหนดให้เก็บผู้รับมรดกในส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท เพิ่มเป็นรับมรดกในส่วนเกินกว่า 100 ล้านบาท
ส่วนอัตราการจัดเก็บภาษีเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เสนอให้เก็บที่อัตรา 10% ทุกรายที่รับมรดกเกินกว่าอัตรายกเว้น คือเกิน 50 ล้านบาทในตอนนั้น
เปลี่ยนเป็นเก็บ 5% จากผู้สืบสันดาน ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้สืบสันดาน ยังคงเก็บในอัตรา 10% จากส่วนเกินในมรดกที่รับ หรือเกิน 100 ล้านบาท
สนช.ให้เหตุผลในการปรับเปลี่ยนมูลค่าว่าตัวเลข 50 ล้านบาท เพราะกลัวจะมีผลกระทบกับกลุ่มคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว และผู้ที่มีอยู่อาศัยใจกลางเมืองไปจนถึงผู้ประกอบการ เนื่องจากพบว่ามีผู้ประกอบการที่มีทรัพย์สินเกิน 50 ล้านบาทเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ สนช.ยังเห็นชอบกรณีร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการรับให้ ในกรณีให้ทรัพย์สินก่อนเสียชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับภาษีการรับมรดกที่ประกาศใช้
สำหรับมรดกที่ต้องเสียภาษีมี 5 ประเภท คือ 1.อสังหาริมทรัพย์ 2.หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกับที่เจ้าของมรดกมีสิทธิเรียกถอนคืน หรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ 4.ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ 5.ทรัพย์ทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
ในกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นทรัพย์สินมรดกไปให้ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 แสนบาท
ผู้ใดจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือใช้กลอุบายพยายามฉ้อโกง หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนล้านบาท เป็นต้น
พร้อมกันนี้ยังมีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในกรณีบุคคลไม่ยอมเสียภาษี โดยไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระจากเดิมที่กำหนดไว้ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ
และถ้าเป็นกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียขาดไป ให้เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม จากเดิมกำหนดให้เสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสีย
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงทรรศนะว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายสัญลักษณ์ หมายความว่าเราจะมีกฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ แต่ทางปฏิบัติใช้ไม่ได้ผล เหมือนเราแสดงความพยายามจะทำ แต่หลักปฏิบัติมีรายละเอียด อาจจะเอื้อโอกาสให้เกิดการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามช่องโหว่กฎหมายได้ เช่น คนที่มีทรัพย์สินสามารถโอนไปต่างประเทศได้ ข้อยกเว้นต่างๆ หลีกเลี่ยงได้ การประเมินราคาที่ดินยังไม่ได้ประเมินใหม่ ใช้เกณฑ์เดิมมาตั้งแต่ปี 2522-2524 ช่องโหว่เหล่านี้ทำให้เก็บภาษีไม่ค่อยได้ คงไม่มีผลเท่าไหร่ในการกระจายรายได้ ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้เท่าไหร่
ช่วงหลังกระแสคัดค้าน พ.ร.บ.นี้ก็หายไป สะท้อนว่าคนมีวิธีการหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
การลดความเหลื่อมล้ำของภาษีมรดกไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก มีกฎหมายภาษีหลายอย่างต้องแก้ไข ขอเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.ดำเนินการแก้ไข คือ
1.ต้องประเมินราคาที่ดินให้เป็นปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงราคาประเมินที่ดิน ยังใช้เกณฑ์เดิมมาหลายสิบปี
2.มหาเศรษฐีในไทยไม่ติดอันดับคนเสียภาษีบุคคลธรรมดา 1 ใน 100 อาจมีสัก 2 คน เพราะอภิมหาเศรษฐีมีเงินได้ส่วนใหญ่เป็นเงินปันผลจากหุ้น เสียภาษี 10% หรือได้จากดอกเบี้ยธนาคาร เสียภาษี 15% ไม่ต้องมานับเป็นรายได้รวม เสียภาษีแล้วก็จบ ไม่เหมือนเงินค่าจ้าง เอามาบวกกัน ฐานภาษีสูงขึ้น เสียภาษีอัตราก้าวหน้า 20% หรือ 30% ควรใช้กฎหมายรอง (ประมวลรัษฎากร) เปลี่ยนบังคับให้นับรวมเงินได้จากปันผลหุ้นและดอกเบี้ยมาเป็นฐานเสียภาษี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันที่จะเสียภาษี
