การเมืองเรื่องข้าว
“ซีพีมองอะไรเป็นระดับโลก …ตลาดในโลกนี้เป็นของซีพี …คนเก่งในโลกนี้เป็นของซีพี วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของซีพี …ผมมองระดับโลก ไม่เฉพาะเมืองไทย หรือเมืองจีน ถ้ามีโอกาส ที่ใดมีโอกาส ที่นั่นเป็นของซีพี” ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), ฟอร์บส์ไทยแลนด์, กรกฎาคม 2556
“เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ ซีพี ยักษ์ใหญ่ในวงการอาหาร ขยับตัวครั้งใหญ่กับการเข้ามาในอุตสาหกรรมข้าวอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีแปลงนาทดลองกว่า 4,000 ไร่ ที่จังหวัดกำแพงเพชร ที่นำหลักการทำนาแบบผสมผสาน มีการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ ไม่ใช้สารเคมี ฆ่าแมลงศัตรูข้าวด้วยน้ำ เป็นต้น
โดยเบื้องต้น ซีพีเข้ามาจับธุรกิจค้าข้าวจากกระบวนการผลิตระดับกลางน้ำ รับซื้อข้าวแล้วนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นข้าวสารก่อนจัดใส่บรรจุภัณฑ์ ตีตราเครื่องหมายการค้า “ตราฉัตร” วางขายในตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวได้ถูกวางฐานรากมาแล้วกว่า 30 ปี แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยเฉพาะปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ซีพีได้ขยายการดูแลผลผลิตข้าวลงสู่ระดับไร่นา ก่อนส่งผลผลิตนั้นป้อนเข้าสู่โรงสีของตนและเครือข่าย แล้วส่งต่อไปยังโรงงานปรับปรุงคุณภาพทั้ง 2 แห่ง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา
ที่ตั้งโรงงานข้าวนครหลวง ในจ.พระนครศรีอยุธยา
ก่อนหน้านี้ ไทยพับลิก้าได้ลงพื้นที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้ บทบาทการขยายตลาดข้าวของซีพีลงสู่ระดับต้นน้ำ โดยการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ ตามหลักการผลิตด้วยมาตรฐาน GAP Plus (Good Agriculture Practices Plus) รวมทั้งกระบวนการกลางน้ำที่อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาปรับปรุงคุณภาพข้าว เพื่อผลิตข้าวภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราฉัตร”
นายธรรมวิทย์ ศรีเกริกกริช รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจข้าว (ด้านการผลิต) ระบุว่า ซีพีให้ความสำคัญกับคุณภาพข้าว โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าไปส่งเสริมในระดับไร่นา ถัดมาคือการสร้างโรงสีเพื่อรับวัตถุดิบจากเกษตรกรโดยตรง 3 แห่ง คือ โรงสีในจังหวัดบุรีรัมย์ กำแพงเพชร และสุพรรณบุรี รวมทั้งโรงสีพันธมิตรอีกกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ
ซีพีได้ปักหมุดเลือก จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นฐานที่มั่นตั้งโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าว 2 แห่ง คือ โรงงานข้าววังแดงและโรงงานข้าวนครหลวง โรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวทั้ง 2 แห่ง สามารถผลิตข้าวได้ 1,380,000 ตันต่อปี
โดยกำลังผลิตหลักจะอยู่ที่โรงงานข้าวนครหลวงที่มีกำลังผลิตสูงถึง 1,080,000 ตันต่อปี มีคลังสำหรับเก็บวัตถุดิบข้าว 8 หลัง รองรับข้าวได้ 240,000 ตัน มีโกดังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ถึง 3,600 ตันต่อวัน นอกจากนี้ยังมีไซโลสำรองข้าวสารไว้ในอาคารผลิตได้มากถึง 83,600 ตัน แบ่งเป็นไซโลขนาด 1,600 ตัน/ไซโล จำนวน 36 ไซโล และไซโลขนาด 1,300 ตัน/ไซโล จำนวน 20 ไซโล
นวัตกรรมทำข้าวคุณภาพคุมตลาดโลก
พื้นที่ตลาดข้าวในประเทศคงแคบไปสำหรับอุตสาหกรรมข้าวของซีพี จากการเลือกประเภทข้าวในการผลิตเห็นได้ชัดว่าซีพีกำลังจัดตราทัพขนานใหญ่ในการบุกตลาดโลก โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตข้าวให้ได้คุณภาพ
