ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่กับวิกฤตเศรษฐกิจปัญหาหนี้นอกระบบ นับตั้งแต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จากวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้ทุกประเทศต้องเผชิญกับความยากลำบากเข้าสู่วงจรแห่งความตกต่ำทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ ได้ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการโดยรวมของสินค้าและบริการในประเทศไทยแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนภาคเอกชน การบริโภค รายได้ภาษีของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งส่งผลให้ผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก (จุไรรัตน์ เจิมจรุง,2554 : 1) จากสภาพปัญหาวิกฤติที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ล้วนส่งผลให้คนไทย ถูกปลดออกจากงานและต้องประสบกับปัญหาหนี้สิน เนื่องจากไม่มีเงินซื้อปัจจัยสี่ เช่น อาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้จำเป็น ยารักษาโรค ใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว บางคนก็ต้องลักเล็กขโมยน้อยเพื่อประทังชีวิต และที่แย่ไปกว่านั้น บางคนก็ยังยึดติดกับลัทธิบริโภคนิยม เลือกใช้แต่สินค้า แบรนด์เนม สินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น สาเหตุเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเป็นหนี้นอกระบบและความยากจนที่เกิดขึ้นทั้งในเมืองและชนบท ปัญหาความยากจนในเมือง เช่น ไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดการยังชีพและรายได้ที่พอเพียง สภาพแวดล้อมไม่ดี เต็มไปด้วยอบายมุข เป็นต้น ซึ่งต่างไปจากคนจนในชนบทที่มีปัญหาไม่มีที่ทำกิน ไม่มีทุนในการประกอบอาชีพ ไม่มีงานทำ อับจน เกิดความคิดไร้ทางเลือก เป็นต้น แต่ทั้งคนในเมืองและชนบทที่ประสบปัญหาที่เหมือนกัน คือ ต่างก็อยู่ในภาวการณ์เป็นหนี้นอกระบบและเป็นหนี้ที่ยากที่จะหลุดพ้น หากกล่าวถึงหนี้นอกระบบ หลายคนอาจคิดว่าเป็นปัญหาของคนยากจนเท่านั้น แต่ปัจจุบันหนี้นอกระบบกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขรัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงเร่งจัดทำเป็นนโยบายภาครัฐและจัดทำให้เป็นวาระยุทธศาสตร์แห่งชาติ โดยการสร้างกระบวนการยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งหวังให้ลูกหนี้มีความสามารถชำระหนี้นอกระบบได้ หนี้นอกระบบจัดเป็นปัญหาทางการเงินของสังคมระดับประเทศ กล่าวคือ ประเทศไทยมีบุคคลจำนวนมากตกเข้าอยู่ในวงจรของหนี้นอกระบบที่เกิดจากนายทุน (เจ้าหนี้) ที่หาประโยชน์จากบุคคลผู้เดือดร้อนเงิน โดยนายทุนจะให้กู้ยืมเงินและคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด (ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 654 กำหนดว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”) ทำให้กลายเป็นหนี้จำนวนมากและมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไป จนกระทั่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระคืนต้นได้ สามารถทำได้เพียงชำระดอกเบี้ยที่ยืดอายุหนี้ไปวันๆเท่านั้น
หนี้นอกระบบ หมายถึง หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือสถาบันการเงินในระบบชุมชน หรือผู้ประกอบการธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
1. ก)สถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. ) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท. ) และธนาคารกรุงไทยจำกัด (ธ.กรุงไทย ) เป็นต้น
ข) ธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคลผู้ประกอบธุรกรรมการเงินอื่นๆ
2. สถาบันการเงินระบบชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนฟื้นฟูพัฒนาการเกษตร กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น
3. ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่
ก) ธุรกิจบัตรเครดิต หมายถึง การให้สินเชื่อเครดิตเพื่อซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการเบิกเงินสดล่วงหน้า
