"หลังจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกสั่งชะลอทำให้การปฏิรูปภาษีของคลังทั้งระบบ ต้องชะงักตามไปด้วย เพราะภาษีทุกเรื่องมีความพัวพันกันไปหมด และข่าวภาษีที่ผ่านมา ทำให้ฐานเสียงความนิยมในรัฐบาลลดลงไปพอสมควรเพราะคนรู้สึกว่าต้องควักเงินจ่ายภาษีเพิ่ม จึงต้องติดตามว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะเดินหน้าปฏิรูปภาษีต่อไปอย่างไร ขณะที่มีคำสั่งให้คนคลังทำเรื่องภาษีให้เงียบที่สุดจนกว่าเรื่องจะผ่านครม.และระหว่างก็ต้องงดให้ข่าวเรื่องภาษี"
ตีฆ้องร้องป่าวเรื่องการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลัง มาตั้งแต่เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่สุดท้ายแผนปฏิรูปภาษีต้องสะดุดกึก เพราะมีเสียงคัดค้านที่หนักหน่วงกรณีเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เดิมทีร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบ และส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สชน.) ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2558 แต่สุดท้ายถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้ชะลอนำเสนอ ครม.ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเมื่อวันที่ 12 มีนาคม
- รวมภาษีสรรพสามิตรอเก้อ
ภาษีตัวต่อมาที่ต้องชะลอตามภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือ การรวมภาษีของกรมสรรพสามิต 7 ฉบับให้เหลือฉบับเดียว จากเดิมมีกำหนดเข้า ครม.หลังภาษีที่ดิน ซึ่งเรื่องได้จ่อรอเข้า ครม.ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่สุดท้ายต้องรอไปก่อน เพราะกฎหมายสรรพสามิตใหม่ที่จะปรับวิธีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่เป็นใช้อิงราคาขายปลีกแนะนำ จากปัจจุบันใช้ราคาหน้าโรงงาน และราคาขายส่งช่วงสุดท้ายในการคิดภาษี ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาสินค้าที่นำมาคิดภาษีปรับเพิ่มขึ้น 30% ช่วงนั้นมีข่าวว่าสินค้าอาจปรับเพิ่มขึ้นตามภาษี ทั้งที่กรมสรรพสามิตเสนอฝ่ายนโยบายแล้วว่าจะต้องมีการปรับลดอัตราภาษีในสินค้าหลักๆ อาทิ ยาสูบ น้ำมัน รถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลง เพื่อเป็นการดูแลประชาชน
แต่ในเมื่อในเรื่องภาษียังเป็นเรื่องที่แสลงใจคนในรัฐบาล ทำให้กระทรวงการคลังต้องถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ และวางกลยุทธ์ในการเสนอภาษีใหม่ โดยมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปภาษีขึ้นมาเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งมีตัวแทนทั้งข้าราชการในกระทรวงการคลัง และตัวแทนจากภาคเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการ มีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยคณะกรรมการปฏิรูปภาษีจะเข้ามาพิจารณาการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังทำไว้แล้วอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่การนับ 1 กันใหม่ แต่แผนทั้งหมดต้องล่าช้าออกไปอีกเพราะคณะกรรมการปฏิรูปมีประชุมเดือนละครั้งเท่านั้น ที่ผ่านมาประชุมไปแล้วเพียง 2 ครั้ง
- รอจังหวะเดินหน้าภาษีที่ดิน
แม้ภาษีที่ดินจะถูกเบรก นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าจะพยายามผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในรัฐบาลชุดนี้ และสามารถเสนอกฎหมายนี้ได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ เหตุผลที่ต้องเร่งผลักดันกฎหมายนี้ เพราะรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ ดังนั้น สามารถทำอะไรในสิ่งที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำไม่ได้ ซึ่งกฎหมายนี้ถูกเสนอมาจากข้าราชการกระทรวงการคลังมาตั้งแต่ปี 2539 และเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุดเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลประชาธิปัตย์เมื่อช่วงปี 2553 แต่ก็เกิดการยุบสภา ทำให้กฎหมายนี้ต้องมาเริ่มต้นใหม่
การให้ความเห็นของนายสมหมายนั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจาก พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังงดให้ข่าวเรื่องภาษี จนกว่าจะผ่าน ครม. เพราะบทเรียนจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกพูดถึงทุกวันก่อนเข้า ครม. น่าจะสิ่งสำคัญที่ทำให้นายกฯต้องสั่งเบรกการพูดถึงเรื่องภาษี
- สศค.ชี้ไทยเก็บภาษีต่ำ
ในระหว่างที่กระทรวงการคลังผลักดันภาษีที่ดินมีกลุ่มผู้คัดค้านว่าประเทศไทยจัดเก็บภาษีสูงมาก เรื่องนี้ "นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยืนยันว่า ภาระภาษีที่คนไทยจ่ายโดยรวมถือว่ายังอยู่ระดับที่ต่ำโดยพบว่าการจัดเก็บภาษีของไทยอยู่ที่ 20.6% ของจีดีพี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี ที่อยู่ในระดับ 40.1% ของจีดีพี และค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 24.5% ของจีดีพี ทั้งนี้ หากเรียงลำดับจากประเทศที่มีสัดส่วนดังกล่าวจากสูงไปต่ำแล้ว จะพบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 153 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในลำดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน
"ไทยยังต้องมีการพัฒนาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก ขณะที่ภาระภาษีที่คนไทยจ่ายโดยรวมถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นเองก็เก็บได้น้อย และรัฐบาลส่วนกลางยังต้องจัดสรรเงินปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ไปให้ท้องถิ่น ซึ่งคลังยังหวังว่าภาษีที่ดินจะถูกหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะภาษีนี้จะเป็นเครื่องมือในการจัดหารายได้ของท้องถิ่นที่สำคัญ" นายกฤษฎากล่าว
- ลุ้นปฏิรูปภาษี24เรื่อง