เริ่มตั้งแต่การออกแบบโกดังเก็บข้าวและโกดังเก็บสินค้าให้มีความโปร่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี ตัวโรงงานเป็นระบบปิด ถูกออกแบบให้ไร้รอยต่อเพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่นละออง โดยการันตีว่าโรงงานข้าวนครหลวงนั้นมีมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทาน การไหลเวียนของสินค้าทุกวันทำให้ข้าวที่ออกสู่ท้องตลาดยังคงเป็นข้าวใหม่ที่มีคุณภาพ หากเป็นข้าวเก่าจะแยกบรรจุภัณฑ์ให้ลูกค้าได้ทราบอย่างชัดเจน
ห้องปฏิบัติการฐานข้อมูลของโรงงานข้าวตราฉัตร
นายธรรมวิทย์ได้นำเยี่ยมชมห้องควบคุมของโรงงานข้าวนครหลวง โดยห้องดังกล่าวเปรียบเสมือนฐานปฏิบัติการที่ควบคุมระบบทั้งหมดภายในโรงงานด้วยกล้องวงจรปิด 379 ตัว ตรวจสอบรถทุกทุกคันด้วยระบบ GPS ทำให้สามารถติดตามการทำงานได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลสต็อกข้าวทั้งหมดถูกรวบรวบไว้แบบเรียลไทม์ ซึ่งระบบปฏิบัติการดังกล่าวสมารถตรวจสอบไปได้ถึงระดับโรงสีโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยการันตีมาตรฐานการผลิตสินค้าให้ได้รับความไว้วางใจ
จากนั้น นายองอาจ จัมปากะนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านธุรการสายงานผลิตข้าว เล่าถึงกระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าวให้ฟังว่า การควบคุมกระบวนการผลิตในช่วงกลางน้ำเริ่มตั้งแต่การรับซื้อข้าวจากโรงสี โดยกำหนดความชื้นต้องไม่เกิน 14%
“เราปฏิเสธที่จะรับข้าวที่มีความชื้นเกิน 14% เนื่องจากเป็นการยากที่จะลดความชื้นในข้าวภายหลัง และเมื่อผ่านไปสักระยะสีของข้าวจะเปลี่ยน และหากระหว่างการขนส่งข้าวเกิดโดนไอน้ำจะทำให้ข้าวเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ายกับมีเชื้อรา ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังนั้นซีพีจึงต้องเข้าไปสร้างมาตรฐานตั้งแต่การรับซื้อ ช่วงแรกอาจจะลำบาก แต่การให้ราคาที่ดี และการันตีว่าจะรับซื้อทั้งหมด ช่วยให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลดีต่อชาวนาด้วย” นายองอาจกล่าว
เมื่อรับข้าวจากโรงสีรถที่บรรทุกข้าวสารมาป้อนโรงงานจะถูกตรวจสอบน้ำนักด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นข้าวจากรถบรรทุกทุกคันจะถูกสุ่มออกมาจำนวน 8 กรัมเพื่อนำมาตรวจสอบ DNA และคุณภาพของข้าว ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปจนถึงตัวเกษตรกรได้หากเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวขึ้น พร้อมทั้งอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาตรวจสอบวัตถุดิบ ไปจนถึงทำการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
ห้องปฏิบัติการฐานข้อมูลของโรงงานข้าวตราฉัตร
ตลอดห่วงโซ่การปรับปรุงคุณภาพข้าวแต่ละเมล็ดจะผ่านทั้งเครื่องทำความสะอาดคัดแยกสิ่งเจือปน เครื่องแยกหิน เครื่องขัดมัน ตะแกรงเหลี่ยม ตะแกรงกลมสำหรับแยกเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ ปิดท้ายด้วยเครื่องแยกสีที่จะคัดแยกสิ่งเจือปนที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคออกไปในขั้นสุดท้าย (ผังแสดงกระบวนการผลิตที่กว่าจะได้ข้าวตราฉัตรออกมาแต่ละถุง)
การที่ข้าวทุกเมล็ดผ่านกระบวนการต่างๆ มากมายก่อนนำไปบรรจุถุงนั้น นวัตกรรมเหล่านี้ช่วยกำจัดไข่มอดและแมลงอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีในการพ่นรมเพื่อฆ่ามอดและแมลงที่จะปนเปื้อนไปกับเมล็ดข้าว
สำหรับข้าวสารที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพเรียบร้อย จะถูกบรรจุด้วยเครื่องบรรจุอัตโนมัติที่สามารถบรรจุข้าวลงถุงได้มากกว่า 4,000 ตัน/วัน พร้อมระบบตรวจจับโลหะ และเครื่องทวนสอบน้ำหนักหลังการบรรจุทุกถุง การเตรียมความพร้อม และสร้างมาตรฐานต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าซีพีกำลังขยับตัวเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดค้าข้าวทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ตามจากสโลแกน “ข้าวตราฉัตร ข้าวที่ดีที่สุดของโลก” และวิสัยทัศน์ของผู้กุมบังเหียนใหญ่อย่างเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์
