โดย...วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
ปัญหาใหญ่ที่พบเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ เป้าหมายของการเก็บภาษีชนิดนี้ ผันแปรไปเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ
เหลือเวลาอีกเพียง 12 วัน ก่อนที่กระทรวงการคลัง จะยื่นเสนอมาตรการเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหลังจากเพิ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลัง ไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ก็เพิ่งมีการประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558
คณะกรรมการปฏิรูปภาษีฯ ชุดนี้มี รมว.คลัง เป็นประธาน และ รมช.คลัง เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการ ได้แก่ ปลัดคลัง / อธิบดีสรรพากร / อธิบดีศุลกากร / อธิบดีสรรพสามิต / ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ / ศ. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา / นายสมชัย ไทยสงวนวรกุล / ผู้แทนกอการค้าและสภาหอการค้าไทย / ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม / ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุน / ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย / ผู้แทนสภาวิชาชีพ / ผู้แทน TDRI / โดยมี ผอ.สศค.เป็นกรรมการและเลขานุการ
มองจากองค์ประกอบของคณะกรรมการแล้ว พบว่า ไม่มีผู้แทนจากภาคประชาชน เพราะคงไม่รู้จะไปหามาจากไหน ทำให้คิดได้ว่า น่าสงสารภาคประชาชนจริงๆ ที่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ออกสิทธิออกเสียงในกลุ่มกำหนดนโยบายที่กระทบภาคประชาชนได้เลย ทำให้นโยบายภาครัฐมักจะเอื้ออำนวยแต่ภาคธุรกิจ
แต่อย่างไรก็ดี ตัวแทนในแต่ละภาคส่วนนั้นก็เป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีกันทั้งนั้น และอย่างน้อยก็มั่นใจว่าตัวเราเองสามารถทำหน้าที่ได้ 2 ภาคพร้อมๆ กันคือในฐานะตัวแทนจากภาคตลาดทุนไทย และในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่จะไม่ชื่นชมยินดีหากภาคธุรกิจได้ประโยชน์ แต่ประชาชนทั่วไปเสียประโยชน์อย่างไม่สมควรและไม่เป็นธรรม
อำนาจ หน้าที่ ของคณะกรรมการฯ
1. พิจารณาแนวทางการปฏิรูปภาษีอากรของประเทศไทยให้ครอบคลุมทั้งในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอากรและการบริหารการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษี สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน สร้างความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
2. ตรวจให้คำแนะนำ เพื่อยกร่างกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
3. ประสานงานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้การปฏิรูปบรรลุผลได้ภายในกรอบเวลาของรัฐบาลปัจจุบัน
4. ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ในข้อ 1 แล้ว พบว่าต้องทำการบ้านเพิ่มอีกมาก แต่ก็จะรอดูว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้มาแบบแกนๆ เพื่อหาฐานหนุน แล้ว กระทรวงการคลัง เอาไปทำเองทั้งหมด หรือว่าตั้งใจจริงเพื่อให้เกิดแนวคิดร่วมเพื่อให้บรรลุผลตามข้อ 1 นี้ (อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ขอให้ช่วยกลับไปอ่านทวนอำนาจหน้าที่ตามข้อ 1 อีกที)
จากประสบการณ์ที่ได้เป็นกรรมการกับคณะกรรมการหรืออนุกรรมการชุดต่างๆ ที่ภาครัฐแต่งตั้งมาหลายรัฐบาลนั้น พบว่า ส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของประเทศ ในลักษณะดังต่อไปนี้
1. เป็นที่ที่ภาคเอกชนใช้เสนอแนวคิด + ขอการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างเช่น กกร./กรอ. ฯลฯ โดยกรณีนี้ ฝ่ายเลขานุการภาครัฐจะขอกลั่นกรองสิ่งที่เอกชนเสนอทุกๆ อย่าง ก่อนจะบอกว่าให้ผ่านการเข้าเสนอได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร ซึ่งก็เป็นธรรมดีต่อทุกฝ่าย