ข)ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย หมายถึง การให้กู้ยืม การรับซื้อ ซื้อลดหรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใดแก่บุคคลธรรมดาโดยมิได้ระบุวัตถุประสงค์หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการและไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปในการประกอบธุรกิจของตนเอง เช่น เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาเพื่อซื้อเครื่องจักรหรือเครื่องใช้สำนักงานของบริษัทจะไม่อยู่ภายใต้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มาของหนี้นอกระบบ
1.หนี้ที่เกิดจากการประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจ เป็นหนี้ที่เกิดจากผลประกอบการของธุรกิจไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง อาจเกิดจากผลพวงวิกฤตเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ภัยธรรมชาติ ภัยการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง
2.หนี้จากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เป็นหนี้ที่เกิดจากผู้มีรายได้เพียงพอต่อการบริโภควันต่อวัน แต่มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพและขาดรายได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุต้องทำให้เข้ารักษาตัว ทุพพลภาพ พิการ หรือ เจ็บป่วย บางครั้งเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว ทำให้ครอบครัวขาดเงินสดในทันที
3.หนี้จากผู้ไม่มีวินัยทางการเงิน เป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักการตั้งงบประมาณการใช้จ่ายทำให้รายได้ที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ในอนาคต
4.หนี้จากการหลงประพฤติผิด เป็นหนี้ที่เกิดจากการเล่นการพนัน อบายมุข
โครงการแก้ไขปัญหานอกระบบ ถือเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ที่จะแก้ไขความยากจนของประชาชนที่มีหนี้นอกระบบ เพื่อนำไปสู่การลดหนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าการกู้ยืมเงินนอกระบบผู้ให้จะคิดดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่ากฎหมายกำหนด อัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้นั้น มีตั้งแต่ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 จนถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน เป็นการปล่อยกู้ที่ผิดกฎหมายถือเป็นการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เพราะบุคคลธรรมดาไม่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคล ปัญหาหนี้นอกระบบมีรูปแบบหลากหลาย ส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนขาดความรู้ทางกฎหมาย การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เช่น เมื่อถูกฟ้องแล้วไม่ไปศาล ไม่มีทนายความ และจบลงด้วยการยอมความทำให้เสียเปรียบเจ้าหนี้ สาเหตุส่วนใหญ่คือสภาวะเศรษฐกิจ หรือเหตุจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงิน แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงต้องเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ ยังพบว่าจากภาวะทางสังคมที่ไม่เท่ากัน ทำให้เจ้าหนี้เอารัดเอาเปรียบด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้ ลูกหนี้ต้องอยู่ในภาวะจำยอม และถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ทำสัญญากู้ยืมอย่างไม่เป็นธรรม และยังทำนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินทำให้ลูกหนี้ต้องรับภาระหนี้เกินกว่าความเป็นจริง เมื่อใดที่ลูกหนี้ผิดนัดจะฟ้องบังคับคดี ทำให้ต้องมีการยึดทรัพย์สินที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเพราะลูกหนี้ไม่มีทางเลือก "เจ้าหนี้ใช้วิธีการทุกรูปแบบ ทำเป็นกระบวนการในการปล่อยเงินกู้นอกระบบ หรือแก๊งหมวกกันน็อก ซึ่งปล่อยกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เก็บดอกเบี้ยรายวัน หากลูกหนี้ผิดนัดกลุ่มเจ้าหนี้จะใช้อำนาจข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ขู่เอาทรัพย์สิน