1 พ.ค. 58 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตประธานรัฐสภา โพสต์เฟซบุ๊ก "Arthit Ourairat" โดยแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กของ "Pat Hemasuk" ซึ่งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการผูกขาดทางการค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ กับประเทศไทย โดยนำไปเปรียบเทียบกับประเทศเม็กซิโกและอาร์เจนตินาซึ่งถูกระบบการค้าทุนสูงเข้าถล่มอุตสาหกรรมเกษตรจนล่มสลายมาแล้ว
นอกจากนี้ผู้เขียนยังตำหนิไปถึงรัฐบาลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่าน รวมไปถึงรัฐบาลทหารในปัจจุบัน ที่ไม่สามารถออกกฎหมายจัดการกับระบบผูกขาด ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนตั้งแต่ชนชั้นรากหญ้าไปจนถึงคนเมือง และหากรัฐบาลยังเป็นแบบนี้ต่อไป คาดว่าสักวันหนึ่งประชาชนอาจต้องจับมือกันลุกขึ้นมาจัดการธุรกิจผูกขาดกันเอง
ระบุข้อความดังนี้
ระบบการค้าที่ไร้จริยธรรมหวังเพียงผลกำไรนั้นจะทำลายสังคมไม่ต่างกับฝูงตั๊กแตนที่ลงกินไร่จนหมดแล้วบินจากไปกินไร่อื่นต่อ แต่ถ้าเป็นการค้าที่ไม่ได้ข้ามชาติแล้วยังใช้ระบบฝูงตั๊กแตนกินไร่ในการทำธุรกิจ ฝูงตั๊กแตนจะต้องอดตายไปพร้อมกับไร่นั้น
ซีพี ก็เช่นกัน ถ้ากินประเทศไทยจนหมดแล้วก็คงต้องตายไปพร้อมกับประเทศ เพราะ ซีพี เองเคยผันตัวเองออกไปทำธุรกิจข้ามชาติแล้วไปไม่รอด เพราะรัฐบาลประเทศนั้นๆ ต่างก็ดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดขึ้นในประเทศของตัวเอง ถ้าผิดจากแนวทางถนัดของ ซีพี ก็จะแข่งขันแบบเป็นธรรมกับใครไม่เป็น
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงประเทศเม็กซิโกและอาร์เจนตินาที่โดนระบบการค้าทุนสูงเข้าถล่มอุตสาหกรรมเกษตรของตัวเองจนล่มสลายมาแล้ว จนทำให้เกษตรกรกลายมาเป็นแรงงานราคาถูกไร้อนาคตจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจโดยอำนาจทุนที่เหนือกว่าเข้ากำหนดตลาดจนเกษตรกรรายย่อยอยู่ไม่ได้ หลายสิบปีผ่านไปทั้งชุมชนและวัฒนธรรมของประเทศเปลี่ยนไปแบบที่เรียกกลับมาเหมือนเดิมอีกไม่ได้ บ้านแตกสาแหรกขาด คนหนุ่มสาวในบ้านต้องออกไปขายแรงงานทิ้งเด็กและคนแก่ไว้ที่บ้านแทนที่จะทำการเกษตรเหมือนสมัยเก่าอยู่กันครบหน้ากับครอบครัว
มันคืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยอำนาจทุนที่เหนือกว่าสมคบกับนักการเมืองที่ไม่ทำหน้าที่ปกป้องประชาชนของตัวเอง ทำลายรากฐานของประเทศจนสังคมดั่งเดิมของประชาชนอยู่ไม่ได้
