หลังจากที่เคยหายสาบสูญไปนานกว่า 40 ปี วันนี้ ชื่อข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวนาปีสายพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดนครปฐม คืนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง นักวิชาการ องค์กร เครือข่ายชาวนา ที่ร่วมกันนำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองชนิดนี้กลับมา
ด้วยการนำมาทดลองปลูกในพื้นที่นา จังหวัดนครปฐม โดยเน้นการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลผลิต และเป็นทางเลือกใหม่ให้คนรักษ์สุขภาพ
สำหรับจุดเริ่มของการฟื้นตำนานข้าวหอมนครชัยศรี ดังคำขวัญของจังหวัด ที่ว่า “ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย” นั้น รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ร่วมกับชาวนาในพื้นที่บ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า ค้นหาพันธุ์ข้าวหอมนครชัยศรีกลับมาปลูกกันอีกครั้ง เล่าว่า หลังจากได้เมล็ดพันธุ์ เมื่อปี 2556 ตนและเกษตรกร ก็ได้ทดลองปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ในพื้นที่ ประมาณ 6 ไร่ ซึ่งผลผลิตที่ได้ในปีแรกนั้น ส่วนใหญ่เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในปีต่อไป อีกส่วนหนึ่งสีเป็นข้าวสาร แจกจ่ายให้คนในพื้นที่ได้ทดลองชิม ผลจากการทดลองชิม ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กลิ่นหอม รสชาติอร่อย
ต่อมาในปี 2557 สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกออกไปเกือบ 30 ไร่ และแบ่งเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งให้กับโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ ไปปลูกขยายพันธุ์ต่อเป็น รุ่นที่ 2
“สมัยก่อน พื้นที่แห่งนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนนครปฐม แต่ระยะหลังชาวนาเลือกปลูกข้าวอายุสั้น ซึ่งเป็นข้าวแข็ง สำหรับทำแป้ง ทำให้ข้าวพื้นถิ่นดีๆ หายไปจากทุ่ง ต้องกินข้าวถุงกัน ซึ่งเป็นข้าวที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า เราก็เลยค้นหาพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่กินได้กลับมาปลูก ซึ่งพบว่า ข้าวหอมนครชัยศรี คือหนึ่งในพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดนครปฐม ที่ให้รสชาติอร่อย”
“มีเอกลักษณ์เฉพาะ คล้ายข้าวหอมมะลิ และข้อดีของข้าวพันธุ์นี้ก็คือ เป็นข้าวนาปีที่ดูแลง่าย หนีน้ำได้ทัน ไวต่อแสง ไม่กินปุ๋ย และต้านทานโรคได้ดี โดยเราเลือกปลูกด้วยระบบอินทรีย์ เพื่อหวังอยากให้ทุกคนได้กินข้าวที่ดี มีคุณภาพ และปลอดภัย อีกทั้งช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์ และส่งเสริมให้ข้าวชนิดนี้กลับมาอยู่คู่นครปฐมอีกครั้ง”
ด้าน คุณอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ และเลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า ภายใต้โครงการ สามพรานโมเดล ซึ่งพยายามผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการนำพันธุ์ข้าวหอมนครชัยศรี มาทดลองปลูกในศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์สุขใจ ริมแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตรงข้ามกับโรงแรม ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ โดยผลผลิตในปีแรกนี้ก็เป็นที่น่าพอใจ
“เป็นที่น่ายินดีที่ชาวนาในจังหวัดนครปฐม มองเห็นความสำคัญของพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของท้องถิ่น และช่วยกันรื้อฟื้นกลับมาปลูกใหม่กันอีกครั้ง ซึ่งเราเน้นว่า จะต้องทำในระบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้น เพื่อให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็มีสุขภาพที่ดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิต และสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย”