บางรายลูกหนี้ต้องส่งดอกเบี้ยเป็นรายวันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีเงินต้นมาชำระซึ่งเรียกกันว่า “ดอกลอย” เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วอาจมากกว่าจำนวนเงินต้นที่กู้มาถึง 10 เท่า หากลูกหนี้ผิดนัดกลุ่มขบวนการนี้จะไม่ใช้ช่องทางกฎหมายในการฟ้องร้องคดี แต่มีพฤติการณ์ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ทำร้ายร่างกาย รูปแบบนี้มีการขยายตัวไปเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ เป็นการท้าทายกระบวนการบังคับใช้กฎหมายว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไรบางรายต้องหนีออกจากพื้นที่บางรายต้องฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้" ภาพรวมของปัญหายังคงเกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนของแผ่นปลิวโฆษณาขนาดต่างๆ ที่ติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หรือแม้แต่ในหนังสือพิมพ์รายวันที่สะท้อนถึงการแก้ไขที่ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ รวมถึงภาพข่าวความรุนแรงจากการทวงหนี้นอกระบบ การข่มขู่ทำร้ายร่างกาย การฆ่าตัวตายเพื่อหนีจากหนี้นอกระบบ การดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม โดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2553 จนถึงปัจจุบัน พบว่าปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นมีรูปแบบหลากหลาย ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน จึงควรมีวิธีการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ลืมตาอ้าปากอยู่ในสังคมไทยได้การดำเนินการของกระทรวงยุติธรรม จึงมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเพื่อเตือนภัย ป้องปราม และเฝ้าระวัง ให้ความช่วยเหลือด้วยการหาพยานหลักฐาน สืบสวนค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง มาสนับสนุนข้อมูลของลูกหนี้ในการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการประสานกองทุนยุติธรรม จัดหาที่ปรึกษากฎหมาย และติดอาวุธทางปัญญาด้วยการให้ความรู้ทางกฎหมาย เพื่อให้รู้เท่าทันและเกิดความยุติธรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นการก่อหนี้ที่เกิดจากภาวะความจำเป็นเพื่อการดำรงชีพ การกู้ยืมเงินนอกระบบ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงิน แม้อาจจะทำให้ตกอยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก แม้เจ้าหนี้จะไม่ได้มีการบังคับให้กู้เงิน แต่การที่ลูกหนี้เข้ามากู้เงินนั้นก็เพราะมีความจำเป็นในการใช้เงินอย่างเร่งด่วน จึงจำยอมในการรับภาระการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูง เช่น ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่ารักษาพยาบาลคนในครอบครัว ค่าการศึกษาบุตรหลาน หรือการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องใช้อุปกรณ์ในการประกอบกิจการ ค่าเช่าพื้นที่ค้าขาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ก็มีบางส่วนที่กู้ยืมเพื่อนำเงินไปซื้อสิ่งของตามกระแสนิยม เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเสียง เครื่องเล่น ดีวีดี และที่หนักไปกว่านั้น การกู้ยืมเพื่อนำเงินไปเล่นการพนันหรือชำระหนี้การพนัน เที่ยวเตร่ การค้ำประกันให้คนอื่น เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่าหนี้นอกระบบเปลี่ยนจากปัญหาที่เคยแพร่หลายในชนบทและในภาคเกษตรกรรมมาเป็นปัญหาของผู้ที่มีรายได้ประจำในสังคมเมืองโดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบัน คนที่ทำงานกับภาคเอกชน ที่มีรายได้ประจำเพียง 8,000-9,000 บาทต่อเดือน รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และเลี้ยงครอบครัวดังนั้นหากในเดือนใดที่ไม่มีรายได้จากการทำงานล่วงเวลา (เงินโอที) คนกลุ่มนี้ก็จะต้องกู้เงินนอกระบบ โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้จากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8-10 