โดย...สุกัญญา สังฆธรรม
นาโนไฟแนนซ์พระเอกตัวจริง
ดึงรากหญ้าพ้นบ่วงกับดักหนี้
เคี่ยวจนใกล้งวดแล้วสำหรับ “นาโนไฟแนนซ์”ว่าที่ขวัญใจมหาชนชาวรากหญ้าคนใหม่ล่าสุดที่รัฐบาลออกตัวแรงผลักดันบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ พร้อมฟันธงว่าเป็นแหล่งเงินที่เข้าถึงผู้มีรายได้น้อยทุกคนแน่นอนรวมถึงน่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ด้วย อีกไม่นานเกินรอน่าจะได้แจ้งเกิดได้แน่
หลังจากที่ต้องตะลึงงันว่าปัจจุบันคนไทยมีหนี้นอกระบบกว่า 5 ล้านล้านบาทเมื่อปี 57 ที่ผ่านมา ครัวเรือนในประเทศมีรายได้ไม่พอจ่ายสูงถึง 8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของครัวเรือนไทยทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือน ซึ่งแต่ละครัวเรือนมีหนี้นอกระบบสูงถึงครัวเรือนละ 600,000 บาทถึง 1.5 ล้านบาท ที่สำคัญแนวโน้มภาระหนี้ยังคงมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ
เอกชนแห่ยื่นขออนุญาต
ผลงานล่าสุดนี้มีผู้ประกอบการท้องถิ่นกว่า 70 รายสนใจที่จะเสนอตัวเองเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ปล่อยกู้นาโนฯโดยได้สอบถามถึงกฎ กติกามารยาทเพื่อเตรียมตัวลงสนามแข่ง ซึ่งก็มีผู้ที่พร้อมก่อนยื่นเรื่องสมัครลงแข่งขันมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วถึง 17 ราย เบื้องต้น มี 3 รายที่ได้ไฟเขียวจาก ธปท.แล้ว
นั่นคือบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์1979 จำกัด (มหาชน) ตามด้วยบริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด ผู้ให้บริการทางด้านการเงินครบวงจรทั้งสินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อบุคคลเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ปิดท้ายด้วย บริษัท แมคคาเลกรุ๊พ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 3 แห่งดังกล่าวนี้ ธปท.ได้ส่งไม้ต่อไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แล้ว รอเพียงแต่ให้ “สมหมาย ภาษี” ขุนคลังจรดปลายปากกาอนุมัติให้เปิดร้านปล่อยกู้ได้ทันทีถ้าไม่มีอะไรผิดโผภายในเดือน เม.ย.นี้ได้เห็นแน่
ขณะเดียวกันยังมีผู้สมัครอีก 4 รายที่ ธปท.กำลังพิจารณาอยู่คือ บริษัท วัฒนาธนสินทรัพย์,บริษัททิฐิวิสุทธิ์,บริษัทกรุงไทยออโต้ลีส และบริษัทไอร่า แอนด์ไอฟุล จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ตบเท้ายื่นเอกสารฝุ่นตลบที่ ธปท.อีกกว่า 10 ราย
ต้นเหตุหนี้นอกระบบ
ต้นสายปลายเหตุของหนี้นอกระบบที่ต้องนำมาเคี่ยวจนได้นาโนไฟแนนซ์เป็นยานั้นก็คือ ผู้กู้ไม่ดูความสามารถของตัวเองในการผ่อนชำระหนี้ แถมมีพฤติกรรม “หมุนหนี้” ด้วยการกู้เงินจากแหล่งหนึ่งไปคืนให้เจ้าหนี้เงินกู้อีกแห่งหนึ่ง เหนืออื่นใดคือ ไม่มีวินัยทางการเงิน แล้วยังใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามกระแสบริโภคนิยมจนทำให้รายได้ที่มีไม่พอกับรายจ่าย นานวันขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทับถมจนทำให้ผู้กู้มีหนี้พอกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่กัดกร่อนรายได้ให้ง่อนแง่นลงไปทุกขณะ
ปั้นพระเอกนาโนไฟแนนซ์
ประมวลต้นน้ำถึงปลายน้ำแล้วรัฐบาลมองว่า “นาโนไฟแนนซ์” จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบได้แน่ แต่ยอมรับว่าคงเป็นไปอย่างเชื่องช้าเนื่องจากผู้ประกอบการที่เข้ามาประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์นั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กไม่มีความคุ้นเคยกับลูกหนี้เหมือนกับเจ้าหนี้นอกระบบ