เปลี่ยนข้าวทุกเมล็ดให้เป็นเงิน
จากการจัดการการผลิตทำให้ข้าว “ทุกเมล็ด” สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทำเป็นสินค้าสำหรับบริโภคได้ทั้งหมด ข้าวที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาวคัดพิเศษ ข้าวกล้อง และข้าวเหนียว ได้รับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ชนิด 49 กิโลกรัม จนถึง 1 กิโลกรัม ขนาดกะทัดรัดเหมาะกับคนเมือง
นายองอาจกล่าวว่า เนื่องจากสังคมสมัยใหม่ทำให้คนเมืองทำกับข้าวบริโภคเองน้อยลง บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กจึงสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปริมาณ 1 กิโลกรัม สามารถบริโภคได้หมดภายใน 1 ถึง 2 ครั้ง ไม่ต้องเก็บรักษาไว้นาน นอกจากข้าวหอมมะลิที่เป็นสินค้าแล้ว “ตราฉัตร” ยังตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพที่กำลังขยายตัวด้วยผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องหอมมะลิและข้าวกล้องหอมแดง
แม้โดยหลักแล้ว ผลผลิตจากโรงงานนครหลวงของตราฉัตรประมาณ 80% จะเป็นสินค้าส่งออก แต่สินค้าชนิดเดียวกันนี้ก็มีวางจำหน่ายภายในประเทศเช่นกัน
“หลายครั้งที่มักจะได้ยินคนไทยบ่นว่า ของดีๆ จะถูกส่งออกไปขายในต่างประเทศ ส่วนคนไทยก็ต้องบริโภคสิ้นค้าคุณภาพต่ำ หรือสินค้าคุณภาพรองที่เหลือจาการส่งออก เพื่อให้คนไทยได้บริโภคข้าวคุณภาพ โรงงานข้าวนครหลวงได้ผลิตข้าวคุณภาพมาตรฐานเดียวกับที่ส่งออกสำหรับวางขายในประเทศเช่นกัน” นายองอาจกล่าว
นอกจากนี้ เป็นที่แน่นอนว่าข้าวทุกเมล็ดเมื่อผ่านกระบวนการขัดสี ผ่านการคัดแยกต่างๆ การแตกหักของเมล็ดจะเพิ่มขึ้น ข้าวเหล่านี้จะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเส้น ไม่ว่าจะเป็น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นจันท์ เป็นต้น บางส่วนถูกนำไปแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว เป็นการขยายตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าว
สำหรับข้าวในส่วนที่มีการหักของเมล็ดมากจะถูกนำไปผลิตอาหารสัตว์ ส่วนปลายข้าวนั้นนายองอาจเปิดเผยว่า มีการนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั่นก็คือ “เบียร์” โดยปลายข้าวเกือบทั้งหมดจะส่งป้อนโรงงานผลิตเบียร์ที่อยู่รอบๆ ซึ่งในช่วงเทศกาลปริมาณปลายข้าวไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด บริษัทผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่ถึงกับทุ่มเงินในการซื้อข้าวเมล็ดเต็มเพื่อป้อนโรงงานของตน ทำให้บางครั้งราคาของปลายข้าวขยับขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับราคาข้าวปกติทั่วไป
ผลิตภัณฑ์ตราฉัตร
ดังที่กล่าวไปแล้ว ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพข้าวในส่วนข้องห้องตรวจ DNA ข้าวที่ต้องนำตัวอย่างจากรถบรรทุกทุกคันมาแยกเก็บไว้เพื่อให้สามารมารถตรวจสอบย้อนกลับได้หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ข้าวส่วนนี้จะถูกเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นข้าวทั้งหมดจะถูกปรับเกรดลงเป็นข้าวเก่านำไปบรรจุถุงขายได้ในอีกราคาหนึ่ง
จากจุดศูนย์กลางโลจิสติกส์ บุกตลาดข้าวกัมพูชา ตั้งเป้าส่งออกปีนี้ 1 ล้านตัน
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าซีพีได้เลือก จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งในโรงงานปรับปรุงคุณภาพ พร้อมทั้งใช้ประโยชน์ทางด้านภูมิศาสตร์ของพื้นที่ เป็นศูนย์กลาง (hub) ในการกระจายสินค้า ที่มีช่องทางการขนส่งให้เลือกใช้ถึง 3 ช่องทาง คือ การขนส่งทางบก ทางน้ำ และการขนส่งในระบบราง
