โดย...สมเกียรติ มีธรรม สถาบันอ้อผะหญา (องค์กรสาธารณประโยชน์) มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม
ป่ารุกคน
พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม (ตามกฎกระทรวง ฉบับ 712 พ.ศ.2517) และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ (ตามมติครม.พ.ศ.2528) คิดเป็นร้อยละ 81 และร้อยละ 58.66 ของพื้นที่ทั้งหมด 1,745,425 ไร่ มีพื้นที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรและที่อยู่อาศัยรวมกัน 344,833.88 ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เพียง 13,264 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา (สำนักงานที่ดินส่วนแยกแม่แจ่ม พ.ศ.2556) ที่เหลืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ/บี ชั้น 2 และ 3 ตามลำดับ โดยทางการไม่ได้กันชุมชนและที่ทำกินออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำก่อนประกาศแต่อย่างใด ส่งผลทำให้ชุมชนท้องถิ่นดังเดิมที่อยู่กันมายาวนานผิดกฎหมายทันที เป็นปัญหา“ป่ารุกคน” ที่ตราบจนทุกวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ มติคณะรัฐมนตรี และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดินน้ำป่าให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
จากข้อมูลแผนที่จำแนกประเภทชั้นคุณภาพลุ่มน้ำรายตำบลอำเภอแม่แจ่ม ตามมติคณะรัฐมนตรี 2528 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ)พบว่า อำเภอแม่แจ่มมีหมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ จำนวน 10 หมู่บ้านกับอีก 26 หย่อมบ้าน อยู่ในเขตพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 บี จำนวน 3 หมู่บ้านกับอีก 2 หย่อมบ้าน อยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 2 จำนวน 30 หมู่บ้านกับอีก 20 หย่อมบ้าน อยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 3 จำนวน 16 หมู่บ้าน 3 หย่อมบ้าน และอยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 4 จำนวน 24 หมู่บ้าน แทบทั้งหมดตั้งหมู่บ้านถูกต้อง (ตาม พรบ.ลักษณะปกครองส่วนท้องที่ พ.ศ.2457) มาก่อนปีพ.ศ.2504 หรือก่อนที่พรบ.อุทยานแห่งชาติพ.ศ.2504 พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และก่อนมติคณะรัฐมนตรีกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำออกมาประกาศใช้ ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ถูกลิดรอนสิทธิการใช้ประโยชน์และสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปโดยปริยาย เมื่อชุมชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ แม้ปลูกไม้เศรษฐกิจในรั้วบ้านของตนก็ยังโค่นมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำให้ความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทรัพยากรร่วมกันลดลงไป ใครต้องการที่อยู่อาศัยและที่ทำกินบริเวณไหนในป่า ก็สามารถจับจองแพวถางกันได้ทันที
คนรุกป่า
ต่อเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น วิถีชีวิตและการผลิตในชุมชนท้องถิ่นเปลี่ยนไปพึ่งพากลไกการตลาด มากกว่าพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ พึ่งพาตนเอง และชุมชน ทุกคนจึงดิ้นรนแสวงหาวัตถุเงินทองมาปรนเปรอตนเพื่อเปลี่ยนสถานะทางสังคม และการเข้ามาส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในทางตรงและทางอ้อมแก่เกษตรกรนั้น อีกด้านหนึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้พร้อมๆ กันไปกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกรุกราน และแปรสภาพมาเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมแดง และกะหล่ำปลี ซึ่งเป็นรายได้หลักของเกษตรกรอำเภอแม่แจ่มในวันนี้ โดยที่ยังไม่มีพืชเศรษฐกิจชนิดใดทดแทนหรือตอบโจทย์เกษตรกรในยุคนี้ ที่ไม่ชอบทำอะไรซับซ้อน ใช้เวลานาน และได้เงินน้อย ต่อเมื่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตอบโจทย์นี้ได้ในทุกขั้นตอน กระบวนการผลิตก็ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาสั้น และเกษตรกรเองก็รู้สึกได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ปัญหา“คนรุกป่า”จึงไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดหยั่งได้
จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่พบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผืนป่าต้นน้ำแม่แจ่มถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่ทำกินมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะช่วงปีพ.ศ.2552 - 2554 และปี 2557 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม ถูกแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 86,304 ไร่ เป็น 105,465 ไร่ในปี 2554 และเป็น 144,880.25 ไร่ในปี 2556 โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในปีเดียวกันมากถึง 8,332 ราย ให้ผลผลิต 100,547 ตันต่อปี พอปี 2557 ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ เกษตรกรบางส่วนหันมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน (เช่น ยางพารา ฟักทอง หอมแดง และกะหล่ำปลี) พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูฝนจึงลดลงไปอยู่ที่ 118,719 ไร่ ให้ผลผลิต 83,103 ตันต่อปี มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงมาอยู่ที่ 7,427 ราย คิดเป็นร้อยละ 43.35 ของครัวเรือนทั้งหมด (17,131 ครัวเรือน) ซึ่งนั้นก็หมายความว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผกผันกับราคาในแต่ละปี หากปีไหนราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ ปีถัดมาพื้นที่ปลูกข้าวโพดฯก็จะลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าปีไหนราคาดี ปีถัดมาพื้นที่ปลูกข้าวโพดฯก็จะเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน
ผลกระทบ
การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดังกล่าวมานี้ ไม่ได้ผกผันกับพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงด้านเดียว แต่ยังเป็นปัจจัยสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของปัญหาหมอกควันและปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพดรอบใหม่ในแต่ละปี ไปจนถึงปัญหาหน้าดินถูกชะล้างลงสู่ที่ต่ำจนทำให้แม่น้ำลำห้วยตื้นเขิน ปัญหาดินถล่ม และปัญหาภัยแล้งอีกด้วย
จากข้อมูลส่วนควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม 2558 ฮอตสปอต (Hotspot) ตรวจพบจุดความร้อนจากการเผาไหม้ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม 319 จุด สูงกว่าอำเภออื่นในจังหวัดเชียงใหม่ จนทำให้เกิดมลพิษปัญหาหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงที่เกษตรกรเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี หมอกควันที่แผ่ปกคลุมภาคเหนือ (ซึ่งมาจากพื้นที่จังหวัดอื่นและประเทศเพื่อนบ้านด้วย) กระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ จนทำให้นักท่องเที่ยวลดลงไปถึงร้อยละ 40 ขณะที่ค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 10 (PM10) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 มีนาคม 2558 เปรียบเทียบกับปี 2557 สูงถึง 299 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะมลพิษหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ (ตามรายงานของกลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558) พุ่งสูงถึง 2,042 รายในโรงพยาบาล 10 แห่ง (ได้แก่ รพ.นครพิงค์ รพ.จอมทอง รพ.แม่แตง รพ.แม่อาย รพ.สันป่าตอง รพ.สันทราย รพ.ฮอด รพ.สารภี รพ.แม่ออน และรพ.วัดจันทร์) โดยหมอกควันที่สถาบันจัยแสงซินโครตรอนค้นพบบริเวณพื้นที่แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน มาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตรมากกว่าเผาป่า