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเหล่านี้นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของรัฐอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังต้องเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้ลูกหนี้ใหม่ตามประสา “มือใหม่” ด้วย ทำให้คาดว่าช่วง 2–3 ปีแรกนี้น่าจะปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ระดับ 35,000-60,000ล้านบาท โดยมีลูกหนี้หลักมาจาก 2 กลุ่มคือ กลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่ต้องการกลับเข้ามาอยู่ในระบบด้วยดอกเบี้ยที่ถูกลงและกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้วแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
ประเมินว่ากลุ่มหนี้นอกระบบจะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ 0.5%-1% ของหนี้นอกระบบทั้งหมดหรือ 25,000-50,000 ล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะกลุ่มลูกหนี้นอกระบบส่วนใหญ่เลือกที่จะกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบเนื่องจากมีความคุ้นเคยกันทำให้เอ่ยปากกู้ยืมเงินกันได้ง่ายและไม่มีขั้นตอนทางเอกสารที่ยุ่งยากเหมือนกับการกู้ยืมเงินในระบบแม้จะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่เลือกที่จะเข้ามากู้เงินในระบบอาจจะต้องการแค่กู้เงินไปใช้ชำระหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียวแทนที่จะนำไปใช้หมุนเวียนประกอบอาชีพ สุดท้ายเงินที่ได้มาก็จะหมดไปและต้องหันกลับไปพึ่งหนี้นอกระบบอีกครั้ง
สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้วแต่ถูกจัดอยู่ในชั้นสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือเรียกง่าย ๆ ว่า ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เกินกว่า30วันแต่ยังไม่เกิน90วัน กลุ่มนี้ต้องการกู้เงินเพื่อใช้ในการหมุนหนี้ที่มีอยู่ในระบบแค่เพราะไม่ให้ตนเองมีชื่อเสียติดอยู่ใน “เครดิตบูโร” หรือถูกขึ้นบัญชีดำจนไม่สามารถที่จะกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบได้อีก โดยปัจจุบันยอดหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้มีสูงถึง 32,700ล้านบาท ณ สิ้นปี 57 และประเมินว่าลูกหนี้เหล่านี้จะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 10,000ล้านบาท หรือ 30%ของสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ
กติกานาโนไฟแนนซ์
เงื่อนไขในการที่จะขอกู้เงินจากผู้ให้บริการนาโนไฟแนนซ์นั้นจำง่าย ๆ ว่า กู้ได้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปีซึ่งถือว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบและไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน ไม่จำเป็นต้องมีรายได้ประจำ ไม่จำเป็นต้องมีสลิปเงินเดือนหรือเคยเดินบัญชีกับธนาคารมาก่อน รวมถึงหากผู้กู้เคยติดเครดิตบูโรก็ยังสามารถอนุโลมผ่อนผันให้ได้ ด้านของผู้ประกอบการที่ต้องการจะประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้นต้องมีใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจด้วยและต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า50ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือดี/อี ไม่เกิน7เท่า และต้องพิจารณาความเสี่ยงเอง หากมีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นรัฐบาลไม่รับผิดชอบ!
เสน่ห์อยู่ที่เสี่ยงสูงรายได้สูง
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ ผู้ประกอบการ ’หน้าใหม่“ ในวงการนาโนไฟแนนซ์ซึ่งจำนวนมากเป็น ’หน้าเก่า“ ของสินเชื่อภูธรต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าธุรกิจนี้มีความเสี่ยงสูงเพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันแต่ขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่จัดเก็บได้ถึงอัตรา 36% ต่อปีก็ถือว่าเย้ายวนใจมิใช่น้อยและเป็นแรงดึงดูดทำให้พร้อมที่จะกระโดดเข้าร่วมแข่งขันในสมรภูมินี้ โดยต้องระมัดระวังตัวเองด้วย เช่น ช่วงเริ่มต้นอาจเน้นปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายเดิมที่ต้องการขอสินเชื่อเพื่อหมุนเวียนทำธุรกิจมากกว่าลูกค้ารายใหม่เป็นหลักไปก่อนเมื่อคุ้นเคยกันแล้วค่อยขยายฐาน