ต่อเดือน หนี้นอกระบบที่กำลังคุกคามภาคแรงงาน ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพาการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีหลายรัฐบาลที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในภาคชนบท โดยใช้วิธีให้เงินสินเชื่อผ่านกองทุนต่างๆเพื่อให้เป็นสินเชื่อภายในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) กองทุนเอสเอ็มแอล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 15 กองทุน ที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรเพียง 8 ล้านคน ทำให้ภาคเกษตรมีปัญหาหนี้นอกระบบลดลง แต่ในทางตรงกันข้ามหนี้นอกระบบในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว
"ขณะนี้ต้องเข้าใจว่าหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่เข้ามาคุกคามสังคมเมืองมากขึ้น หากไปแถวโรงงานอุตสาหกรรม เช่น สมุทรปราการ ปราจีนบุรี จะเห็นโฆษณา ใบปลิวเรื่องเงินด่วนเป็นจำนวนมาก ขณะที่แรงงานเหล่านี้ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงเงินทุน ที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือสินเชื่อให้กับนายจ้างและผู้ประกอบการเท่านั้นแต่ลืมเรื่องการให้เงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญของภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน หากเปรียบเทียบประเทศที่มีคนจนมากอย่างจีน และอินเดีย พบว่า ไม่มีปัญหาหนี้นอกระบบเหมือนไทย สิ่งสำคัญคือ ต้องแก้ที่นิสัยของคนไทยว่าอย่าใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมได้รับหนังสือร้องเรียนจำนวนมาก แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เนื่องจากไม่มีการระบุชื่อที่อยู่ของผู้ที่ร้องเรียนแต่เป็นลักษณะของการปรับทุกข์ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าสถาบันให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาได้ โดยยอดกู้ยืมต้องไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน และสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเมื่อรวมค่าธรรมเนียมทั้งสินแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี สำหรับโครงการนี้รัฐบาลเข้ามาเป็นผู้บริหารปรับโครงสร้างหนี้ของประชาชน แต่การแก้ไขจะกลายเป็นแก้ไขปัญหาได้เพียงระยะสั้นหรือไม่ เพราะถ้าลูกหนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุ่นได้อย่างสะดวก เมื่อขาดเงินสดลูกหนี้ก็ยังหันไปพึ่งระบบเงินกู้นอกระบบอยู่ดี แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลพยายามผลักดันสถาบันการเงินของรัฐให้เป็นแหล่งเงินกู้ขนาดเล็ก เริ่มต้นในประเทศบังกลาเทศ ธนาคารคนยากจะใช้แนวคิดการปล่อยเงินกู้จากสถาบันการเงินใหญ่ๆเนื่องจากคนจนเหล่านี้ไม่มีหลักประกันในการกู้และมีรายได้ต่ำ สำหรับประเทศไทย แนวทางการตั้งไมโครไฟแนนซ์ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้น และถูกระบุอยู่ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะ 2 (แผนพัฒนาฯ 2 ) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินการนโยบายระหว่างปี 2533 – 2557 โดยวางกรอบแผนพัฒนาเพื่อขยายขอบเขตธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เป็น Universal Banking ที่สามารถบริการให้การเงินแก่ลูกค้าได้ทุกกลุ่มและทำธุรกรรมทางการเงินได้เกือบทุกประเภท เพิ่มใบอนุญาตสถาบันการเงินในรูปแบบของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกค้าธนาคารต่างประเทศที่จดทะเบียนในประเทศไทย ส่งเสริมการให้บริการธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธย.) ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงและหลากหลายตรงกับความต้องการมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมองค์ความรู้จากผู้มีประสบการในธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จให้แก่กลุ่มการเงินในชุมชน เพื่อลดปัญหาการกู้หนี้นอกระบบ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมไทยทุกระดับอีกด้วย อีกประเด็นที่ควรระมัดระวัง คือความเสี่ยงของสถาบันการเงินของรัฐต่างๆ ที่ได้รับโอนหนี้นอกระบบเข้ามาเป็นหนี้ในระบบ เพราะหากเกิดภาวะหนี้เสียจำนวนมาก ก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับโอนเข้ามานี้จัดเป็นลูกหนี้ที่มีความเสียงสูง และหากไม่เข้มงวดในการตรวจสอบ อาจเป็นช่องว่างให้แก่ผู้มีหนี้ที่เกิดจากหนี้พนัน อบายมุขต่างๆ เข้ามาขอสินเชื่อไปชำระหนี้ โดยเงินมาชำระหนี้ได้
