สารคดีเชิงข่าว โดย ภู เชียงดาว
ในขณะที่ผู้คนต้นน้ำปิง หลายกลุ่มให้ความสำคัญของผืนดิน ผืนป่า ต้นน้ำ และพยายามเกาะกลุ่มดำรงวิถีชุมชนที่อยู่ร่วมกับแม่น้ำปิงตอนบนเอาไว้อย่างยั่งยืน โดยมีการอนุรักษ์และฟื้นฟู ระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน ผ่านระบบวัฒนธรรม เหมืองฝาย และพิธีกรรม ความเชื่อ แต่ในขณะเดียวกัน ในเวลานี้ โลกเปลี่ยนไป ความคิดผู้คนต้นน้ำ ต่างกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี พุ่งเข้ามาในชุมชน ทำให้ฐานคิดแบบดั้งเดิมเปลี่ยน ทำให้ฐานการผลิตในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนจำต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย จากเดิมเป็นการทำการเกษตรเพื่อยังชีพ พออยู่พอกิน มีการทำนา ปลูกข้าวไว้กิน ก็กลายเป็นการปลูกพืชเพื่อการค้า โดยดูได้จาก การเปลี่ยนฐานการผลิต ของพืชเศรษฐกิจ หรือพืชเชิงเดี่ยว เช่น กะหล่ำ ผักกาดขาวปลี มะเขือสีม่วง มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดฝักอ่อน มันฝรั่ง แตงกวา มีการปลูกกันมากมายทั่วทุกหมู่บ้าน
จับตามองพืชเศรษฐกิจ ข้าวโพด ส้มเขียวหวาน ยางพารา
มีพื้นที่ปลูกขยายเพิ่มขึ้นบริเวณต้นน้ำปิงเชียงดาว
แต่มีพืชเศรษฐกิจ ที่น่าจับตามองมากที่สุด ก็คือ ปัจจุบัน ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว มีการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ได้แก่ ข้าวโพด ส้มเขียวหวาน และยางพารา ขยายเป็นพื้นที่วงกว้าง จนทำให้หลายคนวิตกกังวลกันว่า พืชเศรษฐกิจ 3 ตัวนี้ อาจจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบนในอนาคตอันใกล้
จากข้อมูลปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาว ระบุว่า ข้อมูลการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2555/2556 มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด ในเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน 2,1637ไร่ แต่พอมาถึงปี 2557 นี้ พบว่า ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ที่ลงทะเบียน ตั้งเดือนมีนาคม 2557 ถึงมกราคม 2558 นั้นมีมีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมดรวม 35,787 ไร่ โดยพื้นที่ตำบลเมืองนะ มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 18,687 ไร่ รองลงมาคือตำบลปิงโค้ง มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 9,200 ไร่ ซึ่งถือว่ามีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะข้อมูลปลูกส้มเขียวหวาน ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ปี 2553 ที่ผ่านมา นั้น พบว่า มีพื้นที่ปลูกทั้งหมดจำนวน 2,122 ไร่ ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวาน ทั้งหมด 76,762 ไร่ โดยอำเภอปลูกกันมากที่สุด ก็อยู่ในพื้นที่อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภอแม่อาย และอำเภอเชียงดาวนี่เอง ซึ่งกรณี อำเภอเชียงดาว นั้นถือว่าเป็นอำเภอเดียวที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ที่มีการปลูกส้มเขียวหวาน แน่นอนว่า การขยายตัวการปลูกส้มเขียวหวาน ในพื้นที่ต้นน้ำปิงเช่นนี้ ย่อมได้รับผลกระทบในหลายๆ ด้านด้วยกัน
จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ระบุถึงปัญหาการผลิตส้มเขียวหวาน ที่พบออกมาชัดเจนว่า 1. มีการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดจำนวนมาก ซึ่งสร้างปัญหาพบสารเคมีตกค้างในดินและปนเปื้อนในลำน้ำที่ประชาชนทั่วไปใช้อุปโภคบริโภค และสร้างมลภาวะด้านกลิ่นสารเคมีที่รบกวนประชาชนใกล้เคียง 2. เกษตรกรผู้ปลูกส้มแย่งชิงน้ำระหว่างกลุ่มผู้ปลูกรายใหญ่และรายย่อย เนื่องจากการกั้นลำเหมืองเพื่อเบี่ยงเบนน้ำเข้าสู่สวนตัวเอง 3. มีการตัดไม้ลำทายป่าเพื่อเปิดพื้นที่ปลูกส้มใหม่และมีการใช้ไม้ค้ำต้นส้มเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่าปีละ 120,000,000 ลำต่อปี ทำให้สมดุลสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง และ 4. ประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยใกล้สวนสุขภาพอ่อนแอ มีกลุ่มอาการของโรคที่คาดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากได้รับผิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช
นอกจากนั้น การปลูกยางพารา ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนเขตอำเภอเชียงดาว ก็เริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นตามลำดับ
จากข้อมูลการปลูกยางพารา ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ที่เกษตรกรลงทะเบียนไว้กับสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาว ในปี 2555 มีจำนวน 1,829 ไร่ แต่พอในปี 2557 นี้ พบว่า มีการปลูกยางพารา ทั้งหมด จำนวน 280 แปลง บนเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 3,475.03 ไร่ โดยพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุด คือ ตำบลเมืองนะ รองลงมาคือ ตำบลเชียงดาวตำบลปิงโค้ง และตำบลแม่นะ ตามลำดับ
ซึ่งเราค้นพบว่า สาเหตุการขยายตัวยางพาราในพื้นที่ต้นน้ำปิง เชียงดาว นั้นมาจาก “โครงการปลูกยางหนึ่งล้านไร่” ของภาครัฐ นั่นเอง
ในงานวิจัย “แนวทางการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตในการปลูกยางพาราที่เหมาะสมกับการพัฒนา เศรษฐกิจชุมชนของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตำบลเมืองนะอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุษบา อารีย์ มหาวิทยาลัยพายัพ ระบุไว้ว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตำบลเมืองนะและตำบลทุ่งข้าวพวง และได้เข้าร่วม“โครงการปลูกยางหนึ่งล้านไร่ ยกระดับรายได้ของเกษตรกร เพื่อความมั่นคง” ของกลุ่มเกษตรกรในภาคเหนือ เพื่อสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว โดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.)ได้ไปเข้าส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการปลูกยางพารา มีสภาพพื้นที่เป็นลักษณะสวนยางขนาดเล็ก มีขนาดระหว่าง 7 - 15 ไร่
ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้ชี้แรงจูงใจแก่เกษตรกร ให้เห็นถึงเม็ดเงินรายได้จากการปลูกยางพารา เป็นตัวนำว่า จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา มีรายได้อยู่ระหว่าง 15,001 – 20,000 บาทต่อราย ต่อเดือน ในงานวิจัย ยังระบุถึงสาเหตุที่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว ตัดสินใจเลือกอาชีพปลูกยางพาราก็เพราะต้นยางพารา ทนต่อสภาพภูมิอากาศ ตลาดมีความต้องการมาก ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและให้ผลตอบแทนสูงกว่าพืชชนิดอื่น
กระนั้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้วิเคราะห์ถึง จุดอ่อนของเกษตรกรกลุ่มนี้ว่า ไม่มีประสบการณ์การปลูกยางพารามาก่อน จึงทำให้ขาดข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนทางด้านการลงทุน เพราะขั้นตอนการปลูกและดูแลรักษาต้นยางพารา นั้นมีต้นทุนและค่าใช้จ่าย ดำเนินงานค่อนข้างสูงและต้องใช้ระยะเวลานานประมาณ 7 – 10 ปี ถึงจะกรีดน้ำยางได้ อีกทั้ง ค่าปุ๋ยยังคงมีราคาสูง การปลูกยางพารา ระยะ 1 – 6 ปีแรก ควรมีรายได้เสริม ดินในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ โดยจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยสูตร 20 – 10 - 12 นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องไฟไหม้ป่าสูงมาก อีกทั้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีการแยกส่วนเงินลงทุน รายรับ รายจ่าย กับความเป็นอยู่ของครัวเรือน ทำให้ไม่สามารถแยก รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไรหรือขาดทุนอย่างชัดเจน