จริงๆ แล้วในแผนปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังนั้นได้มีการเตรียมไว้ทั้งหมด 24 เรื่อง แบ่งเป็นส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว 7-8 เรื่อง อาทิ ปรับลดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งเสริมการลงทุน ทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต ปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น ต่ออายุอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) 7% จากเพดาน 10% จนถึง 30 กันยายน 2558 โดยมีเรื่องใหญ่ที่อยู่ในขั้นการดำเนินการคือ ภาษีมรดกที่อยู่ในชั้นของการพิจารณา สนช. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ส่วนที่ยังไม่ได้เสนอไปยังรัฐบาล และอยู่ในขั้นของการพิจารณาจากกระทรวงการคลัง อาทิ การปรับขั้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลเป็นการถาวร ทบทวนแวตให้เหมาะสมว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ การใช้ระบบเงินโอนให้คนจน (NIT) ขยายฐานภาษีมลพิษ เก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าที่ทำลายสุขภาพ อาทิ เครื่องดื่มที่มีความหวาน น้ำมันหล่อลื่น ปรับปรุงภาษีศุลกากรให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทางการค้า
- ตอบโจทย์4เรื่องใหญ่
การปฏิรูปภาษีของไทยนั้นคนในกระทรวงการคลังมองว่าจำเป็น เพราะสามารถตอบโจทย์ใน 4 เรื่อง คือ 1.สร้างฐานรายได้ภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว เพราะหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย รายได้ของรัฐบาลไทยยังต่ำกว่า จึงจำเป็นที่ต้องเพิ่มรายได้ เพื่อนำเงินไปเพิ่มสวัสดิการทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุขให้กับคนไทยได้เพิ่มขึ้น รวมถึงนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2-3 ล้านล้านบาท ของกระทรวงคมนาคม
2.การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยภาษีที่เป็นตัวหลักในเรื่องนี้ คือ ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีมลพิษทางน้ำ และ NIT ซึ่งขณะนี้ใกล้สำเร็จเพียง 1 เรื่องคือ ภาษีมรดก แต่ถูกเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมที่เสนอไปจากกระทรวงการคลังพอสมควร โดยเฉพาะในเรื่องของมูลค่ามรดกที่จะเริ่มเก็บภาษีจากเดิมกระทรวงการคลังเสนอที่มรดกตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป แต่ในชั้นของกรรมาธิการได้โหวตให้เพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ขึ้นไป
3.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและดึงดูดการลงทุน ในส่วนนี้ได้มีการดำเนินการไปมากพอสมควร ทั้งปรับปรุงภาษีเอสเอ็มอี ปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นกว่า 2,000 รายการ มีผลไปเมื่อ 1 มกราคม 2558 ยังเหลือที่ต้องดำเนินการ อาทิ ปรับปรุงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้สอดคล้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ลดลง การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% เป็นการถาวร
4.เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ต้องดำเนินการทั้งในเรื่อง เร่งรัดการจัดทำระบบภาษีอากรระหว่างกรม การใส่ข้อมูลรายได้ส่วนบุคคลเข้าไปในบัตรประชาชน ทบทวนจัดกลุ่มเก็บภาษีใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ เพราะปัจจุบันรัฐบาลยังต้องการรายได้จากภาษีไปใช้ในการพัฒนาประเทศ นำไปใช้ในโครงการประชานิยมต่างๆ รวมถึงนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น หากจะปล่อยให้การจัดเก็บรายได้รับโตปีละ 6-7% อย่างที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายไว้คงจะเป็นเรื่องที่ยาก โดยมีการพูดถึงการเพิ่มรายได้ของประเทศให้เป็น 3-4 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันจัดเก็บที่ 2.2-2.3 ล้านล้านบาท ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า
แค่เฉพาะภาษี ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ 2-2.5 แสนล้านบาท รายได้ที่เกิดขึ้นตรงนี้ จะช่วยลดภาระที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณไปสนับสนุนให้กับท้องถิ่นปีละกว่า 2 แสนล้านบาท
- รอประกาศต่ออายุแวต7%
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อจากนี้ไปภาษีที่ต้องดำเนินการอย่างแน่นอน คือต่ออายุแวต 7% ออกไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี เพราะเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการประกาศไปแล้วว่าจะต้องต่ออายุแวต 7% เนื่องจากเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ในภาวะที่ไม่เอื้อต่อการขึ้นแวต โดยการประกาศต่ออายุแวตนั้นน่าจะชัดเจนว่าจะกี่ปีช่วงเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ทันกับที่จะหมดอายุเดือนกันยายน 2558
ส่วนภาษีอื่นๆ นั้นคงต้องรอรัฐบาลว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ เพราะการชะลอภาษีที่ดิน เพราะรัฐบาลกลัวคะแนนความนิยมหาย เนื่องจากในช่วงที่มีข่าวเรื่องเก็บภาษีทั้งในเรื่องโรงเรียนกวดวิชา ภาษีคณะบุคคล ทำให้คนชั้นกลางที่เป็นฐานเสียงสำคัญของ คสช.เริ่มไม่พอใจรัฐบาล ทำให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องเสนอในที่ประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช.ให้ชะลอเรื่องนี้ไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด
จากนั้นจึงมีคำสั่งให้ดำเนินการในเรื่องภาษีให้เงียบที่สุด จนกว่าจะเข้า ครม.
สุดท้ายต้องมาดูกันว่ารัฐบาลจะปล่อยให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปเงียบๆ หรือปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเลยพร้อมๆ กับการหมดวาระของรัฐบาลชุดนี้!!
ที่มา : มติชน วันที่ 17 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.