ไมโครไฟแนนซ์ ตามความหมายของ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย Asian Development Bank (ADB) คือ ระบบการเงินในระดับจุลภาค ซึ่งให้บริการทางด้านการเงินขั้นพื้นฐานทั่วไปสำหรับคนจน เช่น การฝากเงิน การกู้เงิน การจ่ายเงิน การโอนเงิน และการให้หลักประกันแก่ผู้ยากจน และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำตลอดจนการให้บริการทางการเงินแก่สถานประกอบการขนาดเล็ก เป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อย และ เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการพัฒนา และ ยกระดับความเป็นอยู่ของตนเองได้ ระบบการเงินรายย่อยนี้จะสามารถเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนที่เป็นปัญหาหลักของประเทศในระดับฐานรากได้อย่างยั่งยืน
สถาบันการเงินในระดับจุลภาค ควรต้องบรรลุวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้
1. ต้องมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการเงิน (Financial Service) กับคนจำนวนมากของประเทศ โดยทั่วไปเป็นคนที่มีฐานะยากจน (Scale)
2.ต้องมีการขยายการให้สินเชื่อไปสู่คนที่มีฐานะยากจนที่สุดในสังคม (Poorest Group) เพื่อที่จะแน่ใจว่าคนจนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ (Depth)
3. ต้องพิจารณาถึงต้นทุนในการให้สินเชื่อทั้งผู้ขอสินเชื่อ (ลูกค้า) และ ผู้ให้บริการสินเชื่อเอง (สถาบันการเงินในระดับจุลภาค)
ดังนั้น ในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ การไม่เป็นหนี้ ถือได้ว่า กลายเป็นลาภอันประเสริฐไปเสียแล้ว สำหรับคนพ.ศ.นี้ หากเทียบกับคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องหาเช้ากินค่ำ คำว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ จึงไม่สามารถหนีห่างจากกันไปได้ แต่ด้วยหนี้ในระบบที่มีกฎเกณฑ์มากมาย ทำให้เงินกู้นอกระบบ ที่มีดอกเบี้ยสูงติดเพดาน จึงเข้ามาแทนที่และได้รับความนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยเหตุนี้ ธุรกิจเงินนอกระบบจึงผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ท้าทายทั้งเหล่าผู้ที่ต้องการเงินด่วนทันใจ และท้าทายอำนาจของรัฐ ที่สำคัญไปกว่านั้น ยังไม่มีหนทางใด ที่จะออกมาดูแลและควบคุมเงินนอกระบบเหล่านี้อย่างจริงจัง จึงสร้างโอกาสให้กับผู้มีอิทธิพลขยายสาขาและหยั่งรากลึกเข้าสู่สังคมไทยไปอย่างรวดเร็ว
สิ่งต้องคิดให้ได้และแก้ปัญหาตรงจุด คือทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งการสอนให้ประชาชนรู้จักการวางแผนทางการเงินของตนและครอบครัว โดยเริ่มจากการจดบันทึกรายรับและรายจ่ายทั้งหมด ทำให้สามารถรู้สถานะทางการเงินปัจจุบันอย่างน้อยก็ระยะหนึ่งว่าเป็นเช่นไรเพื่อใช้วางแผนต่อไปว่าจะเพิ่มรายรับจากแหล่งใดได้อีก จำนวนประมาณเท่าไหร่ และรายจ่ายใดที่สามารถประหยัดให้มากกว่าที่เป็นอยู่หรือมีรายจ่ายใดที่ตัดทอนลงไปเพื่อให้ท้ายสุดแล้วมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ทำให้สถานะไม่ขาดสภาพและไม่ต้องไปกู้ยืมเงิน สภาพเศรษฐกิจกำลังตกอยู่ในภาวะตกต่ำเช่นนี้ หลายคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้มีเงินเหลือพอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆที่มีความจำเป็นมากกว่าด้วยการพิจารณาบัญชีรายจ่ายประจำเดือนอีกครั้ง แล้วสำรวจว่าอะไรจำเป็นมากที่สุด และอะไรที่ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายแล้วทุกคนในครอบครัวยังดำรงชีวิตประจำวันอยู่ได้ เช่น รายจ่ายที่จำเป็นสำหรับบางครอบครัวคือ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าขนมเด็กๆ ค่าน้ำมันรถสำหรับคุณพ่อ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแต่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ก็อาจมาพิจารณากันใหม่อีกครั้งว่าค่าขนมของเด็กๆ นั้นมากเกินความจำเป็นหรือไม่ ทำอย่างไรถึงจะขับรถอย่างประหยัดน้ำมัน หรือมีทางที่จะประหยัดพลังงานอื่นๆได้อย่างไร ทั้งหมดนี้แม้ว่าจะตัดไม่ได้แต่ก็สามารถควบคุมให้จ่ายน้อยลงได้
