จากประเด็นปัญหาหมอกควันในภาคเหนือที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหาการค้าแรงงานทาสที่ทั่วโลกกำลังจับตามองการแก้ปัญหาของประเทศไทยนั้น เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายเห็นถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทำให้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเครือซีพีได้มีการจับมือกับภาครัฐเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปัญหาหมอกควันที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยว แต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีห่วงโซ่อุปทานสายยาว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขณะที่ NGO มอง MOU ดังกล่าวไม่ใช่ทางออก ชี้งบประมาณภาครัฐอย่างเดียว ต้องใช้เวลา 120 ปีแยกแยะพื้นที่ป่าพื้นที่ทำกินเพื่อป้องกันไฟป่า
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) ศูนย์ศึกษาความเป็นธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Thai Society of Environmental Journalists) และเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา จัดเวทีเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ปลาป่น ข้าวโพด หมอกควัน น้ำท่วม และอาหาร”
โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี นายเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) และรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายพชร แกล้วกล้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายไพสิฐ พานิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มเล็กน้อยวันนี้ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
นางสาวสฤณี ได้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมภายหลังเปิดตัวจากงานวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์ การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” ไปเมื่อ 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งโดยสรุปแล้วพื้นที่ที่พบว่าเป็นปัญหาในช่วง 2545-2556 มีการเพิ่มขึ้นถึง 109% โดยมีจำนวน 61% เป็นพื้นที่ป่า หากคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ข้อมูลถึงสาเหตุที่ต้องเผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยวว่า เป็นเพราะพื้นที่ดอนที่ทำการเพาะปลูกนั้นไม่สามารถทำการไถกลบได้เหมือนกับพื้นที่ราบ
ดังนั้นปัญหาเรื่องหมอกควันในวันนี้ก็เกิดจากการเพาะปลูกในพื้นที่ชันเป็นหลัก สำหรับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งถือเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ ลำดับต่อมาคือ 2 บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับซื้อผลผลิตรายใหญ่ในแถบนั้น คือ เบทาโกร และเครือซีพี ทั้ง 2 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40% และ 28% ตามลำดับ แต่ซีพีถือเป็นบริษัทเดียวที่ทำธุรกิจด้านการเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่การขายปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ไปจนถึงการรับซื้อ จึงถือเป็นเจ้าตลาดในพื้นที่
นางสาวสฤณี ยกตัวอย่างของหน่วยงานที่เป็นกรณีศึกษาจากต่างประเทศ อาทิ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ที่มีปัญหาว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจ่ายค่าตอบแทนให้เกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม จึงมีนำการสร้างมาตรฐานการรับซื้อมาแก้ปัญหา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำอาหารสัตว์ เช่นเดียวกันกับปลาป่น
จากทิศทางตลาดโลกอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังคงมีโอกาสในการขยายตัวค่อนข้างมาก จะเป็นปัจจัยกำหนดอุปสงค์ และอุทาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งโครงการ หรือนโยบายต่างๆ จากภาครัฐเองก็เป็นอีกส่วนในการช่วยกระตุ้นเพิ่มแรงจูงใจในการผลิตแก่เกษตรกรได้เช่นกัน ในโครงการรับจำนำข้าวโพด หรือโครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมาจากกิจกรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานทั้ง ปัญหาสุขภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิตปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ การนำเข้าสารเพื่อผลิตสารเคมีเกษตร ผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิต ผู้ปล่อยสินเชื่อ เกษตรกรที่เป็นผู้ทำการเพาะปลูก พ่อค้าคนกลางในพื้นที่ และโรงงานอาหารสัตว์ที่เป็นผู้กำหนดราคาปลายทาง
เมื่อดูทั้งระบบโรงงานผลิตอาหารสัตว์จะเป็นผู้กำหนดราคาและเงื่อนไขต่างๆ โดยที่ยังไม่ได้นำเอาประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาพิจารณาเป็นเงื่อนไขในการรับซื้อ ซึ่งจะแตกต่างจากอุตสาหกรรมปลาป่น ที่มีความตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม แรงงาน จนเริ่มมีกลไกบางอย่างให้บริษัทเองชนหลายแห่ง เข้าสู่ระบบมาตรฐานระดับโลก
“ในอุตสาหกรรมปลาป่น มีการสร้างแรงจูงใจในการรับซื้อผู้ขายที่ไม่รับซื้อวัตถุดิบมาจากเรือที่ทำลายทะเล โดยให้เกรดพรีเมียม ซึ่งเมื่อเทียบกับอุสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วยังไม่เห็นกลไกในรูปแบบนี้ ความพยายามยังไม่เท่า ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่”
และเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ซีพี ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่จะให้ความรู้เกษตรกรอย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้นในส่วนของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเช่นกัน นอกจากซีพีแล้ว เบทาโกเองก็รับทราบถึงปัญหาแล้ว แต่แนวทางการปฏิบัติอาจต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
“แต่ประเด็นที่จะต้องคุยให้ชัด ก็คือ สิ่งนี้เพียงพอต่อการแก้ปัญหาหรือไม่อย่างไร เนื่องจากคณะทำวิจัยของเราที่ไปดูเฉพาะป่าต้นน้ำนั้นเป็นพื้นที่ป่า ไม่น่าจะใช่พื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่ง ส.ป.ก.ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดในพื้นที่วิจัยของเรา ที่ จ.น่าน เพราะปัญหาหลักๆ ของที่น่านคือ การเข้าไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่ดอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้วแน่นอน”
ทางแก้นั้นหากคิดเร็วๆ ก็มีด้วยกันหลายทาง ในนาม “ป่าสาละ” ก็มองว่าการปรับปรุง พัฒนา“มาตรฐานการรับซื้อ” ที่คำนึงถึงผลกระทบนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และเป็นทิศทางที่จะต้องไป แต่การพัฒนามาตรฐานก็ต้องใช้เวลา และยังคงมีคำถามว่าจะทำอย่างไรสำหรับเกษตรกรที่ยังไม่มีทางเลือก ยังไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐาน
นางสาวสฤณี ได้ยกตัวอย่าง งานวิจัย เรื่อง “สร้างทางเลือกเกษตรกร หนีวงจรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”หมอกความเป็นปัญหาที่คาบเกี่ยวกับการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี และดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยลงไปดูโมเดลของชาวบ้านหลายๆ กลุ่มที่มีการหาพืชอื่นมาปลูกแทนข้าวโพด หรือดูรูปแบบจากต่างชาติ อาทิ โครงการ CAFE ของบริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ที่มีการปรับมาตรฐานการรับซื้อหลายระดับ ให้เกษตรกรสามารถเปลี่ยนผ่านมาสู่การทำตามมาตรฐานได้อย่างมั่นคง(อ่านเพิ่มเติมนักวิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ แก้วงจรอุบาทว์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับคำถามคนน่าน)
“ประเด็นในวันนี้ ทำให้นึกถึงอีกประเด็นหนึ่ง ในเรื่องการพัฒนามาตรฐานบริษัทก็มองว่ายังไงก็ต้องทำ ต้องผลักดันให้เกิดให้ได้ ซึ่งเรื่องของความตื่นตัว และการเรียกร้องของผู้บริโภคก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ แต่ในกรณีของข้าวโพดยังไม่เห็น ซึ่งอาจเป็นเพราะห่วงโซ่อุปทานมันยาวมาก เรากำลังพูดถึงวัตถุดิบที่นำมาเลี้ยงสัตว์ และอาหารสัตว์ก็เอามาเลี้ยงสัตว์ เป็นวัตถุดิบของวัตถุดิบ”