สรุปแล้ว ถ้ามองภาพโดยรวมแล้ว มีแนวโน้มชัดเจนว่า พืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพียง 3 ชนิดนี้ มีการขยายพื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมาก (ซึ่งข้อมูลตรงนี้ ยังไม่ได้รวมพื้นที่ปลูกที่เกษตรกรอีกหลายราย ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเอาไว้) และสังเกตได้ว่า พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่เขตตำบลเมืองนะ ตำบลปิงโค้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำปิงของเชียงดาว แน่นอน นอกจากพื้นที่หลายแปลงจะอยู่ในพื้นที่ทำกินที่มีเอกสารสิทธิ์แล้ว แต่เมื่อมองภาพให้ชัดและเป็นจริง พืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ทั้งข้าวโพด สวนส้มเขียวหวาน และยางพารา นี้ย่อมสุ่มเสี่ยงและส่งผลต่อการขยายบุกรุกพื้นที่ป่า การลดลงของพื้นที่ป่าไม้เป็นอย่างมาก
อีกทั้ง เมื่อรวมไปถึง พืชเชิงเดี่ยวที่ปลูกในพื้นที่นาตามสองฟากฝั่งแม่น้ำปิง และลำน้ำสาขา อย่างเช่น กะหล่ำ ผักกาดขาวปลี มะเขือสีม่วง มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดฝักอ่อน มันฝรั่ง แตงกวา ซึ่งถึงแม้จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอายุสั้น แต่ก็ล้วนเป็นพืชซึ่งมีการใช้สารเคมีกันอย่างต่อเนื่องและรุนแรง จึงย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำทั้งน้ำในลำน้ำสาขาและสายน้ำแม่ปิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เผยการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว
ทำให้เกษตรกรป่วย ล้มตาย หลังใช้สารเคมีกันอย่างรุนแรง
หลังจากที่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน และลำห้วยสาขา ได้หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว แน่นอน พืชเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความต้องการในการใช้น้ำและมีการบำรุงรักษาด้วยสารเคมีในปริมาณที่มาก และที่น่าเป็นห่วงก็คือ การปลูกพืชเหล่านี้ ทำให้ใช้สารเคมีกันอย่างรุนแรง จนสุดท้ายส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของเกษตรกรผู้ปลูกพืชอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยกตัวอย่าง กรณีฝ่ายสาธารณสุข เทศบาลตำบลปิงโค้ง ได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมสุขภาพเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช” โดยมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารพิษตกค้างในกลุ่มเกษตรกร ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ในพื้นที่หมู่บ้านแม่ป๋าม หมู่ที่ 3 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา พบว่า จากการสุ่มตัวอย่างเกษตรกร 100 ราย ตรวจพบสารพิษตกค้างในร่างกายและเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยมากถึง 91 ราย มีเพียง 9 รายเท่านั้นที่ปลอดภัย ซึ่งถือว่า หลังจากเกษตรกรในพื้นที่ต้นน้ำปิงเชียงดาวได้เปลี่ยนระบบการผลิต จากเกษตรเพื่อยังชีพ มาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ได้มีพฤติกรรมในการใช้สารเคมีกันอย่างรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด
ฝ่ายสาธารณสุข เทศบาลตำบลปิงโค้ง จัดทำโครงการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารพิษตกค้างในกลุ่มเกษตรบ้านแม่ป๋าม หมู่ที่ 3 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
และมีอีกหลายชุมชนที่ตั้งอยู่ระหว่างหุบเขาและแม่น้ำปิง ของ อ.เชียงดาว เราจะมองเห็นความเปลี่ยนที่เข้ามาในชุมชน อย่างเห็นได้ชัด จากทุ่งนาข้าวกลายเป็นสวนมะเขือสีม่วง ที่ตลบอบอวลด้วยกลิ่นของยาฆ่าแมลง ที่ชาวบ้านเร่งปลูก เร่งใส่สารเคมี ป้องกันแมลง เร่งใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อให้ผลผลิตโตทันกำหนดตามความต้องการ เพื่อส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อถึงที่นาที่สวนกันเลย
กรณี หมู่บ้านโป่งอาง ต.เมืองนะ และหมู่บ้านห้วยเป้า ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบัน หลายครอบครัวต่างหันไปมุ่งพึ่งระบบเกษตรเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านโป่งอางและบ้านห้วยเป้า ได้หันไปปลูกมะเขือสีม่วง ซึ่งพืชชนิดนี้ จะต้องใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณที่มาก โดยจะฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ทุกๆ วัน วันละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย จนทำให้มีผลทางด้านสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน กระทั่งบางคนตรวจพบสารพิษตกค้างในร่างกาย บางรายร่างกายถึงกับช็อค ต้องรีบทำการรักษาโดยเร่งด่วน บางรายถึงขั้นเสียชีวิต
“ชาวสวน พ่นยา พ่นสารเคมี จนโบโดยังไม่ทันชำรุด แต่คนนั้นชำรุดต้องเข้าโรงซ่อมโรงหมอก่อนแล้ว พวกเขาไม่กลัวตาย เพราะแบกความตายติดอยู่กลางหลังนั่นแล้ว...” ลุงชน เสาร์คำ ปราชญ์ท้องถิ่น บ้านห้วยเป้า บอกเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าจริงจัง
ลุงชน เสาร์คำ ปราชญ์ท้องถิ่น บ้านห้วยเป้า
ลุงชน บอกอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้ ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้ามาตรวจสารพิษในเส้นเลือดในร่างกายของคนในหมู่บ้าน ซึ่งพบว่า 100 คน มี 60 คนที่มีสารพิษอยู่ในร่างกายและอยู่ในขีดอันตราย มีอีก 30 คนกำลังเริ่มเป็น และมีเพียง 10 คนเท่านั้นที่ตรวจไม่พบสารพิษในร่างกาย
เช่นเดียวกับ กรณี น้องๆ เยาวชน ค.คนต้นน้ำปิง ได้ลงไปคุยกับชาวสวนเพื่อสำรวจข้อมูลมาประกอบรายงาน ท่ามกลางกลิ่นฉุนโชยมา เด็กๆ ถามหาที่มาของกลิ่นบางอะไรบางอย่าง ซึ่งกลิ่นเหม็นเข้าจมูกอย่างแรง และเมื่อเดินไปบริเวณริมน้ำพบขยะ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ติดสติกเกอร์ว่า “กรัมม๊อกโซน ยาอันตราย ฆ่าหญ้า จึงรู้ที่มาของกลิ่นที่โชยเข้าจมูก
น้องๆ เยาวชน ได้ถามชาวสวนคนหนึ่งว่า “ของเหล่านี้ เขาเอามาทำอะไร ทำไมถึงทิ้งอย่างนี้ แล้วจะเป็นอันตรายต่อพืช ผัก และน้ำที่ไหลผ่านที่นาเหล่านี้หรือไม่” ชาวสวนตอบเพียงว่า “ทุกวันนี้ไม่ใช้ไม่ได้ แมลง วัชพืชมีมาก กำจัดไม่ไหว และนับวันจะใช้ในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ”
ซึ่งหลายคนได้ยินได้ฟังเช่นนี้ ต่างรู้สึกไม่สบายใจ และเริ่มรู้สึกว่าชีวิตเริ่มไม่ปลอดภัย
