พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเตือนความจำสังคมไทยอีกครั้งว่า รากฐานที่แข็งแกร่งของสังคมไทยคือเกษตรกรรม จงอย่าลืมเรื่องนี้ ในอดีตยุคสังคมเกษตรกรรม เหง้าเมือง อันได้แก่ผู้รู้ ผู้นำ ของชุมชน คือพลังสำคัญทางสังคม ในปัจจุบันสังคมทุนนิยมไทย เหง้าเมือง ก็ยังเป็นพลังสำคัญทางสังคม เพราะสังคมทุนนิยมไทยจะเข้มแข็ง พัฒนาอย่างมั่นยืนอย่างแท้จริง เศรษฐกิจภาคเกษตรกรรรมและภาคอุตสาหกรรมการเกษตรจะต้องแข็งแกร่งทั้งสองภาคและสมดุลกัน
รากฐานอันมั่นคงของภูมิเศรษฐศาสตร์ไทยคือเกษตรกรรม เราจะต้องสร้างความมั่งคั่งขึ้นจากแผ่นดินและผืนน้ำอันเป็นทรัพยากรของเราเอง เราไม่อาจสร้างความมั่งคั่งขึ้นได้จากการเป็นแรงงานรับจ้างประกอบสินค้าอุตสาหกรรมของทุนต่างชาติแล้วส่งออกในนามสินค้าไทย ชาวไทยควรน้อมนึกถึงความเป็นจริงในสังคมไทย อย่าปล่อยใจหลงไปกับมายาทางเศรษฐกิจการเมืองยุคโลกาภิวัตน์ สังคมไทยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมามาก จนดูคล้ายกับว่าสังคมไทยเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง สังคมชั้นบนก็กลายเป็นโลกไร้พรมแดนยุคโลกาภิวัตน์ไปแล้ว
เมื่อดูตัวเลขจากจีดีพี รายได้ด้านอุตสาหกรรมสูงกว่ารายได้ด้านเกษตรกรรม จำนวนแรงงานด้านอุตสาหกรรมและบริการอาจจะมากกว่าแรงงานชนบท ภาพเหล่านี้อาจทำให้นักวิชาการมองสังคมไทยผิดจากความเป็นจริง แล้วก็วางยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรม ดังที่เคยฝันเปียกกันเรื่อง Nics (ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) แทนที่จะเป็น Nacs (ประเทศเกษตรกรรมใหม่) ในทรรศนะของเรามิได้ปฏิเสธอุตสาหกรรม เพียงแต่เรามองว่า รากฐานที่แข็งแกร่งของเราคือภาคเกษตรกรรม เราควรพัฒนาภาคเกษตรกรรม ทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหาร ผลิตสินค้าเกษตรแหล่งสำคัญของโลก ทั้งนี้ต้องสร้างอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของเรา
เราต้องพัฒนาอุตสาหกกรมให้ใหญ่โต แต่อุตสาหกรรมนั้นต้องต่อยอดจากผลผลิตของเราเอง ไม่ใช่อุตสาหกรรมรับจ้างประกอบชิ้นส่วนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ชาวไทยควรเห็นความสำคัญของภาคเกษตรกรรม แล้วช่วยกันผลักดันให้รัฐไทยหันกลับมาเดินเส้นทางที่ถูก นั่นคือเน้นพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่อยอดจากภาคเกษตร อุตสาหกรรมต่อยอดภาคเกษตรนั้น อย่ามองคับแคบว่ามีแต่เพียงเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ความจริงมันเกี่ยวพันกับทุก ๆ ด้าน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องถือเป็นภารกิจที่จะต้อง ปฏิรูปสังคม
เพราะปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยเดือดร้อนกันมาก คือความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม การชุมนุมของเกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเมื่อราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ จนเกือบจะกลายเป็นงานประจำปีของเกษตรกร เมื่อเกษตรกรเดือดร้อน รัฐบาลก็ช่วยอุ้มช่วยสงเคราะห์ หามาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ นานา แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นเสมอ ย้อนดูแล้วสินค้าพืชผลเกือบทุกชนิดเคยเกิดปัญหาราคาตกต่ำ เรื่องที่เราอยากให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยทบทวนอย่างจริงจังคือ เกษตรกรต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ภูมิคุ้มกันนั้นมีเผยแพร่อยู่แล้ว นั่นคือแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 13 พ.ค. 2558