ผลพวงจากการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินอันได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกป่าเขาใหญ่ เริ่มจากโครงการโบนันซ่า คีรีมายา มูนแดนซ์ ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าหรือการจัดระเบียบพื้นที่ป่าของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสนธิกำลังเข้าจัดการคือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และกองทัพภาคที่ 2 จนถึงขณะนี้เริ่มมีข่าวว่า ภาคเอกชนหรือนักลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายกำลังวิตกกังวลและทวงถามความชัดเจนจากรัฐบาล โดยอ้างว่า มาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการเกิดความไม่มั่นใจในเอกสารสิทธิที่ได้มา ขณะเดียวกันบรรดาลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านพักตากอากาศก็เริ่มลังเลว่า โครงการต่างๆ ที่เสนอขายมานั้น ได้เอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
การแสดงออกของภาคเอกชนครั้งนี้ สอดรับการวิเคราะห์ของ พ.อ.สมหมาย บุษบา คณะทำงานฝ่ายกฎหมายกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งนำคณะเจ้าหน้าที่รัฐชุดแรกๆ เข้าตรวจสอบโบนันซ่า สปีดเวย์ เขาใหญ่ ที่ระบุเอาไว้ว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าหรือที่สาธารณะนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของการขยายตัวของจำนวนประชากร ซึ่งจะต้องอาศัยการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นระบบมากกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้การใช้สอยที่ดินหรือที่สาธารณะเกิดเป็นประโยชน์สูงสุด เพื่อจะได้ยุติการบุกรุก ซึ่งที่สุดรัฐก็จำเป็นต้องแจกเอกสารสิทธิให้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังฝากคำท้วงติงไปถึงบรรดาผู้ที่ต้องการครอบครองที่ดินสวยงามทั้งหลายให้เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม "เข้าใจว่าทุกคนที่อยากมีที่ดินก็อาจจะไปซื้อมาโดยที่ไม่รู้ว่าที่ดินนั้นได้มาโดยถูกต้อง เพียงเมื่อเห็นว่ามีเอกสารสิทธิที่ถูกต้อง ต่างพากันจับจองด้วยความสุจริตเพื่ออนาคตไว้เป็นที่พักผ่อนเมื่อยามแก่เฒ่า แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบปัญหาก็ต้องดำเนินการ"
อย่างไรก็ตาม เมื่อลงลึกเกี่ยวกับปัญหาการบุกรุกป่าและที่ดินสาธารณะ แทบจะเรียกได้ว่า ทำกันเป็นขบวนการภายใต้ข้อเท็จจริงบางส่วนที่ว่า ประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขาดแคลนที่ดินทำกิน ขณะที่อีกบางส่วนก็ประสบความล้มเหลวจากการทำการเกษตรและปศุสัตว์ ส่งผลให้ต้องขยายขอบเขตการบุกรุกออกไปอย่างไม่จบสิ้น ขณะที่ที่ดินที่ถูกบุกรุกนั้นจะถูกเปลี่ยนมือไปอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่นายหน้ารับซื้อ ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ขึ้นไปจนถึงนายทุน หรือกลุ่มคนที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า นักลงทุน โดยที่พวกเขาเหล่านั้นล้วนเชื่อว่า เอกสารสิทธิที่ซื้อขายได้อย่างเช่นโฉนดที่ดินนั้นได้มาโดยชอบ แต่ในความเป็นจริง ยังมีที่ดินอีกมากมายหลายแปลงที่ถูกฟอกด้วยกระบวนการทางกฎหมายในชั้นข้าราชการได้ "ทำผิดให้เป็นถูก" ขึ้นมาได้ ซึ่งที่สุดแล้ว นายทุนหรือนักลงทุนก็จะต้องยอมรับการตรวจสอบอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยง
มองในมุมของนักลงทุน อย่างที่ได้แสดงความวิตกกังวลดังกล่าวมานั้น ก็เป็นประเด็นที่รัฐบาล จะต้องพิจารณาใคร่ครวญเพื่อเลือกดำเนินการอย่างรอบคอบทั้งโดยหลักรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ โดยเฉพาะนักลงทุน รวมถึงบรรดาลูกค้าต่างๆ ซึ่งเข้าไปอยู่ในขบวนการกระทำความผิดด้วย เพราะถึงอย่างไร ถ้าหากที่ดินป่าเขาไม่เป็นอุปสงค์ของคนมีเงินมีหน้ามีตาในสังคมปัจจุบันแล้ว อุปทานคือ การกว้านซื้อที่ดินสวยมาจัดสรรก็คงไม่เกิด กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรยากจนที่แท้จริง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้อแยกปลาออกจากน้ำไปในคราวเดียวกัน
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 4 พ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.