ในกรณีที่เกิดเรื่องที่ผู้บริโภคในต่างประเทศมีความตื่นตัว และออกมาเรียกร้องนั้น นางสาวสฤณี มีความเห็นว่า เป็นประเด็นมาจากเรื่องแรงงานทาส (แรงงานทาสบนเรือประมง) ซึ่งถือเป็นประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงมาก ทำให้แรงกดดันมาถึงผู้ผลิตอย่างรวดเร็ว เมื่อนำงานวิจัยที่ป่าสาละทำเกี่ยวกับปลาป่น มาเทียบกับงานวิจัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ทำออกมาไล่เลี่ยกัน เป็นประเด็นที่มองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
แต่จะเห็นได้ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้เป็นประเด็นของผู้บริโภคเท่าที่ควร แต่เมื่อมีประเด็นเรื่องการใช้แรงงานออกมากลับมีการตอบสนองที่มากกว่า เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าผลกระทบทางสังคม กับสิ่งแวดล้อม ความรุนแรงของปัญหาในมุมมองของผู้บริโภคยังไม่เท่ากัน ซึ่งก็เป็นโจทย์ใหญ่ว่า NGOs ควรจะต้องผลักดันประเด็นอย่างไรให้ผู้บริโภคมองเห็นความเชื่อมโยง เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานนั้นยาว
สำหรับกรณีการแก้ปัญหาหากมองจากระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจพบว่าไม่เพียงพอ แต่นางสาวสฤณี กล่าวว่า ตนอยากให้มองปัญหาในมุมกลับ ว่าปัญหาในลักษณะเช่นนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลยปัญหาก็อาจจะรุนแรงขึ้น เช่นกันด้วยสถานการณ์แบบนี้บริษัทที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีส่วนสร้างปัญหา
โจทย์ใหญ่คือแต่ละฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานจะช่วยกันแก้ปัญหาอย่างไร? บทบาทที่เหมาะสมคืออะไร? โดยที่เกษตรกรไม่เดือดร้อน ไม่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระหว่างนี้ก็ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ในการหาวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
ไฟป่ากับระบบงานรัฐ 120 ปี แยกแยะและกำหนดพื้นที่ป่า-พื้นที่ทำกิน
ด้านนายนายเดโช กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่องหมอกควันนั้นมีความคาบเกี่ยวกับปัญหาการรุปพื้นที่ป่าในการปลูกข้าวโพด โดยอันดับแรกนั้นจำเป็นจะต้องวิเคราะห์ และทำความเข้าใจกับ แหล่งกำเนิดหมอกควัน ว่ามาจากไหน ซึ่งจากรายงานวิจัยต่างๆ
เมื่อวิเคราะห์จากพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้จากภาพถ่ายดาวเทียม ในพื้นที่จ.เชียงใหม่ ทำให้เห็นสันส่วนว่า ปัญหาเกิดในพื้นที่ป่ามากกว่าพื้นที่การเกษตร โดยเกิดไฟไหม้ราว 2.8-3 ล้านไร่/ปี ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลของกรมป่าไม้ ที่ระบุว่า1-2 หมื่นไร่/ปี อันเป็นข้อมูลเฉพาะพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าไปทำการดับไฟ
โดยข้อมูลนี้รวมทั้งพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า ในจ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ 13 ล้านไร่ เฉลี่ยแต่ละปี โดยเริ่มจากปี 2553 มีอัตราการเกิดไฟไหม้เฉลี่ย 3 ล้านไร่/ปี เมื่อใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินควบคู่กับภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า เกิดไฟไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 20 พื้นที่ป่า ร้อยละ 80 และเมื่อดูความแตกต่างทางชีวมวลในแปลงเกษตรกรรมหลังปลูกข้าวโพดมีประมาณ 200 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนในแปลงป่ามีประมาณ 2,000 กิโลกรัม/ไร่ และในพื้นที่ถูกบุกรุกใหม่มีประมาณ 2-5 หมื่นกิโลกรัม/ไร่ ประเด็นปัญหา คือทำอย่างไรจะสามารถหยุดยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจได้อย่างไร