ด้าน คุณอนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรอินทรีย์ ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการฟื้นตำนานข้าวหอมนครชัยศรี โดยได้รับมอบหมายจากโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ ให้เป็นผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และเป็นผู้ทดลองปลูกข้าวหอมนครชัยศรี ด้วยระบบอินทรีย์ เล่าถึงวิธีการปลูกข้าวชนิดนี้ว่า เริ่มปลูกในเดือนสิงหาคมและเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม ใช้เวลาปลูกทั้งสิ้น 120 วัน หรือประมาณ 4 เดือนกว่า ได้ลำต้นสูง ประมาณ 150 เซนติเมตร รวงใหญ่ จะให้เมล็ดข้าว ประมาณ 175 เมล็ด รวงเล็ก ประมาณ 150 เมล็ด แต่จะไม่เกิน 200 เมล็ด ในการปลูกให้ได้ผลนั้น เกิดจากการยึดถือ 3 หลัก ของวิถีการทำนาแบบโบราณ คือ แม่ธรณี แม่คงคา และ แม่โพสพ
“ถ้าเอาอาหารที่ดีๆ ให้ 3 แม่นี้กิน ให้ทุกแม่มีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง โดยที่ไม่ทำลาย ไม่ใช้สารเคมี ไม่จุดไฟเผา สุดท้าย ทั้ง 3 แม่ ก็จะให้ผลผลิตที่ดีกลับคืนมาเช่นกัน และการปลูกข้าวนั้น ขึ้นอยู่ที่การเตรียมดิน เพราะถ้าเตรียมดินดี เมล็ดข้าวจะงอกงาม โดยปุ๋ยไม่ต้องใส่”
“อีกอย่าง อย่าจุดไฟเผา แต่ให้ใช้วิธีไถดะ แล้วว่านปอเทืองทิ้งไว้ได้สัก 1-2 เดือน เพื่อเตรียมดิน หลังจากนั้นไถกลบปอเทือง แล้วปล่อยน้ำเข้าแปลงนา ปล่อยทิ้งไว้ให้ปอเทืองย่อยสลาย เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับดินก่อนปักดำ ส่วนเรื่องการให้ปุ๋ยและฮอร์โมน ต้องคอยสังเกตช่วงเวลาให้เหมาะสม ถ้าใส่ไม่ถูกจังหวะ อาจทำให้ต้นข้าวเสียหายได้”
ขณะที่ คุณธัญญสิทธิ์ ยอดศรีโสภณ เกษตรกรหนุ่ม วัย 38 ปี จาก ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี ที่หันมาปลูกข้าวหอมนครชัยศรี ด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ เมื่อปี 2556 เล่าว่า การทำนาอินทรีย์ ต้องใช้ความอดทนในช่วงแรก แม้ปริมาณผลผลิตที่ได้ไม่มากเหมือนการทำเกษตรเคมี แต่ก็ช่วยลดต้นทุนได้มาก อย่าง ข้าวอินทรีย์ ได้ประมาณ 50 ถัง ต่อไร่ ราคาขาย กิโลกรัมละ ประมาณ 80 บาท ขณะที่นาข้าวเคมี 1 ไร่ ได้ประมาณ 120 ถัง ราคาขายเท่ากัน แต่ค่าใช้จ่ายด้านเคมีสูงกว่า หักลบกลบหนี้แล้ว จำนวนเงินที่ได้ไม่ต่างกันมากนัก
แต่ความต่างที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน นั่นคือ ได้สุขภาพที่ดี และได้ฟื้นของดีของนครปฐมให้กลับคืนมาอีกครั้ง
“ข้าวหอมนครชัยศรีนั้นปลูกไม่ยาก ข้อดีคือ เป็นข้าวที่หนีน้ำได้ทัน ต้านทานโรคได้ดี ไวต่อแสง แต่จะใช้เวลานานกว่าข้าวอื่นๆ ส่วนข้อเสีย สำหรับพื้นที่ลุ่มในย่านดินเหนียว พอต้นใกล้เวลาออกรวง จะสูงระดับ 150 เซนติเมตร ถ้าน้ำหนักรวงเยอะ จะโน้มต้นล้มหมด ถ้าน้ำในนาไม่แห้ง เวลาเก็บเกี่ยวจะเสียหายเยอะ ฉะนั้น ดินที่เหมาะคือ ดินร่วนปนทราย” คุณธัญญสิทธิ์ บอกเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความพยายามในการฟื้นตำนานข้าวหอมนครชัยศรี ซึ่งในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ และช่วงการทดลองตลาด แต่ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น และเป็นข้าวอินทรีย์ที่มีความหอม อร่อย ก็เชื่อแน่ว่าในไม่ช้า ข้าวหอมนครชัยศรี จะกลับมาเป็นข้าวที่ได้รับความนิยมอีกครั้งเช่นอดีตที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
สำหรับเกษตรกร หรือเครือข่ายชุมชน ที่สนใจเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชผักและข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์ ติดต่อมาได้ที่ มูลนิธิสังคมสุขใจ ศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์สุขใจ โทร. (034) 225-203
ข้อมูล: นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน www.technologychaoban.com
ที่มา : มติชน วันที่ 26 มี.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.