หรือกรณีหมู่บ้านป่าตึงงาม หมู่ที่ 14 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ นั้นก็เช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านนั้นผ่านมาหลายยุคด้วยกัน ตั้งแต่ยุคการอพยพคนจากที่อื่นเข้ามาหมู่บ้านในพื้นที่ จนมาสู่ยุคการเข้ามาสัมปทานไม้ ของบริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า ประเทศอังกฤษ จากนั้น มาสู่ยุคนโยบายรัฐจะเอาคนออกจากป่า ในช่วงปี พ.ศ.2540-2545 และล่าสุด เมื่อเข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจเสรี มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างเช่น กะหล่ำ ผักกาดขาว ข้าวโพด ยางพารา กันมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ซึ่งเมื่อมาถึงตรงนี้ เวลานี้ ยุคนี้ อาจมีเกษตรกรหลายคนพยายามศึกษาเรียนรู้และยอมรับกับความเป็นจริง เกษตรกรเกือบทุกหลังคาเรือน ยอมรับว่า โทษภัยของการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวแบบนี้นั้นน่ากลัวและอันตรายถึงชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยอมรับความเป็นจริงว่า ทุกวันนี้ “เงิน” กลายเป็นปัจจัยหลักสำหรับทุกคนไปแล้ว ไม่ว่าสังคมเมือง หรือสังคมชนบท แม้กระทั่งชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ทุกอย่างต้องพึ่งพาระบบกลไกการตลาดและเงินทั้งสิ้น นั่นทำให้เกษตรกรบางคนที่เคยปลูกพืชเพื่อกิน ทำไร่หมุนเวียน ต้องหันกลับไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อป้อนให้กับตลาด เข้าสู่ระบบทุน โดยหวังเพื่อให้ได้ “เงิน” ให้มากและเร็วที่สุด จนทุกคนหลงลืมใส่ใจดูแลสุขภาพและห่วงใยชีวิตของตัวเองไปหมดสิ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เรายังพอมองเห็นอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ เริ่มมีชาวบ้าน หลายหมู่บ้าน ในพื้นที่ เขตลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว ได้พยายามรวมกลุ่มและหันมาทบทวนรากเหง้าของตนเอง มานั่งถกวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงปัญหาที่กำลังได้รับผลกระทบ และพยายามหาทางออกร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของพืชเศรษฐกิจ ที่ยิ่งปลูก ยิ่งจน ยิ่งเป็นหนี้ และสุขภาพยิ่งอ่อนแอและชำรุดทรุดโทรม ซึ่งในเวลานี้ เราจะเห็นว่า มีหลายครอบครัว เริ่มเริ่มลดการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว รวมทั้งลดการใช้สารเคมี ก่อนหันกลับไปปลูกพืชไร่หมุนเวียน ปลูกพืชเพื่อพออยู่พอกิน เหมือนในอดีตกันมากขึ้นตามลำดับ
เด็กๆ เยาวชนคนต้นน้ำ ร่วมกันค้นหารากเหง้า ภูมิปัญญา
“กินน้ำห้วยเดียวกัน ก็ต้องช่วยกันดูแลรักษา” ด้วยความคิดเหล่านี้ จึงเกิดโครงการศึกษาวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายบนสายน้ำแม่ปิง กรณีศึกษาลุ่มน้ำห้วยหกถึงลุ่มน้ำซุ้มตอนปลาย ต.เมืองนะ และ ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ขึ้นมา โดยได้รับงบสนับสนุนจากโครงการนักมานุษวิทยาเดินดิน ของ ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร งานนี้มี น.ส.นุจิรัตน์ ปิวคำ เป็นหัวหน้าโครงการฯ และมีผู้นำชุมชน ปราชญ์ผู้รู้ บ้านห้วยเป้า บ้านห้วยไส้ และบ้านโป่งอาง รวมทั้งเด็ก เยาวชนในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ร่วมกันทำงานวิจัยท้องถิ่นในครั้งนี้
น.ส.นุจิรัตน์ ปิวคำ หัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงว่า เป็นที่รู้ๆ กันว่า ที่ผ่านมา กระแสสังคมและการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเริ่มรุกคืบเข้ามา ทำให้วิถีของชุมชนที่ดำรงอยู่กับสายน้ำแม่ปิงบริเวณผืนป่าต้นน้ำ ต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นการรุกคืบของพืชเศรษฐกิจทั้งบริเวณเนินเขามีการขยายตัวของข้าวโพด และยางพารา ส่งผลต่อการขยายบุกรุกพื้นที่ป่า การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำทั้งน้ำในลำน้ำสาขาและสายน้ำแม่ปิง รวมทั้งการรุกคืบของพืชเศรษฐกิจที่ราบลุ่มน้ำ จากระบบการทำนาเดิมเริ่มลดลงหันมาปลูกพืชอย่างอื่นทดแทนเช่น มะเขือสีม่วง มันสำปะหลัง ข้าวโพดฟักอ่อน กระเทียม เป็นต้น
