รายงานโดย ปณัฐนันท์ ดวงจิต นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร
ตีพิมพ์ครั้งแรกนสพ.ลูกศิลป์ เดือนมกราคม พ.ศ.2558
ทุกเช้าพระครูชาญยุทธ โชติธมฺโม ต.บ้านกาศ อ.สูงเม่น เจ้าอาวาสวัดหนองช้างน้ำ จ.แพร่ จะต้องเดินบิณฑบาตผ่านทุ่งนาในพื้นที่ แต่วันนี้เมื่อกลับมาถึงวัดก็เริ่มรู้สึกแสบคันบริเวณท่อนขาด้านล่าง เมื่อเริ่มลูบดูก็ได้พบว่า ผิวหนังพองน้ำเหมือนโดนไฟไหม้
พระครูชาญยุทธ ต้องนอนพักฟื้นอยู่โรงพยาบาลหลายวัน โดยแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นผลจากสารเคมีในทุ่งนาซึ่งปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายง่ายเวลาเดินเหยียบตามหนองน้ำ หรือพื้นที่เปียกแฉะที่มีสารเคมีสะสมอยู่
“อาตมาเข้าใจข้อจำกัดของเกษตรที่ต้องใช้สารเคมีในการปลูกพืช เพราะเกี่ยวพันพ่อค้าที่มีอำนาจกำหนดราคารับซื้อ แต่ยังอยากให้ชาวบ้านใช้เท่าที่จำเป็น และใช้ให้ถูกวิธี” เจ้าอาวาสวัดหนองช้างน้ำ กล่าว
นี่เป็นเพียง 1 ในผู้ได้รับผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้มีรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในรอบ 10 ปี ระหว่างพ.ศ.2546–2555 พบผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเนื่องจากการทำงานและสภาพแวดล้อม17,340 ราย เฉลี่ยปีละ 1,734 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
รายงานยังระบุว่า พบผู้ป่วยมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของทุกปีอันเป็นฤดูกาลเพาะปลูกและใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชกันมากโดยการเก็บข้อมูลล่าสุดพ.ศ.2555พบผู้ป่วยในภาคเหนือมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ37.7รองลงมาคือภาคกลางร้อยละ 29.69 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 29.29 และภาคใต้ร้อยละ 3.32 จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือจังหวัดลำปาง อัตราป่วยเท่ากับ 19.8 คนต่อประชากรแสนคน รองลงมาคืออ่างทอง อัตราป่วย 14.09 ต่อประชากรแสนคน และระยอง อัตราป่วย 12.12 ต่อประชากรแสนคน
“รอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชค่อนข้างสูง เฉลี่ยปีละ 120,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 18,000 ล้านบาท โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืช นำเข้าถึง ร้อยละ 74 ของสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชทั้งหมด บ่งชี้ถึงความเสี่ยงของประชาชนจะได้รับพิษสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน และอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังพบว่า มีการได้รับพิษในเด็กเล็ก ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการใช้อย่างไม่ระมัดระวัง เช่น การเก็บในที่ไม่ปลอดภัย การทิ้งภาชนะบรรจุ”รายงานระบุ
อาจจะดูเป็นตัวเลขเฉลี่ยต่อปีเพียงพันกว่าคน แต่ในความเป็นจริงมีผู้ป่วยที่ไม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก รายงานอีกฉบับจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ระบุว่า การตรวจเลือดเกษตรกรในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบเกษตรกรที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายทั้งสารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีอยู่ในระดับเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกปี
“พ.ศ.2545 มีตัวเลขร้อยละ 29.41 ปีพ.ศ.2550 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38.52 และล่าสุดปีพ.ศ.2554 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39 หรือคาดว่า มีเกษตรกรประมาณ 200,000–400,000 ราย เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสารเคมีในประเทศ” รายงานจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ระบุ
ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาระบุว่า ผลการตรวจเลือดเกษตรกรปีพ.ศ. 2556 ในพื้นที่ 48 จังหวัด จำนวน 3 แสนกว่าคน พบว่ามีสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 30 จึงคาดการณ์ว่า เกษตรกรทั่วประเทศกว่า 15 ล้านคน จะมีกว่า 4 ล้านคน ที่มีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว
นพ.สิทธิพงษ์ ระย้าแก้ว นายแพทย์ปฏิบัติการโรงพยาบาลแพร่ กล่าวว่า อาการป่วยจากสารเคมีการเกษตรจะเป็นทั้งระยะสั้น คือ ติดเชื้อฉับพลันเป็นแผลพุพอง บางรายอาจรุนแรงถึงขึ้นช็อกหมดสติ และระยะยาว มักเกิดจากการสูดดม หรือสัมผัสสารเคมีโดยตรง เบื้องต้นจะไม่มีอาการป่วย แต่จะส่งผลระยะยาวไปสะสมที่เยื่อหุ้มปอด มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ
“เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากาก ใส่รองเท้าบูท หรือแต่งกายรัดกุมขณะทำงาน จึงป่วยจากสารเคมี และเมื่อป่วยแล้วก็ไม่ยอมรักษาเพราะคิดว่าจะหายเอง สุดท้ายมาพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรงแล้ว แพทย์ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างแรง” นพ.สิทธิพงษ์ กล่าว
ด้านนางดวงฤทัย สุวรรณี เกษตรกรไม้ประดับ จังหวัดระยอง กล่าวถึงความจำเป็นในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่า ตลาดที่รับซื้อมักพูดตลอดว่า “พันธุ์ไม้อะไรก็ได้ ขอให้สวย” ทำให้เธอต้องดูแลผลิตผลิตของเธอให้สมบูรณ์ที่สุด
“ปัจจุบันแมลงศัตรูพืชดื้อยามา ต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนฉีดสาร 1 ครั้งอยู่ได้ 3 เดือน เดี๋ยวนี้ 2 เดือนครึ่งก็ต้องรีบฉีดกันไว้ ไม่เช่นนั้นอาจต้องไถทิ้งทั้งแปลงเสียหายเป็นหมื่นๆ บาท” นางดวงฤทัย กล่าว ง
ส่วนนางบุญตา พรมพุก เกษตรกรจังหวัดสุโขทัย บอกว่า ตลาดจะรับซื้อพืชผลที่สวยงามก่อนเสมอทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะผลผลิตที่ใช้สารเคมีจะสวยงามแตกต่างกับการไม่ใช้สารอย่างเห็นได้ชัด
“เกษตรกรมักใช้สารเคมีกันไม่ต่ำกว่า 1 ชนิด เช่น ตนปลูกกะหล่ำปลีก็ต้องใช้สารเร่งการห่อตัวให้หัวกะหล่ำห่องุ้มกลม เพราะปกติใบกะหล่ำปลีจะแผ่บานไม่สวยงาม ตลาดจะไม่รับซื้อ ต้องใช้สารกำจัดแมลงเพื่อไม่ให้พืชผลถูกกัดกิน และยังมียากำจัดวัชพืช เพราะแปลงผักขนาดใหญ่มีวัชพืชเยอะ ซึ่งสารเคมีช่วยประหยัดเวลาและกำลังคน” นางบุญตา กล่าว
ด้านเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรและการคุ้มครองผู้บริโภค ชี้ว่า ปัญหาที่แท้จริงคือนโยบายภาครัฐในการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศยังอ่อนแอ ที่ผ่านมามีแนวโน้มการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นทุกปี โดยระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว และมีอัตราการใช้สารเคมีต่อหน่วยพื้นที่มากถึงร้อยละ 11 ต่อปี
ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า อำนาจในการอนุญาตให้มีการนำเข้าสารเคมีเกษตรอันตรายทั้งหลายขึ้นกับภาครัฐ ดังนั้นกรมวิชาการเกษตร และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ควรกำหนดให้มีการยกเลิกใบอนุญาตการนำเข้าสารเคมีบางชนิด เช่น สารเคมี 36 ชนิด ที่ใช้ในนาข้าวซึ่งบางประเทศได้ยกเลิกไปแล้ว และสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ปลูกพืชหมุนเวียน ส่วนกลุ่มธุรกิจสารเคมี ควรลดทอนกำลังการผลิตและปรับปรุงความรุนแรงของสาร นอกจากนี้กลุ่มผู้บริโภคต้องร่วมกันกดดันหน่วยงานเหล่านี้ให้ควบคุมการใช้สารเคมี หรือบอยคอทการบริโภคพืชผักที่ใช้สารเคมี
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 6 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.