“บทเรียนของเราคือ การจัดการพื้นที่ป่าใน จ.เชียงใหม่มีประมาณ 10 ล้านไร่ แต่มีสถานีควบคุมไฟป่าเพียง 2 ล้านไร่ ที่เหลือไม่มีผู้จัดการ และในจำนวน 2 ล้านไร่นั้นก็ดูแลด้วยอัตรากำลังคน 1/6,500 ไร่ จึงเป็นเรื่องยากในการคาดหวังถึงประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา”
นายเดโช กล่าวต่อไปว่า ยังมีโจทย์ มีประเด็นอีกมากว่า ในพื้นที่ป่าที่ไม่มีผู้ดูแลจัดการจะบริหารจัดการอย่างไร ทั้งนี้ แนวทางที่ตน และเครือข่ายคิดว่าควรนำไปขยายผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายระดับ ประเด็นแรกคือ การแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าพูดมานาน แต่ไม่เคยทำสำเร็จ ด้วยปัญหากระบวนการทำงานปัจจุบัน โดยเฉพาะ ความสามารถในการแยกแยะและกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินและป่าไม่มีความคืบหน้า
“ยกตัวอย่าง จ.เชียงใหม่ มีข้อจำกัดในการสำรวจข้อมูลเพื่อบอกเกษตรกรในพื้นที่ป่ามีที่ดินทำกินเท่าไหร่และเหลือเป็นป่าเท่าไหร่ ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีเป้าหมายหมู่บ้านต้องดำเนินการ 1,200 ไร่ เพื่อสำรวจแยกแยะและป้องกันการบุกรุก แต่กรมป่าไม้ได้รับงบประมาณปีละ 10 หมู่บ้าน ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 120 ปี จึงจะสามารถจำแนกแยกแยะพื้นที่ได้ จึงเป็นปัญหาใหญ่พันไปพันมาไม่สามารถแก้ได้ หากยังคิด และทำภายใต้กรอบของระบบราชการเดิม ๆ ที่ผ่านมา”
นอกจากนี้นายเดโช กล่าวถึง วิธีการแก้ปัญหาหมอกควันโดยวิธีที่ใช้ในหลายประเทศ คือวิธีการ Early Burning โดยทยอยจัดการกำจัดเชื้อเพลิงโดยเผาอย่างถูกต้อง ในต้นฤดูที่มีใบไม้ร่วงหล่นมาก ซึ่งทำให้ช่วยลดปัญหาหมอกควันลงได้ จึงพบว่าโมเดลในการลดเชื้อเพลิงในพื้นทีป่าเต็งรังและพื้นที่เสี่ยง ร่วมกับสถานีควบคุมไฟป่า และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ บนดอยอินทนนท์ ก็พบว่าประสบความสำเร็จไม่ทำให้ไฟรุกลามในพื้นที่ป่าได้ และเห็นควรขยายผลต่อไป
ขณะเดียวกันประเด็นปัญหาดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในหลายภาคส่วน และกลุ่มชาวบ้าน ชาวเขาที่เฝ้าระวังไฟป่าในแต่ละพื้นที่นั้นก็เผชิญกับทัศนะในแง่ลบจากภายนอกว่าเป็นผู้ทำลายป่า และยังขาดงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ
“หากพูดถึงปัญหาไฟป่า หมอกควัน ผมคิดว่านักวิชาการ NGO และชาวบ้าน ได้ขับเคลื่อนในส่วนนี้มาพอสมควร และมีข้อเสนอว่าควรปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่เดือนมีนาคม เมษายน ก็ออกมาโวยวายครั้งหนึ่ง แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการให้เป็นระบบ”
มายาคติปัญหาหมอกควัน
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เรื่องหมอกควันและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ แต่การเริ่มแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่กลับชี้นิ้วไปยังท้องถิ่นและเกษตรกรรายย่อยว่าเป็นต้นแหตุหลักของปัญหาหมอกควัน และสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือ
“จากการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์หนึ่งก่อนหน้านี้นั้นไม่ได้ช่วยอะไรในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ (ปัญหาหมอกควัน) อย่างตรงไปตรงมา และที่สำคัญที่สุดการแถลงข่าวเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 ก็อาจไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตามที่มีการแถลง ผมก็ผิดหวังในส่วนราชการที่ในการแถลงข่าวเรื่องนี้เพราะไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจริงๆ”
ทั้งนี้มีมายาคติที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหมอกควันอยู่ 4 ประเด็น ได้แก่
1.มายาคติการสร้างข้อมูลว่าปัญหาหมอกควันเกิดจากประชาชนที่หาของป่า ในขณะนี้วิถีการผลิตเดิมของชุมชนที่ทำไร่หมุนเวียนรวมทั้งหาของป่าขณะนี้มีพื้นที่ลดลงทุกปี โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน ความเห็นของผู้ติดตามเรื่องนี้การลดลงของการปลูกพืชหมุนเวียนไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เป็นปัญหา ปัญหาดังกล่าวเริ่มเมื่อปี 2550 จากขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างชัดเจน
