โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
ในสังคมไทยมีมายาคติที่ครอบงำผู้คนยอมอยู่จำนวนมาก และที่ทรงพลังก็อย่างเช่น “ถ้าขยัน จะไม่จน” “ความจนจะอยู่กับเราไม่นานถ้าเราขยัน” ซึ่งฟังผ่าน ๆ ก็ดูดี เข้าท่า ฉลาด ขยัน ฯลฯ แต่ถ้าใช้สติปัญญายั้งคิดสักนิด จะเห็นว่า “ความจน” ไม่ได้เกิดจากความ “ขี้เกียจ” อย่างเดียว แต่เกิดภายใต้โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม เกิดจากเงื่อนไขของการเข้าถึงอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร อำนาจเข้าถึงทุน อำนาจเข้าทรัพยากรรัฐ หรือแม้แต่ “อำนาจในการต่อรอง” กับคนอื่น ฯลฯ
ความจนจึงเกี่ยวพันกับเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย คนที่ยากจนเขาก็ไม่ได้อยากจนหรอกครับ แต่เขาเข้าไม่ถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และบางทีเขาก็ไม่ขี้เกียจหรอก ขยันแทบตายก็ไม่มีทางลืมตาอ้าปากได้ เพราะต้นทุนและการเข้าถึงทุนชนิดต่าง ๆ ไม่เท่ากับคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น การเกิดมาเป็นลูกคนรวย กับลูกคนจน ก็ต่างกันในเเง่โอกาสราวฟ้ากับดินแล้วครับ คำพูดดูดีๆๆๆๆ ข้างต้นจึงทำให้เสมือนคนจนขี้เกียจทั้งหมด โดยปิดบังซ่อนเร้นเงื่อนไขที่ทำให้เขา “จน” จนทำให้เราไม่เห็นมิติอื่น ๆ เลย ความจนมิใช่จนเงินทอง หรือวัตถุ แต่มันคือ การจนอำนาจในการต่อรองไปด้วย
ความจน และ “คนจน” ในที่นี้ คือ การที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และไม่มีทางเลือกในมิติต่างๆ งานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (2541) ได้ให้นิยามความจนว่า เป็นการเข้าไม่ถึงทรัพยากร ส่งผลต่ออำนาจในการต่อรอง และในท้ายที่สุดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดถอน หรือไม่ได้รับปฏิบัติให้เท่าเทียมในฐานะมนุษย์ หรือ “คนจน…ไม่มีทางจะสร้างสมหลักทรัพย์และเงินทองให้อุ่นหนาฝาคั่งได้ เพราะฉะนั้น เขาจึงต้องแสวงหาความมั่นคงของชีวิตในอีกวิถีทางหนึ่ง นั่นก็คือการสร้างสายสัมพันธ์กับบุคคล กลุ่มบุคคลชนิดที่จะทำให้เขาชักหลังมาปะหน้าและชักหน้ามาโปะหลังได้ตลอดไป”[1]
ความไม่เท่าเทียมเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้จน แต่เราไม่ค่อยใส่ใจ ให้ความสนใจเเต่วลีเก๋ๆ แต่ไร้สติ ยิ่งพระบางองค์บอกความจนเป็นเรื่องของกรรมเก่า นี้ยิ่งมโนมัยกันไปใหญ่ ความคิดพรรค์นี้ทำให้เราไม่เข้าใจ “โครงสร้างของความจน” ในมิติต่าง ๆ ยิ่งอยู่ภายใต้รัฐเผด็จการที่บอกว่ารายได้เท่านั้น เท่านี้ถึงให้ใช้บริการรัฐบางประเภทฟรี โดยไม่เข้าใจว่าจะเอาอะไรวัด อะไรยืนยัน ยิ่งทำให้ “คนจน/ความจน”
กลายเป็นประหนึ่งคนที่ต้องการสงเคราะห์ โดยมิได้มุ่งแก้เงื่อนไขที่ทำให้จน วลีเก๋ ๆ แต่ไร้การยั้งคิดก็มีพลังในการครอบงำผู้คนต่อไป 5555 พูดมาทั้งหมดเพราะอัดอั้นกับความจนของตนเอง
ครูผมมักบอกว่า “อะไรที่มันทำให้เป็นสิ่งซ่อนเร้น (hidden) สิ่งนั้นมักตามมาด้วยสถานะ “ไร้ตัวตน” จะก่อให้เกิดสภาวะอิลักอิเลื่อ อึดอัด ลักลั่น กระอักกระอ่วม และทำให้ชีวิต “ตกอยู่ภายใต้นิยาม” หรือ “อยู่ในวงเล็บ” ท้ายที่สุดคือ ไม่สามารถบอก “ตำแหน่งแห่งที่” และ “ตัวตน” ของตนเองได้ ซึ่งเป็นความเจ็บปวดที่สุดในฐานะ “มนุษย์” ความจนในสังคมไทยก็เช่นกัน เป็นความน่ารังเกียจ เป็นสิ่งที่ต้องกำจัด ปิดบังซ่อนเร้น หรือไม่ก็ต้องเป็น “ข้อยกเว้น” ที่รัฐ หรือใครต่อใครจะจัดการกับความจนด้วย
รอง ผอ.รมน. จังหวัดขอนแก่น เปิดหน้าบัญชาการกำลังเจ้าหน้าที่เคลียร์เส้นทางให้บริษัทน้ำมัน https://tlhr2014.wordpress.com/2015/02/16/รอง-ผอ-รมน-จังหวัดขอนแก่/
วิธีการต่าง ๆ เราจะเห็นว่าในช่วงที่รัฐบาลทหารเข้ามา หรือรัฐบาลก่อนหน้านั้นก็ตาม ต่างถือว่าความจนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ คนจนเป็นผู้ด้อยอำนาจ ยิ่งอยู่ในรัฐเผด็จการที่ไม่นำพาต่อความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อยแล้ว คนจนยิ่งอยู่อย่างหวาดหวั่น