ส่วนค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ตัดออกไปแล้ว จะทำให้สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นก็ควรทำอย่างเร่งด่วน เช่น หากพบว่าบัญชีรายจ่ายประจำเดือน มีค่าเครื่องสำอางคุณแม่ที่มากไป หรือถ้าคุณพ่อเลิกสูบบุหรี่และงดดื่มได้จะช่วยให้มีเงินเหลือเก็บเพิ่มมากขึ้น สำหรับการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนคือ ทุกคนในบ้านไม่ควรทำตัวทันสมัยจนเกินความจำเป็นเพราะบางสิ่งบางอย่างที่ล้าสมัยหรือตกรุ่น แต่ทำให้ครอบครัวประหยัดก็ควรเลือกในสิ่งนั้นพฤติกรรมที่เห็นคนอื่นเขามีแล้วอยากมีความปรับเปลี่ยนได้แล้ว เพราะจะทำให้รายจ่ายในครอบครัวมากขึ้นโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ เมื่อว่างเว้นจากการทำงานไม่จำเป็นต้องออกไปเที่ยวนอกบ้านเสมอไป บางครั้งแค่ได้พักผ่อนอยู่ที่บ้านอาจทำให้มีความสุขมากกว่าการไปข้างนอก และยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการบริโภคมีความสำคัญต่อค่าใช้จ่ายไม่น้อยเช่นกัน แม้ว่าในแต่ละเดือนครอบครัวอาจจัดปาร์ตี้ได้บ้างแต่ถ้ามีขึ้นบ่อยๆ แล้วทำให้คุณมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากินอยู่แบบปกติก็จะช่วยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
นอกจากนี้พฤติกรรมการจับจ่ายของแม่บ้านก็สำคัญ เช่น หากเคยชินกับความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ถ้าต้องประหยัดเพื่อช่วยเหลือครอบครัว การเปลี่ยนมาซื้อผักสดจากตลาดใกล้บ้าน ก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงบ้างโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจในครัวเรือนสั่นคลอนหากรายการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในแต่ละเดือนนั้นมีความถี่มากเกินไปควรลดหรือตัดออกบ้าง อย่าลืมว่าในแต่ละมื้อของอาหารนอกบ้านนั้นต้องจ่ายไม่น้อยเลยทีเดียว ที่สำคัญกิจกรรมดังกล่าวน่าจะทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขกับการช่วยกันทำอาหาร
เพิ่มรายได้ให้ครอบครัว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ เพราะหลังจากที่สำรวจดูแล้วอะไรๆ ก็สำคัญต่อชีวิตไปหมด มีทางเดียวที่ช่วยได้ก็คือ ต้องหารายได้เพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับรายจ่ายจริงที่เกิดขึ้นแต่ละเดือน กรณีนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องมาปรึกษากันว่าใครควรจะทำงานให้หนักขึ้นกว่าเดิม แต่ควรคิดกันอย่างรอบคอบว่า การทำงานเพิ่มขึ้นนั้นคุ้มหรือไม่ หากต้องมาเบียดเบียนเวลาของครอบครัวปกติวันหยุดทุกคนมีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา แต่ถ้าคนใดคนหนึ่งหายไป ความสุขของครอบครัวยังมีเหมือนเดิมหรือไม่
ท้ายที่สุดแล้ว การเป็นหนี้นอกระบบยังไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของการแก้ปัญหา หนทางสู่การก้าวต่อไป คือการตั้งมั่น ขยัน และซื่อสัตย์ต่อการดำรงตน รวมไปถึงการนำแนวพระราชดำริในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้ หนี้ที่สร้างความปวดใจให้กับใครต่อใคร ก็มิอาจจะย่างกลายเข้ามา