ในส่วนของ “เมืองไทยลีสซิ่ง” ประกาศว่าบริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ไปแล้วคาดว่าจะรู้ผลในช่วงไตรมาส2นี้แน่นอนและมีแผนการทำงานในช่วงแรกด้วยการเน้นขยายไปยังฐานลูกค้าเดิมของบริษัทนั่นคือต่อยอดจากธุรกิจจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีอยู่เดิมให้มีความหลากหลายขึ้นซึ่งปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้ากว่า600,000ราย ในจำนวนนี้มีกว่า 40% ที่เป็นลูกค้าผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กก็น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของนาโนไฟแนนซ์ได้ โดยรูปแบบการทำธุรกิจจะคล้ายคลึงกับไมโครไฟแนนซ์เดิมของบริษัทคือผ่านช่องทางสาขาโดยสิ้นปี57มีสาขา 500แห่ง และปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก300แห่งทั่วประเทศ รวมถึงใช้ทีมงานในท้องถิ่นเป็นหลักในการอนุมัติสินเชื่อและติดตามการชำระหนี้กว่า 1,800คน
คุมคุณภาพหนี้
ฝั่ง “ฐิติกร” ผู้นำตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ก็เปิดตัวสู้ศึกครั้งนี้ด้วย โดยไม่กังวลว่าจะทำให้มีหนี้เสียเพิ่มหรือไม่ เพราะเน้นให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพลูกหนี้เป็นหลัก โดยตั้งเป้าหมายคุมหนี้เสียไม่ให้เกิน 5%ขณะที่เกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทฯก็ครบถ้วน ทั้งหนี้สินต่อทุนแค่1เท่ากว่าไม่มีปัญหาเรื่องทุนจดทะเบียนเพราะมีถึง 500ล้านบาทและจะใช้สาขา 90แห่งครอบคลุม53 จังหวัดเป็นตัวออกทำตลาดรวมทั้งมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีก 5 แห่ง แต่จะปล่อยกู้ได้เท่าใดนั้นต้องดูแนวโน้มความต้องการของลูกค้าก่อนว่าสนใจที่จะขอสินเชื่อกันมากน้อยแค่ไหนแต่คงไม่นานเกินรอ เพราะมั่นใจว่าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะกลายเป็นตัวหลักในการเพิ่มรายได้ให้หลายบริษัท
ด้าน “ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด หรือเงินติดล้อ” ก็กำลังรอลุ้นว่าจะได้ไฟเขียวจาก ธปท.เมื่อใดหลังจากที่ยื่นขอใบอนุญาตฯไปแล้วโดยมีแผนว่าจะใช้สินเชื่อตลาดสดเข้าไปเป็นตัวหลักในการขยายตลาดนาโนไฟแนนซ์เพราะปัจจุบันบริษัทให้บริการแก่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดทั้งหมด45แห่งครอบคลุมลูกค้ารายย่อย2,500ราย ซึ่งวิธีการทำงานนั้นก็จะส่งทีมงานที่มีกว่า100คน เข้าไปประจำพื้นที่ทุกวัน เจ้าหน้าที่แต่ละคนจะมีเครื่องมือทำงานทั้ง แท็บเล็ต พรินเตอร์ บลูทูธ ทำให้อนุมัติสินเชื่อและรับชำระหนี้ได้ทันที
คำตอบสุดท้ายคือผู้ใช้บริการ
แม้ในฝั่งของภาครัฐและผู้ให้บริการดูจะมั่นอกมั่นใจกับการนับหนึ่งนาโนไฟแนนซ์ครั้งนี้ แต่จากประสบการณ์ของโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบหลาย ๆ โครงการ ที่หลาย ๆ รัฐบาล ดำเนินการมาก่อนหน้านี้เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ชี้ขาดที่แท้จริงว่าธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะอยู่หรือจะไปก็คือ “ผู้ใช้บริการ” ว่าตอบรับมากแค่ไหนและเชื่อมั่นว่านาโนไฟแนนซ์จะเป็นทางเลือก ทางรอดในการเพิ่มสภาพคล่องหมุนเวียนให้ตัวเองและแก้ปัญหาหนี้สินที่เกินรับมือได้หรือไม่
ลองไปสอบถาม “ว่าที่ลูกค้า” ก็ยังพบทั้งผู้ที่เห็นบวกและเห็นลบ โดยผู้ที่มีความเห็นเชิงตอบรับอย่าง “วิภาวรรณ จำปาวงศ์” อายุ45ปีอาชีพขายอาหารตามสั่ง ระบุว่า การมีนาโนไฟแนนซ์ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เข้าถึงแหล่งเงินเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากถ้าไปกู้เงินนอกระบบต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยแพง แถมต้องเสี่ยงกับการถูกทวงถามหนี้ที่โหดจากเจ้าหนี้หากไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนด
แต่บางความเห็นก็ยังสะท้อนถึงการไม่เข้าถึงและความไม่มั่นใจต่อสินเชื่อประเภทนี้เช่น “บัว ขันวิมาร” อายุ47ปี อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างกล่าวว่า ไม่รู้จักนาโนไฟแนนซ์ว่าเป็นอย่างไรแต่ถ้าเป็นการเปิดให้กู้เงินเหมือนบริการเงินด่วนจริง ก็พร้อมที่จะใช้บริการเพราะเชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินถูกลง แต่ทั้งนี้ ต้องดูเงื่อนไขและการชำระเงินในแต่ละงวดก่อนว่าชำระรายเดือนหรือรายวัน
“โดยปกติแล้วเวลามีปัญหาเงินไม่พอใช้ก็จะกู้เงินจากนายหน้าเงินกู้ที่เป็นแขก คิดดอกเบี้ย20%ต่อเดือนถือว่าสูงมาก แต่ก็ต้องกู้เพราะไม่รู้จะไปพึ่งเงินกู้ที่ไหนถ้าจะบอกว่าให้ไปกู้ที่แบงก์ก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งผมขับรถจักรยานยนต์หาเช้ากินค่ำได้เงินมา ก็เลี้ยงครอบครัวหมดเงินเก็บแทบจะไม่มีเหลือเลย”
สอดรับกับ “สมชาย จันทศร” อายุ 37 ปี พ่อค้าขายปลาในตลาดสดห้วยขวาง ระบุว่า ไม่เคยได้ยินชื่อนาโนไฟแนนซ์คืออะไรแต่ถ้าเป็นการปล่อยสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนต้องขอดูรายละเอียดก่อนว่าดอกเบี้ยที่ปล่อยถูกจริงหรือเปล่า เพราะปกติในตลาดสดก็มีนายทุนคนไทยและที่เป็นแขกปล่อยกู้อยู่แล้วคิดดอกเบี้ย 20% ซึ่งพ่อค้า-แม่ค้าที่กู้เงินต้องชำระเป็นรายวัน วันละ 300-400 บาท
ขณะที่ “นงค์นุช ถาวระ” อายุ 48 ปี แม่ค้าเขียงหมู ตลาดสดห้วยขวางขายหมูมากว่า 20 ปีมองว่า การสนับสนุนปล่อยกู้ของรัฐบาลแบบนี้จะทำให้ผู้ที่กู้นำเงินไปใช้ผิดประเภทหรือไปซื้อไอโฟน 6 หรือเปล่าเพราะคนไทยไม่มีวินัยทางการเงินหากกู้ไปแล้วประกอบอาชีพหรือขยายธุรกิจก็เป็นเรื่องดีแต่บางรายกู้ไปใช้จ่ายอย่างอื่น แล้วจะรู้ได้อย่างไร โดยแนวทางที่ดีที่สุดในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวคือต้องประหยัด รัดเข็มขัดไม่สร้างหนี้จนเกินตัว และลดรสนิยมลง เช่น ปกติกินปลาช่อนก็กินปลานิลแทน หรือจะกินซาซิมิทุกวันคงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ ต้องการให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพราะจะทำให้รู้รายได้ต่อวันจริง ๆ แล้วเป็นเท่าไหร่ เนื่องจากเห็นว่ากว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นจริงต้องใช้เวลา 1-2 ปี
ต้องพิสูจน์ของจริงระยะยาว
จากตารางเวลาที่ทางการกำหนดไว้และการเดินหน้าของผู้ประกอบการต่าง ๆ เชื่อว่านาโนไฟแนนซ์จะแจ้งเกิดและเริ่มให้บริการได้ในเร็ววันนี้ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่าด้วยวัตถุประสงค์ที่กำหนดกันไว้นั้นเป็นเรื่องที่ดีที่จะสนับสนุนให้ผู้ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อมีช่องทางเพิ่มขึ้นในการได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อประกอบอาชีพปลดเปลื้องภาระหนี้ที่ต้นทุนสูงและโหดเกินความจำเป็น
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาและดูแลอย่างต่อเนื่องไปคือ การคัดกรองให้ผู้ที่ตั้งใจจะประกอบธุรกิจจริง ๆ สมควรให้เป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อและสนับสนุนให้ธุรกิจที่ผู้ประกอบการใช้ทุนรอนจากนาโนไฟแนนซ์มาตั้งไข่นั้นเดินหน้าต่อไปได้ในระยะยาวเพื่อไม่ให้วงจรของคนรากหญ้าเป็นได้แค่คนล้มลุกคลุกคลานซ้ำซากเรื่อยไป
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปให้ความรู้ประชาชนเรื่องการประกอบอาชีพด้านการเงินและนำไปใช้กับชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ ไม่เช่นนั้น ต่อให้ทำมาหากินได้มาเท่าไหร่ ถ้าใช้ไม่เป็น พอเกิดเหตุสะดุดขึ้นมาก็ต้องวนเวียนกลับไปสู่การกู้หนี้ยืมสินทั้งจากในระบบและนอกระบบ กลายเป็นกับดักที่ฉุดเศรษฐกิจในภาพย่อยและภาพใหญ่ไม่ให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 17 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.