สำนักข่าว VOA Thai รายงานว่า คนชั้นกลางในเอเชียหันมานิยมอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น ทำให้อุปสงค์สำหรับอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผลิตจากข้าวสาลี เนื้อ และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า ภายในเวลา 15 ปีข้างหน้า สองในสามของคนชั้นกลางในโลกซึ่งเท่ากับ 3.3 พันล้านคน จะอยู่ในทวีปเอเชีย ในจำนวนนี้จะเป็นชาวจีน 1.8 พันล้านคน ขณะเดียวกัน ระดับรายได้ของคนชั้นกลางกำลังเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อรสนิยมความต้องการอาหารอย่างเห็นชัด เพราะเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเลือกอาหารรับประทานก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
Greg Harvey กรรมการผู้จัดการโรงโม่แป้งธัญพืช Interflour Group ในออสเตรเลีย บอกว่าอนาคตดูสดใสมากทีเดียวสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ข้าวสาลีและธัญพืชเป็นหลัก
นักธุรกิจชาวออสเตรเลียผู้นี้บอกว่า เมื่อมีคนชั้นกลางที่มีรายได้สูงพอที่จะเรียกร้องผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากธัญพืช โปรทีนจากเนื้อ และผลิตภัณฑ์นม การผลิตอาหารประเภทนี้ก็จะเจริญเติบโตอย่างแน่นอน
เป็นที่คาดกันด้วยว่า ในช่วง 20 ปีข้างหน้า จำนวนคนชั้นกลางในเอเชียยังจะเพิ่มขึ้นอีกหกเท่าตัว ในแอฟริกาอีกหนึ่งเท่าตัวครึ่ง และในตะวันออกกลางสองเท่าตัว ขณะเดียวกัน มีตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า ความต้องการข้าวต่อรายหัวประชากรโลกไม่เพิ่มขึ้น
Nick Reitmeier รองผู้จัดการใหญ่ของ Central Food Retail ในประเทศไทย ยืนยันการเปลี่ยนรสนิยมในอาหารและบอกว่าเห็นได้ชัดตามศูนย์การค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตว่ามีความต้องการอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น
รองผู้จัดการใหญ่ของ Central Food Retail บอกว่าขนมปังเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะขนมปัง sour dough ที่ดูผู้คนจะชอบรสชาติกันมากและพิถีพิถันช่างเลือกไปจนถึงแป้งที่ใช้ทำ ว่าต้องเป็นแป้งจากออสเตรียและญี่ปุ่น
ออสเตรเลียเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวสาลีสู่เอเชีย คู่แข่งคือ สหรัฐ แคนาดา และประเทศต่างๆในบริเวณทะเลดำ รวมทั้งตุรกีและยูเครน International Grains Council ประมาณว่าผลผลิตข้าวสาลีโลกในปีใหม่นี้ จะเพิ่มขึ้นจากปริมาณของปีที่แล้วเป็น 719 ล้านตัน
ส่วนปริมาณการผลิตข้าวสาลีของออสเตรเลียที่เพิ่งเผยแพร่ตัวเลขออกมาสำหรับปีปัจจุบัน คาดว่าจะได้ข้าวสาลีมากกว่า 24 ล้านตัน ในจำนวนนี้จะส่งออกราวๆ 18 ล้านตัน
Ron Storey ที่ปรึกษาของ Australian Crop Forecasters เห็นด้วยว่า รสนิยมในอาหารที่เปลี่ยนจากข้าวไปเป็นไก่และหมู และผลิตภัณฑ์นมดูจะเป็นตัวขับเคลื่อนอุปสงค์สำหรับข้าวสาลี เขาให้ความเห็นว่า คำถามสำหรับทางด้านอุปทานก็คือ จะผลิตได้พอกับความต้องการในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าหรือไม่
พ่อค้าข้าวสาลีไม่คิดว่าลำพังแต่ออสเตรเลียประเทศเดียว จะผลิตข้าวสาลีสนองตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ เป็นการเปิดทางให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบทะเลดำที่จะเข้าตลาดเอเชียได้ด้วย
ในเอเชียขณะนี้ รายงานระบุว่า ตลาดแป้งทำอาหารที่กำลังโตเร็ว คืออินโดนีเซีย ซึ่งนิยม pasta และขนมปัง ส่วนจีนต้องการข้าวมอลต์ไปผลิตเบียร์ และเมล็ดธัญพืชสำหรับอาหารสัตว์
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 6 เม.ย. 2558