3.ช่องโหว่กฎหมายยกเว้นภาษีคนรวย ภาษีส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บางกรณีไม่สมควรแก่เหตุยกเว้นหรือลดภาษี เช่น เอกชนจะลงทุนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาก็ยกเว้นหรือลดภาษีให้ เหมือนเป็นการได้ลาภลอย ต้องแก้โครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดีหรือเลว ชนชั้นกลางเสียภาษีมากกว่าคนรวย ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปภาษี แต่เป็นการแก้ปัญหาความยุติธรรมในระบบภาษี 4.คนหนีภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนมาก ควรใช้เบอร์ภาษีเดียวกันกับทุกกิจการของคนคนหนึ่ง สร้างระบบสารสนเทศเชื่อมกันทั้งระบบ รัฐลงทุนไม่กี่พันล้านสร้างระบบ จะได้เก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เรื่องเหล่านี้ควรจะรีบทำ จริงๆ สำคัญยิ่งกว่าภาษีมรดก เพราะหากทำได้จะลดความเหลื่อมล้ำได้ทันที สร้างความเป็นธรรม
ด้าน นายสมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี. เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากข่าวนี้ออกมาน่าจะทำให้คนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านบาท มีความกังวลว่าจะต้องเสียภาษีมากขึ้นหลังจากเสียชีวิต ทำให้คนกลุ่มนี้จะต้องบริหารจัดการทรัพย์สินก่อนจะเสียชีวิตและก่อนเป็นมรดกเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นการขายทรัพย์สินออก การโอนเข้าบริษัท หรือแบ่งมรดกให้กับลูกหลาน เพื่อไม่ให้เกินคนละ 100 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อดีคือ หากคนถือครองทรัพย์สิน อาทิ ที่ดินแปลงใหญ่ มูลค่าเป็นร้อยล้านบาท คาดว่าจะมีการขยายออก เป็นการกระจายที่ดินออกมาสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น เกิดการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์มากขึ้น แต่หากพิจารณาในแง่รายได้ที่รัฐจะจัดเก็บได้จากภาษีนี้ อาจจะไม่คุ้มค่ากับค่าแรงและค่าดำเนินการ เพราะน่าจะจัดเก็บรายได้ต่อปีได้ไม่มากนัก
ยิ่งฐานอัตราการจัดเก็บเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านบาท ทำให้กลุ่มคนต้องเสียภาษียิ่งน้อยลง
ส่วนกรณีรัฐอยากจะลดความเหลื่อมล้ำนั้น ช่วง 1-2 ปีแรกที่มีการจัดเก็บภาษีมรดก รัฐอาจจะยังจัดเก็บภาษีได้บ้าง แต่หากต่อไปเชื่อว่าคนกลุ่มที่จะต้องเสียภาษีจะมีการบริหารจัดการทรัพย์สิน ระยะยาวรัฐอาจจะไม่สามารถจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้
สำหรับ เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า อัตราการจัดเก็บภาษีมรดกที่ประกาศออกมาว่าจะจัดเก็บภาษีมรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท จากเดิมจะเก็บภาษีมรดกส่วนเกินจาก 50 ล้านบาท เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ของภาครัฐว่าต้องการจัดเก็บภาษีคนถือครองทรัพย์สินจำนวนมากจริงๆ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายจะหารายได้จากคนกลุ่มนี้ เพราะคงจะจัดเก็บรายได้ได้ไม่มาก หากเปรียบเทียบแล้วคนมีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านบาท ถือว่ามีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับคนทั้งประเทศ
คิดว่ากฎหมายนี้จะทำให้การซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ดินแปลงใหญ่มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท หากมีการขายที่ดินออกมา ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ เพราะสามารถนำที่ดินมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหรือโครงการเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
ที่มา : มติชน วันที่ 25 พ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.