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะพบว่าจะให้โอกาสกับประชาชนที่หลงผิดเข้าไปติดกับบ่วงหนี้นอกระบบโดยการออกโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบภายมากมายในสังคมไทยแล้ว รัฐบาลควรมาสนใจกับการสร้างรายได้ให้กับประชน เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ซึ่งจะทำให้ก่อหนี้ลดลง นอกจากนี้การให้ความรู้และปลูกฝังการมีวินัยทางการเงิน รู้จักการออม รวมถึงการรู้จักการวางแผนใช้อย่างเหมาะสมจะเป็นมิติที่สำคัญยิ่งในการลดหนี้ภาคประชาชนอย่างยั่งยืน บทสรุปของการจัดการหนี้นอกระบบของประเทศ ข้างต้นจาการที่รัฐบาลยื่นมือมาช่วยแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ให้ผ่อนหนักเป็นเบา ซึ่งวิธีการคือ ให้ลูกหนี้นอกระบบมาลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ต้องการโอนหนี้นอกระบบเข้าสู่หนี้ในระบบโดยสถาบันการเงินของรัฐจะรับเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ใหม่แทนหนีนอกระบบคนเก่า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมซึ่งถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้นอกระบบต้องแบกรับ แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวคงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ปัญหาหนี้สินมักเกิดขึ้นมาได้อย่างง่ายๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำไมวิธีแก้ไขปัญหาหนี้สินจึงไม่ง่ายอย่างตอนเกิดขึ้นมา อาจเป็นเพราะขณะก่อหนี้เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข เป็นธรรมดาที่ช่วงเวลาแห่งความสุขมักจะผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัวแต่ช่วงเวลาที่ต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก จึงมีความรู้สึกว่าเนิ่นนานกว่าปกติ หากคุณไม่อยากตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นต้องหยุดก่อหนี้ซึ่งการหยุดก่อหนี้ต้องรู้จักที่มาที่ไปของการก่อหนี้สินนั่นคือ สาเหตุของการก่อหนี้ คือ ความอยากมีอยากได้ กิเลส รสนิยมที่สูงเกินกว่ารายได้ หนี้สินส่วนมากที่ก่อให้เกิดปัญหาคือการก่อหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพราะความลุ่มหลงยึดติดอยู่กับวัตถุและความไม่รู้จักพอ หลงอยู่กับกระแสทางการตลาดที่คอยออกผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ๆออกมาเพื่อให้เกิดความอยากจนสุดท้ายต้องก่อหนี้สินเพื่อสนองความต้องการ(อยาก)ของตนเอง อีกสาเหตุของการก่อหนี้สินคือ ค่านิยมทางสังคมที่ผิดๆ เข้าทำนองเห็นช้างขี้แล้วอยากขี้ตามช้าง เห็นคนอื่นเขาซื้อทรัพย์สินใหม่ๆก็อยากมีอยากได้อยากซื้อตามเขาโดยไม่ดูตัวเองว่า เขาซื้อได้เพราะพื้นฐานครอบครัวที่ดี(รวย)สามารถซื้อทรัพย์สินข้าวของต่างๆด้วยเงินสดไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่หากเราซื้อตามเขาต้องก่อหนี้สินกู้ยืมเงินมาซื้อซึ่งต้องมีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและผ่อนชำระเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งกว่าจะผ่อนชำระหมด ความอยากมีอยากได้และค่านิยมทางสังคมที่ผิดๆก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ตกอยู่ในปัญหาหนี้สินที่โหดร้าย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ดีคือการป้องกันที่สาเหตุการก่อหนี้คือ หยุดความอยากมีอยากได้และหยุดค่านิยมทางสังคมที่ผิดๆ ต้องรู้ตัวเองว่ามีกำลังทางการเงินที่จะจับจ่ายใช้สอยได้แค่ไหนโดยไม่ก่อหนี้สิน เตือนตนเองอยู่เสมอว่า “มีเงินสดแค่ไหนก็จ่ายได้สูงสุดแค่นั้น” ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ก่อหนี้สินใดๆทั้งสิ้น หากคุณมีความมุ่งมั่นคุณย่อมทำได้แล้วคุณจะห่างไกลจาก “ปัญหาหนี้สิน”ดังนั้น การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว การสร้างรายได้ให้มากกว่ารายจ่าย รวมถึงการปลูกฝังการออม ถือเป็นการแก้ปัญหาหนี้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน กล่าวโดยสรุป ปัญหาหนี้ต้องแก้ไขที่ตนเองมากที่สุด อย่าคาดหวังพึ่งคนอื่นเพราะความไม่แน่นอนมีสูง และระลึกไว้เลยว่าของฟรีไม่มีในโลก แม้เขามาช่วยเราลดหนี้ จงประหยัดอดออมดีที่สุด แม้ว่าการเป็นหนี้นั้นอาจไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรคำนึงไว้เสมอว่าการมีหนี้สินที่สร้างภาระผูกพันอาจสร้างความเดือดร้อนให้ในภายหน้าได้