“ซึ่งพืชเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความต้องการในการใช้น้ำและการบำรุงรักษาด้วยสารเคมีในปริมาณที่มาก ส่งผลทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำ และส่งผลต่อคุณภาพน้ำ ที่สำคัญ พอเข้าสู่ฤดูฝนก็จะเกิดปัญหาน้ำหลาก เกิดการชะล้างหน้าดิน เกิดการทับถมตะกอนในลำน้ำสาขาและลำน้ำแม่ปิง สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเป็นอย่างมาก”
นุจิรัตน์ ปิวคำ หน.โครงการศึกษาวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายบนสายน้ำแม่ปิงฯ
ลุงชน เสาร์คำ ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านห้วยเป้า ต.ทุ่งข้าวพวง กำลังบอกเล่าเรื่องราวเหมืองฝาย ให้เยาวชน
ที่น่าสนใจของโครงการนี้ ก็คือได้เปิดพื้นที่ให้ เด็ก เยาวชน และผู้นำชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยเอาฐานวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเราได้สร้างน้องๆ เยาวชนในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน เป็นนักมานุษยวิทยาเดินดิน พากันลงพื้นที่ สำรวจข้อมูลชุมชน สัมภาษณ์ผู้นำ ปราชญ์ชาวบ้าน เรียนรู้ในเรื่องของประวัตศาสตร์ชุมชน ระบบเหมืองฝาย พิธีกรรม วัฒนธรรม ความเชื่อ และระบบการผลิตการเกษตรที่เกี่ยวข้องในการใช้น้ำ จากนั้น น้องๆ เยาวชนได้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ แล้วช่วยกันจัดทำแผนที่เดินดินกันง่ายๆ แต่มีประโยชน์ต่อชุมชน
ในรอบปีที่ผ่านมา จะมีกิจกรรมให้กับนักมานุษยวิทยาเดินดิน รุ่นเยาว์ อย่างเช่น มีการพาน้องๆ เยาวชน ลงพื้นที่สำรวจพันธุ์ปลาในลำน้ำห้วยหก ลำน้ำซุ้ม และแม่น้ำปิงในชุมชนของตน ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านและเชี่ยวชาญเรื่องการหาปลา โดยมีสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำวิธีการสำรวจและบันทึกข้อมูลพันธุ์ปลา จนทำให้น้องๆ ทุกคนตื่นเต้นที่ได้ลงน้ำจับปลา แถมยังได้ความรู้ติดตัวอีกด้วย
สำรวจพบพันธุ์ปลาในแม่น้ำปิง และแม่น้ำสาขา มีมากกว่า 21 ชนิด
จากการสำรวจพันธุ์ปลาในแม่น้ำปิง และลำห้วยสาขา ในเบื้องต้นพบว่า มีพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำมากถึง 21 ชนิดด้วยกัน โดยมีพันธุ์ปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด ได้แก่ ปลาข้างลาย ปลามะหาว ปลาไฟดับ ปลาไกละ และปลาแล็ด ซึ่งปลาส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามซอกหินผาและรูดินตามริมฝั่ง บ้างก็อาศัยอยู่ใต้ต้นไคร้ริมฝั่งในช่วงน้ำหลากน้ำนองในฤดูฝน ปลาทุกชนิดส่วนใหญ่จะกินอาหารจำพวก ตะไคร่น้ำ ไคร่หิน ขี้เตาหรือสาหร่าย หนอนหรือไข่มด ลูกมะเดื่อ มูลสัตว์และไส้เดือน และมีการวางไข่ในช่วงระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย.ของทุกปี
ในพื้นที่หมู่บ้านโป่งอาง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนต้นน้ำปิง ที่มี 3 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ คนพื้นเมือง ไทยใหญ่ และปกาเกอะญอ อาศัยอยู่รวมกัน และต่างมีความผูกพันกับธรรมชาติมาอย่างแนบแน่นยาวนาน ท่ามกลางขุนเขา ผืนป่าและสายน้ำปิง
ลุงลภ เชียงจันทร์ แก่ฝายลุงลภ บ้านห้วยไส้ กำลังอธิบายพันธุ์ปลาในแม่น้ำปิงและลำห้วยสาขา ให้เยาวชนฟัง