2. เป็นที่ที่ภาครัฐใช้เป็นฐานว่า เอกชนสนับสนุนแนวคิดของภาครัฐแล้ว เพราะว่าภาคเอกชนก็เข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งมีข้อสังเกตุว่าในการประชุมนั้น ภาครัฐมักจะเป็นผู้เสนอเรื่องทั้งหมด และบางครั้งก็ไม่ได้ส่งเอกสารอะไรให้พิจารณาก่อนการประชุมเลย ต่างกับกรณีแรกมากๆ ซึ่งจะต้องแก้ไขกระบวนการให้ดี อย่าให้เป็นที่รับรองอะไรๆ แบบสอดไส้
สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปภาษีฯ ที่กล่าวถึงข้างต้น และเพิ่งมีการประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 นั้น มีข้อสังเกตุจากบรรยากาศการประชุม ดังนี้
1. รมว.คลัง มีความตั้งใจจริงที่จะปฏิรูประบบภาษี และเปิดกว้างรับฟังทุกภาคส่วน ไม่ได้คิดจะไปข่มเหงรังแก รีดเลือดจากภาคประชาชนหรือจะเอาใจแต่ภาคธุรกิจ ซึ่งนึกๆ ไปแล้วก็สงสารท่านเหลือเกินที่ต้องรับภาระที่สาหัสเอาการ
2. ตัวแทนจากภาครัฐ ทั้งกรรมการ และผู้บริหารของกระทรวงการคลังประมาณกว่า 20 คน มีแววตากังวลพอสมควรก่อนประชุม เพราะการที่ผู้เก็บภาษีกับผู้เสียภาษี อาจจะเป็นบรรยากาศที่มิสู้ดีเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี เมื่อการประชุมดำเนินไปได้สักพักใหญ่ บรรยากาศก็ดีขึ้น เพราะตัวแทนภาคธุรกิจมีความเข้าใจถึงภาระหน้าที่ของผู้เก็บภาษี และผู้เก็บภาษีก็เปิดใจกว้างยอมรับฟังกันและกัน
3. ตัวแทนภาคเอกชนหลายคน มีความเข้าใจเรื่องภาษี และไม่ได้ขอแบบตะพึดตะพือ ยอมรับฟังเสียงจากภาครัฐผู้เก็บภาษีด้วย
แต่ประเด็นที่ทำให้กังวลอยู่บ้างหลังประชุมเสร็จก็คือ เฉพาะเรื่องภาษีที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง ที่เหลือเวลาเพียง 12 วันก็จะเอาเข้าเสนอขออนุมัติจาก ครม แล้วนั้น แม้ว่า ครม.อาจจะอนุมัติ อาจจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางประการ แล้วต้องไปเข้า สปช. / สนช. อีก แต่งานที่ออกมาจากคณะกรรมการปฏิรูปภาษีชุดนี้ ควรจะตกผลึกก่อนนำเข้า ครม.
การประชุมกันครั้งเดียวเพียง 2-3 ชั่วโมงนั้นยังไม่ได้ข้อสรุปอะไร นอกจากรับฟังกันและกัน ซึ่งมีประเด็นที่ได้เสนอไปในที่ประชุมคือ "ปัญหาในการสื่อสาร" เพราะอ่านข่าว/ฟังข่าว แล้ว รู้สึกว่าไม่รู้รัฐบาลมีเป้าหมายอะไรกันแน่ในการจะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ กรรมการจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ นั้น บางท่านก็ยึดติดกับตัวอย่างในต่างประเทศกับหลักการภาษีที่ร่ำเรียนมา โดยอาจจะยังไม่เข้าใจ ความสัมพันธ์ของการเสียภาษีกับความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนเขารู้สึก
ตัวอย่าง
"ประเทศอื่นๆ เก็บภาษีที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างกันทั้งนั้น (ข้อนี้เถียงได้ว่า แล้วประเทศพวกนั้นให้สวัสดิการที่ดีกว่าแก่ผู้เสียภาษีด้วย ใช่ไหม ทำไมไม่พูดตรงนี้ด้วย โดยเทียบกับบ้านเรา)
"มาเลเซีย มีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศเขาเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี ค.ศ.2020 โดยกำหนดเลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เมื่อไหร่ เพื่อให้ไปถึงตรงนั้น เราก็ควรต้องมีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เราเป็นประเทศพัฒนาอย่างมาเลเซียด้วย"ฯลฯ
นั่นคือตัวอย่างของการสื่อสารที่จะยิ่งทำให้ประชาชนโกรธ เพราะยังเจ็บอยู่กับการที่ต้องจ่ายภาษีซ้ำแล้ว ซ้ำ เล่า และการที่มีคนไม่จ่ายภาษีโดยมีข้าราชการคอยช่วยเหลือ รวมไปถึงการคอร์รัปชั่นเอาเงินภาษีที่เกิดจากการทำงานหนักของประชาชนไปเป็นประโยชน์บำรุงบำเรอตนเองกับคนรอบข้าง
และประชาชนเขายังไม่ลืมเรื่องยิบย่อยอย่างนาฬิกากับเก้าอี้หลุยส์ และไมโครโฟนเทวดา กับการไปดูงานรัฐสภาต่างประเทศในสนามบอล
ปัญหาใหญ่ที่พบกับเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ เป้าหมายของการเก็บภาษีชนิดนี้ ผันแปรไปเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ
ที่ว่าน่าตกใจก็คือ ทำไมเรื่องใหญ่ๆ ขนาดนี้ ถึงเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปได้เรื่อยๆ เหมือนกับ สมรักษ์ คำสิงห์ พลิ้วกายไปรอบๆ สังเวียน !
