ฐานรายได้หลักของรัฐบาลมาจากรายรับจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยติดกับดักการเมือง เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง มีการชุมนุมทางการเมือง และมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งเป็นปัญหาทำให้เศรษฐกิจหดตัว จีดีพีขยายตัวเพียงปีละ 2-3% เท่านั้น ยิ่งทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง เพราะการค้าขายและการจับจ่ายใช้สอยไม่ขยายตัว
นอกจากนี้ ตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นต้นตำรับประชานิยมได้ใช้เงินทั้งในงบประมาณและนอกงบประมาณไปใช้เพื่อหวังคะแนนเสียงทางการเมือง และที่เสียเงินไปอย่างไร้ประสิทธิภาพอย่างรุนแรง เกิดการทุจริตและเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังนับการขาดทุนไม่เสร็จว่าสร้างความเสียหายเป็นเงินเท่าไหร่แน่ แต่ในเบื้องต้นคาดว่าเสียหายไปแล้ว 6 แสนล้านบาท
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อผสมกับการส่งออกลดลงเพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้ต้องปฏิรูปภาษี แก้ไขปัญหาที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคตด้วยการขยายฐานภาษีในกลุ่มใหม่ๆ ออกไป อันเป็นที่มาของการพยายามกวาดต้อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ระบบภาษี แลกกับความช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนจากรัฐบาล การแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือยในกลุ่มใหม่ๆ เช่น ภาษีชาเขียว ขึ้นภาษีกับกลุ่มภาษีบาปทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาต่ออายุการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% เหลือ 7% ที่จะหมดอายุในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และการพิจารณาว่าจะให้นำการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) มาหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องแอลทีเอฟจะหมดอายุในปี 2559
หากการปฏิรูปภาษีไปทำในช่วงที่เศรษฐกิจดีก็จะไม่มีปัญหา แต่มาปฏิรูปขยายฐานภาษีหารายได้เพิ่มในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลเสี่ยงต่อการจะได้ก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้ แต่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ยืนยันว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเรื่องจำเป็น หากไม่เก็บภาษีนี้ ก็อาจจะต้องไปพิจารณาเก็บภาษีอื่นเพิ่ม เนื่องจากรายได้รัฐตํ่ากว่าเงินลงทุนมาก และเก็บภาษีบ้านดีกว่าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะจะมีคนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า
ด้าน สมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท แต่หากมีการขยับส่วนที่ยกเว้นการเก็บภาษีจาก 1 ล้านบาทเป็น 1.5 ล้านบาท และขยับราคาบ้านจาก 3 ล้านบาทเป็น 4 ล้านบาท ที่ให้เสียภาษี 50% ก็จะกระทบกับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ให้ลดลงมาบ้าง
หากดูจากประมาณการภาษีที่กระทรวงการคลังทำเป็นตุ๊กตาไว้ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้มีรายได้เข้าคลังมากกว่า เพราะการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มทุก 1% จะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 7 หมื่น-1 แสนล้านบาท และ สศค.ระบุว่าหากกลับมาใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% หรือปรับเพิ่มขึ้นทีเดียว 3% จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 2.1-3 แสนล้านบาท
ฉะนั้น หากรัฐต้องการรายได้เพิ่มสองแสนล้านบาท จะต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มรวดเดียว 3% ซึ่งจะช็อกประชาชน จะทำให้ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนยิ่งหดตัวหนักเข้าไปอีก ตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้วในญี่ปุ่น ที่เมื่อขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มคนแห่ซื้อของปีเดียวยอดพุ่ง และหลังจากนั้นยอดการบริโภคก็ไม่เพิ่มขึ้นอีกเลยตามแผนนั้น กระทรวงการคลังอาจขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นขั้น เช่น อาจจะขยับครั้งละ 1% แต่ก็จะเพิ่มรายได้ให้รัฐ 7 หมื่น-1 แสนล้านบาท อาจจะไม่สมดุลกับแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการ
ไม่ว่ารัฐบาลจะขยับภาษีประเภทใดก็ตาม ก็จะส่งผลกระทบกับประชาชนทั้งสิ้น เพียงแต่จะกระทบมากหรือน้อยเท่านั้น และกระทบกับคนกลุ่มไหน คนรวย หรือคนชั้นกลาง และกลุ่มรากหญ้า
ความจริงเศรษฐกิจไทยวันนี้ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องหารายได้เพิ่ม นำมาใช้จ่ายและลงทุน รวมทั้งชดเชยการขาดทุนจากโครงการประชานิยมที่สร้างภาระให้กับงบประมาณอย่างมาก แม้รัฐบาลจะเห็นว่าการเก็บภาษีบ้านอยู่อาศัยจากคนไทยทั้งประเทศดีกว่าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดจะบ่งบอกว่ารัฐบาลจะไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในอนาคต
การหาเนื้อหนูมาโปะเนื้อช้าง อาจจะเป็นมาตรการที่บรรเทาปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังของคลังได้ แต่ในระยะยาวรัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ดี เพราะแทบจะไม่มีภาษีใดที่จะมีเพดานเหลือให้รัฐบาลขยับหารายได้เพิ่มอีก
สำหรับภาษีสรรพสามิต สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าบาป อย่างสุรา หรือบุหรี่ ก็จะถูกเรียกเก็บมากขึ้น และพยายามจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง 3 กรมภาษีต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
นี่คือผลของการใช้เงินงบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพไปกับโครงการประชานิยม ที่เงินจำนวนมากรั่วไหลออกไปเพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น และเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทำให้ประเทศติดหล่ม ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ เศรษฐกิจชะลอตัว การค้าขายแย่ไปหมด จนบางธุรกิจป่านนี้ก็ยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น
ปัญหาเศรษฐกิจตกตํ่า แต่ประชาชนต้องจ่ายภาษีแพงขึ้น เป็นต้นทุนที่คนไทยทุกคนต้องแบกรับกันทั่วหน้า หากยังไม่ตระหนักถึงผลเสียของการทำให้ประเทศที่เคยสงบสุขเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัย และทำประชานิยมเพื่อหวังผลทางการเมืองโดยไม่คิดถึงผลเสียในอนาคต คนไทยก็จะต้องเจอกับต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องขึ้นภาษี เพราะนี่คือทางเดียวที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 10 มี.ค. 2558