การหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กับกระทรวงมหาดไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ข้อสรุปว่า เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนบรรจุเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อผลักดันประกาศบังคับใช้ภายในปีนี้ จะทยอยขึ้นภาษีบำรุงท้องที่ล่วงหน้าก่อน
เพราะเมื่อเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งตั้งเป้าว่าจะจัดเก็บในปี 2560 แทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ โดยจะยกเลิกบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 กับ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนจะได้ไม่รู้สึกว่าต้องแบกรับภาระภาษีเพิ่มขึ้นมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงการปรับเปลี่ยนยกเลิกภาษีเก่าหลังประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ในอัตราที่ต่ำมาก
สาเหตุเป็นเพราะการจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ จะจัดเก็บในอัตรา 12.5% ของค่าเช่ารายปี ขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่จะจัดเก็บโดยใช้บัญชีราคาปานกลางที่ดินช่วงปี 2521-2524 หรือเมื่อ 34 ปีก่อน มาเป็นฐานในการคำนวณอัตราภาษี เฉลี่ยอยู่ที่ 0.25-0.5% ของราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 ขณะที่ปัจจุบันราคาที่ดินส่วนใหญ่สูงขึ้นหลายเท่าตัว
นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ยังมีการยกเว้น ลดหย่อนหลายกรณี อย่างเจ้าของที่ดินในกรุงเทพมหานคร ใช้ที่ดินปลูกบ้านอยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตร ได้สิทธิลดหย่อนไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ เช่น ในเขตชุมชนหนาแน่น ได้รับลดหย่อนตั้งแต่ 50-100 ตร.ว. พื้นที่หนาแน่นปานกลาง ได้รับลดหย่อน 100 ตร.ว. เขตรอบนอก ได้รับลดหย่อน 3-5 ไร่ เป็นต้น
ทำให้เจ้าของที่ดินมีภาระภาษีจ่ายให้กับท้องถิ่นแต่ละปีในระดับที่ต่ำ เนื่องจากอัตราการจัดเก็บอยู่ในระดับต่ำ และการประเมินการจัดเก็บภาษีอิงราคาปานกลางที่ดินตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปีก่อน
แต่เมื่อกฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯมีผลบังคับใช้ และใช้บัญชีราคากลางประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นราคาปัจจุบันมาเป็นฐานในการคำนวณจัดเก็บภาษี แม้ในสภาพความเป็นจริง ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษณ์จะต่ำกว่าราคาตลาด แต่ย่อมสูงกว่าราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 มากแน่นอน เมื่อเป็นอย่างนี้เจ้าของที่ดินก็ต้องแบกรับภาระภาษีใหม่ในอัตราที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตาม การทยอยขึ้นภาษีบำรุงท้องที่ให้สอดรับกับการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2560 ดูแล้วเป็นไปได้ยาก เพราะล่าสุดกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้นำราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2524 มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. 2558 อีกปีหนึ่ง
โดยระบุว่าเป็นเพราะการปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการประเมินราคาที่ดิน และอัตราภาษีบำรุงท้องที่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และการปรับปรุงโครงสร้างหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับมีแนวโน้มสูงที่จะใช้ราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 เป็นฐานในการคำนวณจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2559 อีกปีหนึ่งด้วย
จึงน่าห่วงว่าถึงปี 2560 เมื่อคนทั่วประเทศต้องแบกรับภาระภาษีใหม่เพิ่มขึ้น หลังเคยชินกับการจ่ายภาษีในระดับในอัตราที่ต่ำมาโดยตลอด นอกจากจะจัดเก็บรายได้เข้ารัฐไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว หน่วยงานปกครองท้องถิ่นโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา ฯลฯ ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษี ต้องเหนื่อยหนักและทำการบ้านล่วงหน้า เพราะอาจเจอแรงต้านอย่างคาดไม่ถึง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.