เป้าหมายที่ไม่นิ่ง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ของเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เดิมทีภาคประชาชนต่างพากันโมทนาสาธุ และสนับสนุนเต็มที่ให้จัดเก็บภาษีที่ดินจากผู้ที่ครอบครองที่ดินจำนวนมาก ซึ่งการครอบครองได้มากมหาศาลนั้น ตัดโอกาสคนจำนวนมากที่น่าจะสามารถทำกินได้จากที่ดินที่เป็นทรัพยากรอันจำกัด การลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นธรรมต่อมหาชน เพราะหากมหาเศรษฐีที่ดินจะครอบครองต่อไป ก็ไม่ได้บังคับขาย แต่เขาก็จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มมากขึ้น
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยบอกแต่แรกๆ ว่าการเก็บภาษีแบบนี้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่ง กระทรวงการคลัง ก็รับลูกเรื่องนี้ ว่าจะทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
แต่อยู่มา อยู่ไป ไฉนจึงกลายเป็นจะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งบ้านเรือนผู้คน กับไร่นา ไปได้เดิมทีแค่ภาษีที่ดิน.
เหตุผลที่ได้ยินต่อมาคือ วัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีนี้ ก็เพื่อให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว !
เกี่ยวอะไรกับการเป็นประเทศพัฒนา ถ้าผู้คนชั้นล่างและชั้นกลางเดือดร้อนเพิ่ม และบ้านกับที่ดินของปู่ย่าตายายที่อยู่กันมาแต่เล็กแต่น้อย แต่ที่ดินดันมาอยู่แถวสาธร สีลม ฯลฯ ที่แต่เดิมเป็นทุ่งนา เรือกสวนราคาต่ำ แต่ปัจจุบันมีราคาพุ่งปรี๊ด เพราะกับคนบางคนที่เขามี Value System ที่คุณค่าของประวัติศาสตร์ กับสายใยจากบรรบุรุษ ไม่ใช่เงินก้อนใหญ่ในมือ เขาก็เลยไม่อยากขายบ้านและที่ดินของเขา ให้กับมหาเศรษฐีที่จะเอาไปพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แม้อาจได้เงินเป็นร้อยล้าน พันล้าน แต่เขาอาจจำเป็นต้องขายด้วยความขมขื่นที่รัฐบังคับเขา เพราะถ้าไม่ขาย เขาก็ไม่มีเงินพอจะเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
"คนที่คิดและสนับสนุนนโยบายนี้อย่าคิดว่าเงินนิดเดียว เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีเงินมาก ภาษีปีละเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน พวกลูกหลานที่กำลังอยู่ในบ้านของปู่ย่าตาทวด เขาอาจมีเงินเดือนเดือนละ 3 หมื่น 5 หมื่น เท่านั้น จึงไม่สามารถจ่ายให้ได้"
ที่สำคัญก็คือ แทนที่นโยบายนี้จะไปลดความเหลื่อมล้ำ กลับไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก เพราะจะมีสักกี่คนที่สามารถซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างนั้นได้
ล่าสุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รองนายกฯ บอกว่า ประเทศชาติต้องการรายได้จากภาษีไปพัฒนาประเทศ เลยจำเป็นต้องทำ
โจทย์เปลี่ยนอีกแล้ว !
ที่เขียนอย่างนี้ ไม่ใช่จะไปขัดขวางหรือตำหนิ แต่ขอโจทย์หรือเป้าหมายที่ชัดๆ จะได้ไหม เพราะกระทบคนทั้งประเทศ ถ้าโจทย์ชัดจะได้ช่วยกันเดินหน้าหาผลสรุปที่ควรทำ พร้อมเสนอแนวทางในการอธิบายต่อประชาชนให้ดีกว่าที่ทำๆ กันอยู่ทุกวันนี้ให้ได้
เราต้องการแรงหนุนจากประชาชน ไม่ใช่แรงถีบ ไม่ใช่หรือ
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 8 มี.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.