เรื่อง : แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา
ภาพ : กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
นโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีจะให้สัมปทานเหมืองทอง 1 ล้านไร่ ใน 11 จังหวัด ในช่วงกลางปีนี้ ได้แก่พื้นที่ในจังหวัดเลย พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระบุรี สตูล และสระแก้ว โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องตั้งโรงสกัดแร่ทองคำให้บริสุทธิ์ขึ้นในประเทศ
แน่นอนว่า เหมืองทองพิจิตร และเหมืองทองวังสะพุง คือ เหมืองแร่ทองคำอันดับต้นๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมอนุญาตให้ผู้ประกอบการขยายพื้นที่ทำเหมืองต่อ
แม้จะปรากฏหลักฐานและเหตุการณ์อื้อฉาวที่พิสูจน์ผลกระทบจากการทำเหมืองในทุกมิติ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน-ชุมชน และการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านที่ถูกกระทำในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
แม้ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา คนงานเหมืองทองวังสะพุง ได้ยื่นร้องเรียนต่อผู้ว่าเมืองเลย อ้างหลังเหมืองทองได้เงินค่าขายแร่ที่ขนออกจากเหมืองในคืนวันที่ 15 เป็นเงิน 343 ล้านบาท แต่กลับไม่จ่ายเงินค่าจ้างและค่าชดเชย 15 ล้านที่ติดค้างกับพนักงาน
แม้รายงานบัญชีในปี 2557 ของบริษัทฯ มีตัวเลขรายได้จากการขายแร่เพียง 17.68 ล้านบาท
และแม้ตัวเลขขาดทุนของบริษัทฯ ยังติดลบ 1,000 กว่าล้านบาท
น่าอดสูหรือไม่ หากบริษัทฯ ที่มีการดำเนินกิจการแบบนี้รัฐทหารยังจะให้ขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำในเขตป่าต้นน้ำอีก
ในวันรำลึก 1 ปี เหตุการณ์วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 คืนที่ชาวบ้านเรียกว่า “คืนขนแร่เถื่อนแห่งชาติ” ย่อหน้าสุดท้ายของแถลงการณ์ จาก กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง 6 หมู่บ้าน ใน ต.วังสะพุง อ.เขาหลวง จ.เลย ระบุว่า
“ไม่ว่ารัฐบาลฝ่ายไหนขึ้นมาปกครอง หรือแม้แต่รัฐทหารก็ตาม หากไม่เคารพชีวิต ธรรมชาติ และแผ่นดินเกิดของพวกเรา พวกเราจะยืดหยัดต่อสู้จนถึงที่สุด และพวกเราขอประกาศถึง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และ ทุ่งคาฮาเบอร์ ในนามของต้นไม้ทุกต้น สายน้ำทุกหยด อากาศบริสุทธิ์ที่ธรรมชาติประทานมาให้ และชีวิตทุกชีวิตที่นี่ว่า ‘ปิดเหมือง ฟื้นฟู’ นี่คือเจตนารมณ์ของพวกเราตลอดเวลาการต่อสู้ 10 กว่าปีที่ผ่านมา”
ด้านตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง 7 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ เลย สระบุรี และ ลพบุรี เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านสัมปทานแร่ทองคำ 11 จังหวัด พื้นที่ราว 1 ล้านไร่ ต่อ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ไปเมื่อวานนี้ (14 พฤษภาคม 2558)
ในวันเดียวกัน เครือข่าย Stop Fracking Thailand ส่งตัวแทนยื่นหนังสือถึง นายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรน้ำ ในคณะกรรมการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้มีการห้ามทำเหมืองอย่างเด็ดขาดในพื้นที่สำคัญและพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และให้มีการควบคุม ตรวจสอบ การดำเนินกิจกรรมของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำบาดาล น้ำฝน และน้ำท่า ทั้งระบบ จากกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เนื่องจากการใช้สารเคมีหรือปฏิกิริยาของวัสดุสินแร่และสารต่างๆ ที่อยู่ต่างธรรมชาติ โดยให้มีใจความครอบคลุมถึงการลงโทษผู้กระทำผิด การแก้ไขป้องกันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