การแถลงข่าวของบริษัทเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 ไม่เป็นจริง โดยอ้างข้อมูลรายงานประจำปี 2557 ของศูนย์ควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ไฟป่าเกิดจากการหาของป่าและล่าสัตว์ 59% ส่วนปัญหาไฟป่าจากการเผาไร่มีเพียง 12% เท่านั้น จากพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้รวม 25,661 ไร่ในปี 2557 ด้านรายงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ภาคเหนือมีพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้เพียง 10,744 ไร่ ขณะที่เผาพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตพื้นที่สูงที่มีประมาณ 3.5 ล้านไร่
ปริมาณพื้นที่ปลูกข้าวโพด สัมพันธ์กับราคาข้าวโพดในตลาด และจุดที่เกิดไฟป่า หรือ Hot Spot ก็ผันตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูก การปลูกข้าวโพดในพื้นที่สูงจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดไฟป่า ไม่ใช่ผู้ทำไร่หมุนเวียน หรือผู้หาของป่า
2.มายาคติอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่เกี่ยวข้องกับการเผาไร่ข้าวโพด ตามคำแถลงข่าวของบริษัทฯ ในพิธีทำบันทึกข้อตกลงกับ ส.ป.ก. มีการอ้างถึงว่าบริษัทฯ ขายเมล็ดพันธุ์ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา ว่าสามารถคัดกรอง และเลือกที่จะไม่รับซื้อผลผลิตจากผู้ที่เผาตอซัง แต่ยังมีการผลิตข้าวโพด และผลผลิตอีกจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์โดยตรงมีธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมอยู่ด้วย
3.มายาคติบริษัทอาหารสัตว์ไม่ต้องรับผิดชอบปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน จากปัญหาหมอกควันที่บางส่วนไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการประเทศเพื่อนบ้านด้วย ด้วยนโยบายการส่งเสริมผลิตในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญาทำให้เกิดการผลักดันนโยบายและดำเนินกิจการอาหารสัตว์ในไทยที่มีการขยายการลงทุนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ว่าอย่างไรข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องถูกส่งมาผลิตอาหารสัตว์ในประเทศไทย ประกอบกับสัดส่วนรายได้ที่สำคัญของซีพีมากจากธุรกิจอาหารสัตว์กว่า 50% ดังนั้นจึงปฏิเสธความรับผิดชอบในส่วนนี้ไม่ได้
4.มายาคติ CSR ของบริษัทนำไปสู่การพึ่งตนเองและการเกษตรที่ยั่งยืน ความจริงที่เสนอไม่ได้ครบถ้วน นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ในแง่บริษัทอาจต้องยกประโยชน์ให้ แต่หน่วยงานราชการที่ร่วมมือด้วยยังไม่ใช่นำไปสู่การพึ่งตนเองและการผลิตอย่างยั่งยืนได้ นี่เป็นความล้มเหลวของภาครัฐ เพราะ การที่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้วทำการควบคุมระบบการผลิตยังไม่ใช่แนวทางทางแก้ปัญหาที่ถูกวิธี
ทางเลือกในการดำเนินการไปสู่เกษตรยั่งยืนมี 3 แนวทางที่ไม่ถูกพูดถึงคือ การสนับสนุนให้ทำเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่สูง โดยนำวัตถุดิบข้าวโพดมาเป็นอาหารสัตว์ที่เลี้ยงเอง ที่หน่วยงานรัฐจำเป็นต้องเข้าไปช่วยจัดระบบ หรือการทำไร่หมุนเวียน
ทางเลือกต่อมาคือ สนับสนุนให้เกษตรกรเก็บเมล็ดเพื่อทำพันธุ์เอง หรือเปลี่ยนมาผลิตข้าวโพดเมล็ดพันธุ์แทน เพื่อตัดกลไกระบบผูกขาด รวมไปถึงช่วยลดต้นทุนในการผลิต และทางเลือกสุดท้าย คือ การที่ผู้บริโภคเข้ามาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยหากผู้บริโภคไม่เห็นว่าแนวทางของรัฐ และเอกชนดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง ก็ควรใช้อำนาจในฐานะผู้บริโภคไม่สนับสนุนการผลิตรูปแบบดังกล่าวต่อไป
ที่มา : Thaipublica วันที่ 10 เม.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.