ในลำน้ำปิงบริเวณบ้านโป่งอาง ยังมี ‘อี่โอ๋น’ หรือลูกอ๊อดตัวอวบอ้วนใหญ่มาก ซึ่งอี่โอ๋นสายพันธุ์นี้จะอยู่บริเวณแม่น้ำปิงแถวบ้านโป่งอางเท่านั้น และชาวบ้านจะพากันลงไปช้อนเอาในช่วงเดือน พ.ย.- ม.ค.ของทุกปี แม้ว่าชาวบ้านจะนำมาเป็นอาหารและนำไปขายเป็นรายได้เสริมให้กับพ่อค้าแม่ค้า ที่มารอรับซื้อถึงในหมู่บ้าน แต่เป็นที่แปลกใจและน่าสนใจว่า ในแต่ละปี จำนวนอี่โอ๋นไม่ลดหายหรือสูญพันธุ์ แต่กลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งทำให้หลายคนชี้ให้เห็นว่า ลำห้วยสาขาและแม่น้ำปิงตอนบนที่เชียงดาวนี้ยังคงมีระบบนิเวศน์ มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
นายสง่า แนะบือ ผู้ช่วยกำนันตำบลเมืองนะ บอกเล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านโป่งอาง จะมีรายได้กับอี่โอ๋น นี่เยอะมากในแต่ละปี แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นเพียง 3 เดือน แต่พอเราได้ลองคำนวณกันเล่นๆ ว่าอี่โอ๋น นั้นมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 140 บาท โดยวันหนึ่งชาวบ้านพากันไปจับมาได้รวมกัน ประมาณ 40 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเท่ากับว่าชาวบ้านมีรายได้รวมกันวันหนึ่งประมาณ 5,600 บาท ดังนั้น ในรอบ 3 เดือน ชาวบ้านโป่งอาง มีรายได้จากการขายอี่โอ๋น มากถึง 504,000 บาทกันเลยทีเดียว ซึ่งยังไม่ได้นับรายได้จากพืชผัก ปลา หรือของป่า”
ในปี 2556 ที่ผ่านมา ชาวบ้านโป่งอาง ยังได้ร่วมกันศึกษาแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ซึ่งการสำรวจเบื้องต้น พบว่า มีพืชผักที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ทั้งหมด 44 ชนิด โดยแบ่งเป็นพืชผักจากป่า 24 ชนิด และพืชผักพื้นบ้านที่ขึ้นตามริมห้วย พืชผักที่ชาวบ้านปลูกเองอีก 20 ชนิด โดยเฉพาะพืชผักที่หาได้ตามป่าใช้สอยและป่าต้นน้ำ เช่น ผักกูด ผักสีเสียด ผักเชียงดา ผักฮ้วน ได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้เป็นกอบเป็นกำ
ในการสำรวจ ยังพบว่า ในป่ารอบๆ ชุมชนโป่งอาง มีเห็ด ซึ่งกลายเป็นทั้งอาหารให้กับครอบครัว และเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านที่เก็บของป่าขาย มีมากมายมากกว่า 25 ชนิด เช่น เห็ดโคน เห็ดแดง เห็ดซาง เห็ดหอมป่า เห็ดลม เห็ดห้า เห็ดถอบ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังพบว่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำปิง ยังมีไม้ไผ่และหน่อไม้ ที่ชาวบ้านสามารถนำมารับประทานและใช้ประโยชน์ได้ถึง 10 ชนิด คือ หน่อไม้ไร่ ไม้ข้าวหลาม หน่อไม้หก หน่อไม้บง หน่อไม้ซาง หน่อไม้หวาน เป็นต้น ในขณะลำต้นไม้ไผ่ ชาวบ้านยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น นำมาจักสานตะกร้า ทำรั้วบ้าน ทำฝาบ้านเรือน ทำข้าวหลามขาย ทำหลักเสา เป็นต้น
ซึ่งชุมชนบ้านโป่งอาง และชุมชนที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนหนึ่ง ที่พยายามจะบอกสังคมข้างนอกได้รับรู้ว่า แม้ว่าวิถีคนต้นน้ำ ในห้วงเวลานี้ จะมาถึงยุคในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้คนส่วนใหญ่มีระบบคิดเปลี่ยนไป ฐานการผลิตเริ่มเปลี่ยนไป เหมือนกับว่า ขาข้างหนึ่งนั้นติดกับหล่มโคลนของระบบทุน ที่มีเงินเป็นตัวดึงดูด แต่อีกขาหนึ่ง พวกเขายังคงยืนอยู่บนรากเหง้า มีวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ จากดิน น้ำ ป่า อย่างสมดุลเกื้อกูลและพึ่งพากันอยู่อย่างนั้น
แน่นอนว่า เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ผู้คนต้นน้ำปิงในแต่ละพื้นที่ ย่อมมีสิทธิที่จะคิดที่จะเลือกวิถีการดำรงอยู่ด้วยตัวของเขาเอง ว่าที่สุดแล้ว จะอยู่อย่างไรให้ชีวิตและชุมชนมีความมั่นคงและยั่งยืน
ที่มา : ประชาธรรม วันที่ 19 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.