ในช่วงที่ผ่านมาคนจนและผู้ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐและทุนจำนวนมากสร้างอำนาจต่อรองโดยการใช้การเมืองภาคประชาชนน ผ่านการเดินขบวนประท้วงในรูปของเครือข่ายปัญหาต่างๆ เช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ/ภาคอีสาน/ภาคใต้[2] แม้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้บ้างไม่ได้บ้างก็ถือว่าเขาเหล่านั้นมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐในระดับหนึ่ง แต่ภายใต้รัฐประหารเราพบว่ารัฐได้ใช้อำนาจเผด็จการในการเข้ารุกไล่ กวาดปราบผู้คน โดยเฉพาะคนจนอย่างหนักหน่วง อาทิการเชิญ(บังคับ)แกนนำกลุ่มปฏิรูปที่ดินภาคใต้เข้าไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร หรือการขนย้ายอุปกรณ์สำรวจน้ำมันโดยการอำนายการของเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดขอนแก่น การใช้ความรุนแรงโดยการลอบทำร้ายจนแกนนำเสียชีวิต[3]
การประท้วงไม่เอาบ่อแก๊สของชาวบ้านนามูล https://tlhr2014.wordpress.com/2015/02/13/บ-อพิโก้เตรียนขนอุปกรณ์/
ความรุนแรงต่อคนยากคนจนในช่วงที่ผ่านมาเกิดภายใต้เงื่อนไขที่เขาเหล่านั้นมีอำนาจต่อรองน้อย แม้แต่การชุมนุมประท้วงก็ได้รับการห้ามปรามจากกฎอัยการศึก การเข้ามาขัดขวางของเจ้าที่รัฐในระดับต่าง ๆ เสียงของคนจนที่เคยเปล่งผ่านการเมืองภาคประชาชน ผ่านสองเท้าที่เข้ามาประท้วงเพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐ และสร้างความเข้าใจต่อสังคมก็ถูกรัฐเผด็จการยึดไป ในห้วงเวลานี้อำนาจต่อรองของคนจนจึงจำกัดจำเขี่ยอย่างถึงที่สุด
การแก้ไขปัญหาคนจนของรัฐเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพคือ “ประชานิยมสิ้นคิด” เช่น ให้ผู้ที่มีรายได้น้อยไม่เกิน 2,422 บาท/คน/เดือน หรือ 29,064 บาท/คน/ปี ขึ้นรถเมล์รถไฟครึ่งราคา[4]
ซึ่งมาตรการข้างต้นยากจะปฏิบัติเพราะจะทราบได้อย่างไรว่าใครมีรายได้เท่าไหร่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวมิได้เพิ่มอำนาจการต่อรองให้คนจน แต่เป็นการซ้ำเติมให้คนจนตกที่นั่งลำบากมากขึ้น ให้อยู่ภายใต้การสงเคราะห์ของคนอื่น/หรือรัฐ การกระทำข้างต้นยิ่งทำลายศักดิ์ศรีของคนจนลงอย่างน่าใจหาย
การแก้ไขคนจนในประเทศ ไม่มุ่งปรับโครงสร้างเพื่อกระจายทรัพยากรที่มีการเสนอมาอย่างยาวนาน เช่น การเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เก็บภาษีมรดก การจำกัดการถือครองที่ดิน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น แต่สิ่งรัฐทำเป็นการแก้ไขปัญหาไปวัน ๆ ที่ไม่อาจทำให้คนจนลืมตาอ้าปากได้
ความจน/คนจน ในบ้านนี้จึงตกอยู่ภายใต้สถานะไร้ตัวตน ไร้อำนาจ อยู่ภายใต้บรรทัดของสังคมไทย เพราะเราเห็นเขาแต่ทำเสมือนว่าเขาล่องหนอยู่ในอากาศ ไม่มีอำนาจต่อรองในสังคมมากนัก ซึ่งสถานะความจนเช่นนี้ ถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างทางสังคม และเศรษฐกิจ ก็ไม่อาจทำให้เขาหลุดพ้นจากวังวนของความจนได้
อาจกล่าวได้ว่าความจนมิใช่จนทรัพย์สินเงินทอง หรือวัตถุเท่านั้น แต่สิ่งที่คนจนจนคือ “จนอำนาจต่อรอง”
[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์ วัฒนธรรมความจน แพรว, 2541.
[2] ดูเพิ่มใน, ประภาส ปิ่นตบแต่ง การเมืองบนท้องถนน : 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย ต้นตำรับ, 2541.
[3] ดูเพิ่มใน, สมัชชาคนจนประณามความรุนแรงต่อคนจนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน เว็บไซด์ ประชาไท วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 (http://prachatai.org/journal/2015/02/57930)
[4] ไทยรัฐออนไลน์ รัฐจ่อออกบัตรตีตรา “คนจน” มีรายได้ 2,422 บาทรับสิทธิ์ลดค่าโดยสาร 12 ก.พ. 2558 (http://www.thairath.co.th/content/480643)
ที่มา : Siam Intelligence วันที่ 21 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.