จากข้อมูลงานวิจัยของ ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล และคณะ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ก.ย. 2556) ได้ทำการประเมินการรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศในเด็กนักเรียนอนุบาลจากพื้นที่มีจุดความร้อนสูงในจังหวัดเชียงใหม่ 555 ตัวอย่างใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงดาว อมก๋อย แม่แจ่ม และพร้าว เพื่อเปรียบเทียบกับอำเภอเมืองเชียงใหม่พบว่า มลพิษหมอกควันที่เกิดจากการเผาไร่และป่าในช่วงฤดูแล้ง (ม.ค.-เม.ย.2555) ทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 10 ใน 24 ชั่วโมงสูงขึ้นในทุกอำเภอ ส่วนในฤดูฝน พื้นที่อำเภอแม่แจ่มแม้ค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นพีเอ็มลดลง แต่ยังคงค่าเฉลี่ยสูงกว่าอำเภอเมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้น งานวิจัยยังพบปริมาณสารพีเอเอชชนิดก่อมะเร็งที่มากับหมอกควันในฤดูแล้งสูงมาก คิดเป็นร้อยละ 45 (อำเภอเมือง) ถึง 66 (อำเภอแม่แจ่มและอำเภอพร้าว)ของสารพีเอเอชรวมทั้งหมด และพบเด็กอนุบาลในโครงการวิจัยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 70.1 และอยู่ในกลุ่มอันตรายถึงร้อยละ 15.5 โดยเด็กที่อำเภอเชียงดาวอยู่ในกลุ่มอันตรายมากที่สุด รองลงมาได้แก่ อำเภออมก๋อย แม่แจ่ม พร้าว ส่วนอำเภอเมืองเชียงใหม่ไม่พบเด็กอยู่ในกลุ่มนี้
ต่อเมื่อหันกลับมาดูภาคพื้นดินที่โล่งเตียนจากการเผาไร่และป่า เสมือนว่าจะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกไปได้มาก แต่หน้าดินที่เสื่อมสภาพและถูกชะล้างจากน้ำฝนทุกปี กลับทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการซื้อปุ๋ยซื้อยามาบำรุงดิน ส่วนหน้าดินซึ่งถูกชะล้างลงสู่ที่ต่ำ ไปสะสมตามแม่น้ำลำห้วยจนตื้นเขิน วังปลาซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำหายไป ระบบชลประทานที่ก่อสร้างโดยไม่คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ใช้งานไม่ได้ หลายแห่งชำรุดเสียหายและอีกหลายแห่งมีตะกอนสะสมทับถมจนทำให้ศักยภาพการกักเก็บน้ำลดลงทุกปีไม่สามารถที่จะขุดลอกได้
พอในฤดูน้ำหลาก สิ่งก่อสร้างในระบบชลประทานกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำไปทันที ขณะที่ท้องน้ำตื้นเขิน ก็ทำให้น้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาได้ง่าย ดังที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 - 4 ตุลาคม 2554 สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินชาวบ้านมากมาย มีบ้านเรือนเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากมากถึง 30 หลัง รถยนต์ 17 คัน รถจักรยานยนต์ 112 คัน สัตว์เลี้ยง (หมู ไก่ กบ ปลาดุก ปลาเกล็ด เป็ด) รวม 26,711 ตัว เหมือง/ฝาย 19 แห่ง ทรัพย์สินภายในบ้านและเครื่องใช้ในการเกษตรอีกมากมาย[1] ในขณะที่ไร่ข้าวโพดและพื้นที่เชิงเขาหลายแห่งเกิดดินถล่มกระจายอยู่ทั่วไป
ในทางกลับกัน พอถึงฤดูแล้ง แม่น้ำลำห้วยหลายสายแห้งขอด ไม่มีน้ำจากป่าไหลมาหล่อเลี้ยงชุมชนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำสาขา หรือไหลมาเติมเต็มเหมืองฝายและอ่างเก็บน้ำ ที่สร้างขึ้นมาโดยไม่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำแม่แจ่มลดลงทุกปี โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ปริมาณน้ำแม่แจ่มลดลงเฉลี่ยไม่ถึง 100 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ทำให้หลายพื้นที่ในอำเภอแม่แจ่มเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่แม่แจ่มตอนล่างมีแนวโน้นรุนแรงขึ้น จากข้อมูลโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดเชียงใหม่ แผนพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำอำเภอแม่แจ่ม จัดทำโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กันยายน 2553) ชี้ว่า อำเภอแม่แจ่มเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.68 ปัญหาระบบประปามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.19 ของความรุนแรงสูงสุดที่ 3 ส่งผลให้หลายหมู่บ้านประสบปัญหาน้ำอุปโภคบริโภครุนแรงขึ้น
ทางออก
สภาพปัญหาและสาเหตุดังกล่าวมานี้ มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไป ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งที่เริ่มรุนแรงขึ้น แม่น้ำลำห้วยตื้นเขิน น้ำหลาก หน้าดินเสื่อมสภาพ หมอกควัน และสุขภาพ ล้วนเกิดจากปัญหาคนรุกป่า เพื่อเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจของตน และป่ารุกคนจนทำให้ชุมชนไม่มีสิทธิและส่วนร่วมใดๆ ในการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่า เพื่อรักษาผืนป่าต้นน้ำแม่แจ่มที่เหลืออยู่ร้อยละ 66.02 ไม่ให้ถูกบุกรุกทำลายมากไปกว่านี้โดยที่คนยังอยู่กับป่าอย่างเกื้อกูลกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กันดังนี้