ทุกวันนี้ประเทศไทยกับเม็กซิโกจะคล้ายกันที่สินค้าการเกษตรถูกคุมตลาดจากบริษัทที่ผูกขาด จนทำให้เกษตรกรกลายเป็นกรรมกรแรงงานบนที่ดินของตัวเอง เม็ดพันธุ์ แม่พันธุ์ ปุ๋ย อาหารสัตว์ ยาฆ่าแมลง จนถึงการบังคับทำสัญญาขายผลผลิตที่เกือบไม่เหลือเงินกำไร ขณะที่สังคมพื้นบ้านของเกษตรกรอ่อนแอลงไปทุกขณะ บริษัทผูกขาดก็กำไรมากขึ้นจนกลายเป็นบริษัทอันดับหนึ่งของประเทศที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องเกรงใจ
ทั้งที่รัฐบาลเองก็สามารถออกกฎหมายผูกขาดทางการค้าออกมาใช้ปกป้องประชาชนได้ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่ออกมาทำกฎหมายนี้เพื่อบังคับใช้เพื่อหยุดการปล้นประชาชนทั้งประเทศแบบผูกขาด
ในสังคมเมืองเองก็ใช่ว่าจะรอดพ้นจากการผูกขาดโดยบริษัทใหญ่แบบนี้ ในเม็กซิโกเองห้างสรรพสินค้าใหญ่อย่างวอลล์มาร์ทเข้าไปผูกขาดการค้าปลีกค้าส่งไปจนคลุมทั้งพื้นที่จนหมด ไม่ต่างอะไรกับที่ห้างสรรพสินค้าแคร์ฟูเข้าครองการค้าปลีกและส่งของอาร์เจนตินา จนมีอำนาจผูกขาดโดยสมบูรณ์ที่สามารถกำหนดส่วนแบ่งทางกำไร 85%-15% ระหว่างห้างและเกษตรกรหรือผู้ค้าส่งสินค้าเข้าห้างจนเกษตรกรและผู้ค้ารายย่อยอยู่ไม่ได้
ทุกวันนี้สังคมเมืองของประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน ผู้ค้ารายย่อยถึงกับต้องปิดตัวเองลงทั้งหมดเมื่อมีร้านสะดวกซื้อของ ซีพี เข้าไปตั้ง ซึ่งกินตลาดเข้าไประดับล่างจนถึงร้านอาหารที่ต้องสู้กับอาหารกล่อง ไปจนแม้แต่รถเข็นหมูปิ้งก็ยังต้องสะเทือนที่ร้านสะดวกซื้อของ ซีพี ก็ขายหมูปิ้งเช่นกัน แม้กระทั่งธุรกิจพื้นฐานแบบซักรีด ซีพี ก็เข้าไปจับตลาดในร้านสะดวกซื้ออีกแล้ว อุตสาหกรรมพื้นฐานหลายอย่างที่ส่งสินค้าเข้าไปขายก็โดนแย่งตลาดโดยมีของที่ห้างโลตัสและซีพี ผลิตติดตราของตัวเองออกมาแข่งบนหิ้งเดียวกันแต่ราคาถูกกว่า แล้วไล่สินค้ายี่ห้อดั่งเดิมออกไปวางที่หิ้งหลังร้านแทน
เวลานี้แม็กโคร ก็โดนซื้อจาก ซีพี ไปเรียบร้อยแล้ว เทศโก้โลตัสมีข่าวออกมาครึ่งปีว่ากำลังดีลซื้อ จะบอกว่าการค้าส่งและค้าปลีกเกือบทั้งประเทศ อยู่ในกำมือของบริษัทเดียวก็ว่าได้ การแข่งขันราคาสินค้าก็หมดไป จะตั้งราคาบวกกำไรอย่างไรก็ได้เพราะทุกอย่างอยู่ในมือหมดแล้วไม่ต่างกับเม็กซิโกและอาร์เจนตินา นอกจากธุรกิจการสื่อสาร ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์นับล้านหมายเลข เคเบิลทีวีรายใหญ่ที่สุด เวลานี้ ซีพี บุกเข้าจับธุรกิจ ลอจิสติกส์ส่งของแข่งกับไปรษณีย์ไทย และกำลังจะมีธนาคารของตัวเองที่ทำธุรกรรมการเงินได้ในร้านสะดวกซื้อตลอด 24 ชั่วโมง สามารถออกเครดิตการจับจ่ายได้จนถึงระดับล่าง และในเวลานี้กำลังมีความสนใจจะเข้าไปจับการลงทุนในระบบรถไฟระบบใหม่ที่กำลังจะสร้างอีก