นอกจากนี้ จุดได้เปรียบของสถานที่ตั้งคือ อยู่ในจุดศูนย์กลางธุรกิจ รายล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมหลัก 4 แห่ง คือ นิคมสหรัตนนคร ที่อยู่ห่างกันเพียง 9 กิโลเมตร นิคมโรจนะ 22 กิโลเมตร นิคมไฮเทค 32 กิโลเมตร นิคมบางปะอิน 35 กิโลเมตร และนิคมเหมราช 42 กิโลเมตร
ภายในโรงงานข้าวนครหลวง ซีพีได้สร้างท่าเรือขนาดใหญ่ ที่มีบริการครบวงจร การันตีประสิทธิภาพเทียบเท่าท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อย่างท่าเรือแหลมฉบัง นายชรินทร์ อินทร์เมือง รองกรรมการผู้จัดการ ด้านปฏิบัติการท่าเรืออยุธยา และไอซีดี ระบุว่า การใช้ประโยชน์จากการขนทางเรือช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัท การใช้น้ำมัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี
ท่าเรือขนส่งสินค้าภายในโรงงานข้าวนครหลวงของซีพี
สำหรับการขนส่งสินค้าของข้าวตราฉัตร เน้นการขนส่งทางเรือ จัดส่งสินค้าไปยังท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และส่งไปยังภาคใต้ของประเทศไทย สามารถขนส่งได้จำนวน 1,500 ตันต่อเที่ยว เทียบเท่าการขนส่งด้วยรถบรรทุก 65 เที่ยว อีกทั้งยังเปิดท่าเรือให้บริการกับเอกชนรายอื่น โดยมีขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าได้ครั้งละ 40-60 ตู้ต่อเที่ยวเรือ รองรับสินค้าได้ปีละ 500,000 ตู้ต่อปี
สำหรับโครงการท่าเรือขนส่งสินค้าครบวงจร ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ท่าเรือชายฝั่ง (coast port) ในพื้นที่ 14 ไร่ รองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์และเรือสินค้าทั่วไปขนาดความยาวประมาณ 50 เมตร กินร่องน้ำลึกสูงสุด 3.5 เมตร รับได้พร้อมกันครั้งละ 5 ลำ ส่วนที่สอง ไอซีดีในพื้นที่ 80 ไร่ ใช้เป็นสถานที่ตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร
ปัจจุบันยอดการส่งออกข้าวของไทยในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตันต่อปี เป็นข้าวจากแบรนด์ตราฉัตรเพียง 6-7 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2558 นี้ ซีพีตั้งเป้าการส่งออกให้ขยับขึ้นมาเป็น 1/10 ของปริมาณข้าวทั้งหมดของประเทศ หรือประมาณ 1 ล้านตัน
เมื่อสอบถามถึงนโยบายของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ที่มุ่งลดพื้นที่การทำนา ว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจข้าวของซีพีหรือไม่ นายธรรมวิทย์วิเคราะห์ว่า มาตรการดังกล่าวนั้นเป็นไปได้ยาก และถึงแม้พื้นที่เพาะปลูกข้าวจะลดลงจริง แต่ด้านวัตถุดิบคือพันธุ์ข้าวยังสามารถพัฒนาไปได้อีก ณ ปัจจุบันผลผลิตข้าวในประเทศไทยเฉลี่ยต่อไร่ ยังค่อนข้างต่ำ มีผลผลิตต่อไร่สูงสุดประมาณ 800 กิโลกรัม ขณะที่ผลผลิตข้าวในประเทศออสเตรเลียเฉลี่ยประมาณ 1,400 กิโลกรัมต่อไร่
ทั้งนี้ ซีพีกำลังขยายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา โดยเข้าไปตั้งโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวดังเช่นโรงงานข้าวนครหลวง การเข้าไปดังกล่าวถือเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพข้าวให้กับกัมพูชา อย่างไรก็ตาม นายธรรมวิทย์ยืนยันว่า การเข้าไปสร้างฐานการผลิตในประเทศกัมพูชาจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเนื่องจากชนิดข้าวที่ได้รับความนิยมในกัมพูชาแตกต่างไปจากของไทย แต่จะเป็นประโยชน์ทางอ้อมในการจัดการกับปัญหาแรงงานต่างด้าวของไทยได้ในระยะยาว
นี่คือโมเดลธุรกิจข้าวที่เรียกได้ว่าแทบจะครบวงจรของซีพี จากวิสัยทัศน์ที่มุ่งครองตลาดโลกของบิ๊กบอสซีพีอย่างเจ้าสัวธนินท์ เมื่อข้าวยังเป็นพืชอาหารที่หล่อเลี้ยงประชากรกว่าครึ่งโลก ในอนาคตซีพีอาจไม่เพียงแต่จะทำให้ “ครัวไทยไปสู่ครัวโลก” แต่จะก้าวไปสู่ผู้กุม “ความมั่นคงทางอาหาร” ของโลกก็ว่าได้
ที่มา : Thaipublica วันที่ 16 มี.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.