กลับไปยังจังหวัดชัยภูมิ มีสถานการณ์ในพื้นที่เมื่อชาวบ้านเพิ่งรับรู้ว่า จะมีก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่ผุดโครงการขึ้นมาอย่างรีบเร่งในพื้นที่ จึงรวมตัวกันนับพันไปแสดงจุดยืนบนเวทีรับฟังความคิดเห็น คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทฯ
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลังวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 9,700 ไร่ กับบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียนฯ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ บ้านตาล บ้านเพชร และตำบลหัวทะเล ใน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ หลังจากโครงการต้องหยุดชะงักไปกว่า 30 ปี
ความสำเร็จในครั้งนี้ นับได้ว่าสมกับการวางเป้าหมายโดยสภาการเหมืองแร่ที่จะให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เติบโตแบบก้าวกระโดดอีก 3 เท่าในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเน้นที่การออกประทานบัตรโปแตช ทองคำ วุลเฟรม และถ่านหินเพิ่มขึ้น
...สัมปทานเหมืองทอง 1 ล้านไร่ ใน 11 จังหวัด สัมปทานเหมืองแร่โปแตช เกิดขึ้นหลังรัฐทหารชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศได้ไม่กี่วัน
แต่ไม่เพียงเท่านั้น นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม อดีตผู้บริหารเหมืองทอง ยังดันร่างพระราชบัญญัติแร่ (2557) ที่เนื้อหาในกฎหมายตัดขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน ให้อำนาจข้าราชการในการอนุญาตทำเหมือง ซึ่งหมายถึงข้าราชการและเอกชนอาจสามารถร่วมมือกันทุจริตโดยใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณของชาติเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตนเองและเครือข่าย รวมถึงให้ทำเหมืองแร่ได้ในพื้นที่อนุรักษ์โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ สงวน ทั้งป่าไม้ แหล่งต้นน้ำ และพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม
ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้ ผ่านครม. และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมกฤษฎีกาไปอย่างเงียบเชียบเช่นเคย ส่วน กพร. ออกประกาศคำสั่ง ลดพื้นที่การไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรจากรัศมี 2 กิโลเมตร เหลือ 500 เมตร โดยอ้างว่าพื้นที่สำรวจกว้างขวางทำให้รายละเอียดไม่ครบถ้วน แม้ว่าช่วงเวลาเหล่านี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สภาปฏิรูป กำลังยกร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับที่เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองในภาคต่างๆ และกำลังมีความพยายามในการทบทวน แก้ไข กระบวนการจัดทำระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้รัดกุมยิ่งขึ้น
พฤติกรรมทางการเมืองเรื่องนี้ก่อให้เกิดเสียงคัดค้าน และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ไปทั่วหัวระแหง กระทั่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต้องออกโรงมาแถลงว่า อาจจะมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้เกิดความสงบและป้องกันความวุ่นวายในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายในการให้สัมปทานทำเหมืองแร่ซึ่งจะมีผลบังคับเมื่อ พ.ร.บ.แร่ฉบับนี้ประกาศใช้
ยังไม่จบ เพราะยังไม่ครบวงจร กระทรวงอุตสาหกรรมยังเสนอแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี โดยทำความร่วมมือกับทหาร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขอใช้พื้นที่ทหาร หรือป่าเสื่อมโทรม ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกและตะวันตก เพื่อตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรม
MOU ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กับ กระทรวงกลาโหม มี 3 ฉบับด้วยกัน คือ 1.การตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมและการรีไซเคิล 2.การนำทรัพยากรแร่ในเขตพื้นที่ทหารมาใช้ประโยชน์ 3.การตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ทั้งนี้ ที่หมายสุดท้ายของกากขยะอุตสาหกรรม 1.5 ล้านตันต่อปี และขยะที่เกิดจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ มีแผนที่จะนำไปทิ้งในขุมเหมืองเก่าหรือขุมเหมืองหมดอายุซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิม แต่ในเมื่อขุมเหมืองไม่สามารถฟื้นฟูได้ก็นำมาทำเป็นบ่อทิ้งขยะอุตสาหกรรมเป็นพิษแทน และนโยบายนี้ได้รับการขานรับทันทีจาก เหมืองสังกะสีแม่สอด ที่เตรียมลงทุนในธุรกิจกำจัดกากของเสีย เนื่องจากมีขุมเหมืองใกล้หมดอายุซึ่งมีพื้นที่มหาศาลในครอบครอง
ส่วนแหล่งแร่ที่อยู่ในเขตพื้นที่ทหาร คาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในเดือนนี้ โดยการสำรวจเบื้องต้น ได้แก่ แร่ควอตซ์ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และสุพรรณบุรี และแร่เหล็ก ในบริเวณเขาทับควาย จ.ลพบุรี นายทุนก็สามารถขุดขึ้นมาขายได้ แบบไม่ต้องมีอุปสรรคจากเสียงคัดค้านของประชาชน
ตามมาด้วยดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 10 มีนาคม 2558 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) “ให้ตั้งเวสเทิร์นซีบอร์ดเชื่อมทวาย เพื่อให้มีพื้นที่อุตสาหกรรม ตั้งนิคมอุตสาหกรรม การผลิตเหล็กต้นน้ำ ทำเหมืองแร่ เพื่อเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย"
สรุปแล้ว ช่วงเวลาทำงานภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหาร กระทรวงอุตสาหกรรมแถลงผลงานในระยะเวลา 6 เดือน มีการออกใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ 30 แปลง ต่ออายุประทานบัตร 18 แปลง ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ 80 แปลง ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรผูกขาด 64 แปลง และอนุญาตโอนประทานบัตรทำเหมืองแร่ 3 แปลง รวมทั้งสิ้น 195 แปลง ในจำนวนนี้เป็นการอนุญาตรายใหม่กว่า 120 แปลง โดยการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่อนุมัติภายใน 45 วัน และ
ประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศเหมืองแร่
ประเทศไทยกำลังจะให้สัมปทานนายทุนทำเหมืองทอง พื้นที่ 1 ล้านไร่ ใน 11 จังหวัด รวมถึงเหมืองโปแตช เหมืองเหล็ก เหมืองถ่านหิน เหมืองวุลเฟรม เหมืองแร่ควอตซ์ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศเติบโตขึ้นอีก 3 เท่าใน 3 ปี
ประเทศไทยกำลังจะมีนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรม และจะนำเข้าขยะพิษเข้ามาฝังในขุมเหมืองเก่าในประเทศ
ที่ผ่านมาอาชญากรที่ก่อสารพิษจากการทำเหมือง ทำให้ชาวบ้านเจ็บ ป่วย ตาย คือใคร รับโทษอย่างไร
ทรัพยากรแร่ ทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า นายทุนขุดขายได้ประโยชน์เท่าไหร่ ประเทศชาติได้อะไร เสียอะไร ทุนสามานย์ ใช่ใคร
คำถามเหล่านี้ รัฐบาลทหารคิด หรือไม่คิดอย่างไร
ไม่ว่าคำถาม-คำตอบเหล่านี้จะซ้ำซากน่าเบื่อหน่ายแค่ไหน ไม่ว่ากับรัฐบาลใด
ประชาชนผู้เจ็บตายตาดำๆ ก็ต้องคิดเอง ทำเอง ต่อสู้ด้วยตัวเองกันต่อไปอยู่ดี
เขื่อนเก็บกาแร่-ภูเหล็ก พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองทองทุ่งคำ
เจรจาก่อนขนแร่รอบ
รำลึก 15 พ.ค. คืนขนแร่เถื่อนแห่งชาติ
เหมืองขยายพื้นที่บ่อเก็บกากแร่
เหมืองทองคำ-ภูทับฟ้า
ที่มา : ประชาไท วันที่ 15 พ.ค. 2558