1. แนวทางแก้ไขปัญหาคนรุกป่า
จำแนกการใช้ประโยชน์ป่าไม้ที่ดินรายแปลงพร้อมประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดิน จัดทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและสร้างกลไกลการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าร่วมกันกับทุกภาคส่วน และจัดทำแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกัน
ส่วน โดยใช้ข้อมูลแผนที่จำแนกการใช้ประโยชน์ป่าไม้ที่ดินฯมาเป็นเครื่องมือบริหารจัดการ ด้วยการจัดทำปฏิทินการเผา จัดทำข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยการบริหารจัดการหมอกควันและไฟป่า สร้างกลไกลการมีส่วนร่วมบริหารจัดการฯระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจัดทำแผนบริหารจัดการวัสดุการเกษตรร่วมกัน
ป่าไม้ หน่วยงานราชการในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน/ผู้นำศาสนา ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนปลูกไม้ใช้เองในพื้นที่ทำกินของตน จัดตั้งธนาคารต้นไม้ จัดตั้งป่าชุมชน จัดทำพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนจัดทำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์สัตว์น้ำ พัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมกระเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรี 3 มี.ค.53 ส่งเสริมเกษตรผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ให้กับประชาชน และเสริมสร้างรายได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและพัฒนาต่อยอดให้สนองความต้องการของผู้บริโภค
ชุมชนในระดับหมู่บ้านเพื่อหนุนเสริมการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน จัดตั้งธนาคารต้นไม้ จัดตั้งเครือข่ายป่าชุมชนระดับตำบลและอำเภอเพื่อยกระดับการเรียนรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่าย จัดทำธรรมนูญหมู่บ้านว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร จัดสวัสดิการชุมชน และปรับปรุงระเบียบข้อบังคับป่าชุมชนให้มีกลไกในการดำเนินงานชัดเจน
2. แนวทางแก้ไขปัญหาป่ารุกคน
สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่ไม่ได้รองรับหลักสิทธิชุมชนและหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเครื่องมือ ไม่มีอำนาจชัดเจนในการรองรับ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาที่ดิน การจัดการป่าชุมชน และการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม
ร่วมของประชาชน ได้แก่ มติครม.เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดสภาพป่าเสื่อมโทรม และว่าด้วยการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดสภาพป่าเสื่อมโทรม
ปรับปรุง ทบทวน และยกระดับแผนงานโครงการตามระเบียบของกรมป่าไม้ ในการจัดการป่าชุมชนให้มีระเบียบรองรับทางกฎหมาย โดยปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมาย 3 ฉบับ (ได้แก่ พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และ พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504) ควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดการและแก้ไขปัญหา
PRACTICES)–การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ให้มีกลไกในการดำเนินงานชัดเจนและมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มกษ. 4402-2553 มาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับข้าวโพดแห้ง หากมีการบังคับใช้จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ได้บ้างไม่มากก็น้อย
[1] ข้อมูล : การสำรวจความเสียหายขององค์การบริหารส่วนตำบลช่างเคิ่ง ตำบลบ้านทับ และเทศบาลตำบลท่าผา, ต.ค.2554
ที่มา : สำนักข่าวประชาธรรม วันที่ 11 พ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.