ประเทศไทยยังเหลืออะไรอีก ตั้งแต่สังคมพื้นฐานเกษตรกรก็โดน ซีพี เข้าคุมกลไกทั้งหมดตั้งแต่ การผลิต การตลาด ทั้งซื้อและขาย จนเกษตรกรกลายเป็นกรรมกรราคาถูกรับจ้างปลูกหรือผลิตในที่ดินของตัวเอง สังคมพื้นฐานในเมืองก็โดนแทรกแซงการค้าปลีกจนไม่เหลือร้านค้าปลีกประจำถิ่นอีกต่อไปแล้ว สังคมพื้นฐานอุตสาหกรรมการผลิตรายย่อยก็โดนแทรกแซงจากการกีดกันสินค้า ลอกเลียนสินค้าออกขายแข่ง แม้กระทั่ง ถล่มราคาขายถูกกว่าทุนจนรายย่อยอยู่ไม่ได้ แล้วก็ขึ้นราคากลับสู่ปกติเมื่อไร้คู่แข่งแล้ว
รวมถึงปัญหาทำลายสิ่งแวดล้อมสนับสนุนทางอ้อมให้เกษตรกรบุกพื้นที่ป่าชุมชนที่เป็นพื้นที่ภูเขาเพื่อปลูกข้าวโพดและเผาซากไร่เก่าจนปัญหาควันไฟกลายเป็นปัญหาใหญ่ แม้กระทั่งสนับสนุนประมงอวนรุนผิดกฎหมายทางอ้อมที่ทำลายตัวอ่อนของสัตว์น้ำโดยรับซื้อปลาเล็กปลาน้อยที่ยังไม่โตเต็มวัยมาเข้าโรงงานทำอาหารสัตว์
มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลและนักแสวงโชคทางการเมืองที่เปลี่ยนหน้ากันขึ้นมาบริหารประเทศจะมองไม่เห็นไม่รับรู้ผลกระทบทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง จากการผูกขาดการค้าของ ซีพี แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนจัดการกับปัญหาการผูกขาดอันนี้ ทั้งที่ประเทศเจริญแล้วที่มีกฎหมายดูแลประชาชนดีๆ เขามีกฎหมายป้องกันการผูกขาดการค้าทั้งนั้น ไม่ปล่อยให้บริษัทไหนหรือตระกูลใดกำอนาคตทางธุรกิจผูกขาดทั้งประเทศจนยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือ คนไทยมีเลือดนักสู้ไม่เหมือนคน เม็กซิกัน หรือ อาร์เจนตินา ที่คนไทยจะออกมาสู้ก่อนที่หลังจะชนฝา สักวันในเร็วๆ นี้ถ้า ซีพี ยังทำเรื่องเอาเปรียบสังคมออกมาเรื่อยๆ วันนั้นคนไทยอาจจะลุกขึ้นมาสู้กับ ซีพี ..... ถ้ารัฐบาลยังพึ่งไม่ได้ แม้แต่รัฐบาลทหารปัจจุบันนี้ก็ตาม ถ้าไม่จัดการเรื่องนี้ ผมคิดว่าประชาชนอาจจะต้องจับมือกันลุกขึ้นมาจัดการธุรกิจผูกขาดกันเอง
ต่อมาผู้เขียนได้โพสต์ข้อความในช่องแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง เนื่องจากได้รับคำชี้แจงจากบุคลากรของซีพีเกี่ยวกับกรณีการเข้าไปซื้อกิจการเทสโก้โลตัสของซีพี ระบุว่า มีคนที่ทำงานกับ ซีพี มาขอแก้ข่าวให้ข้อมูลว่าเวลานี้ดีลการซื้อโลตัสยังไม่จบ โลตัสยังไม่ใช่ของ ซีพี เพราะบริษัทแม่ยังตัดสินใจ ดังนั้นผมขอเพิ่มข้อมูลตามนี้ครับ
แต่ผมจะเพิ่มคำพูดของเจ้าสัวเมื่อตอนมีข่าวใหญ่ในดีลซื้อโลตัสว่า "แต่ถ้าหาก เทสโก้ โลตัส จะขาย ผมก็สนใจและพร้อมที่จะซื้อ เพราะนโยบายของผมคือ ตลาดในโลกนี้เป็นของซีพี วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของซีพี คนเก่งในโลกนี้เป็นของซีพี เงินในโลกนี้เป็นของซีพี แต่อยู่ที่ว่าเราใช้เป็นหรือเปล่า เขายอมให้เราใช้หรือเปล่า"
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 1 พ.ค. 2558