สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร พ.ศ.2551 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ถือครองทำการเกษตร 5.8 ล้านราย ในเนื้อที่ 112.6 ล้านไร่ เนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งใช้ในการปลูกข้าว โดยผู้ถือครองและเนื้อที่ถือครองเกือบครึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลี่ยถือครองที่ดิน 19.4 ไร่
อีกข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ “หนี้สินครัวเรือน” พบว่า ผู้ถือครองเกินครึ่งมีหนี้สินเพื่อการเกษตร เฉลี่ยครัวเรือนละ 104,640 บาท นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีการใช้ปุ๋ย ซึ่งเกือบทั้งหมดใช้ปุ๋ยเคมี เฉลี่ย 46.4 กิโลกรัมต่อไร่ และมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้น
อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน บอกว่า ปัญหาเกษตรกรไทยมีเรื่องใหญ่ๆอยู่ 2 เรื่อง...หนึ่ง...ปัญหาที่ดิน เชิงปริมาณ ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ที่ดินอยู่ห่างไกล และสอง...คุณภาพดินมีปัญหาเสื่อมสภาพ
ประเด็น “ดินมีปัญหา” จำเป็นต้องปรับปรุงวิธีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งที่มีปัญหาโดยน้ำมือมนุษย์ทำให้ดินมีปัญหาขาดคุณภาพ และ ดินเสื่อมโดยธรรมชาติ
“ปัญหาจากมนุษย์เป็นสิ่งที่มีวิธีแก้ไข การปรับปรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำอย่างไรไม่ให้เสียหน้าดิน ทางที่ดีที่สุดก็คือ การเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน เป็นสิ่งที่เรารณรงค์ทำกันอยู่ทุกวันนี้”
ที่ผ่านมา...เกษตรกรไทยใช้ประโยชน์ที่ดินซ้ำซาก ใช้กันมาเป็นร้อยปีตั้งแต่บรรพบุรุษ ขาดการบำรุงรักษา แล้วยิ่งในยุคหลังๆใช้สารเคมีมากขึ้น ใช้ไปนานๆก็มีความรู้สึกว่าให้ผลเร็ว ง่าย สะดวก ก็ยิ่งใช้ต่อเนื่อง
เกิดการปล่อยปละละเลย ไม่ได้สนใจหันมาเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ก็ทำให้สิ่งมีชีวิตในดินอยู่ไม่ได้ ขาดอินทรียวัตถุอาหารจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดินให้อยู่ได้ ทำงานได้ พอขาดมากเข้า สิ่งมีชีวิตในดินก็ลดลงไป
เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน
“เกษตรกรก็ต้องใช้ปุ๋ยมากขึ้นๆทุกที อาหารไม่มีเกิดขึ้นมาในดินก็ต้องใช้วิธีการเติมปุ๋ยเคมีลงไป ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม นำมาใช้ประโยชน์ปลูกอะไรผลผลิตก็ไม่ค่อยดี มีปัญหาในระยะยาว”
ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำ...การใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว แก้ปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น ชั่วครั้งชั่วคราว พอใช้ต่อเนื่องยาวนานก็จะมีปัญหา เกษตรกรไปไม่รอดจากภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นๆ
ในเรื่องของเชิงปริมาณ แรกเริ่มเกษตรกรจะมีที่ดินเยอะแยะมากมาย แบ่งให้ลูกๆหลานๆ ก็ซอยย่อยเป็นแปลงเล็กไปเรื่อยๆ อีกทางหนึ่งก็มาจากความล้มเหลวจากการประกอบอาชีพ ก็จะทำให้มีปัญหาว่าเดี๋ยว
น้ำท่วม...ฝนแล้ง โดนแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายผลผลิต ทำให้ไม่มีหลักประกันใดๆรับรองรายได้ให้เกษตรกรเลย
ปลูกไปแล้วจะได้รับผลหรือเปล่าก็ต้องเสี่ยงเอา ครั้นผลผลิตเสียหายก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หนี้สินค้างเก่าเดิมถ้าขายผลผลิตได้ก็เอามาโปะใช้หนี้ได้ ไม่มีปัญหา แต่พอผลผลิตมีปัญหา เสียหายไปครั้งหนึ่งรายได้ก็ไม่มี หนี้ไม่ได้ใช้ก็ต้องเข้าสู่วังวนกู้ไปเรื่อยๆ ในที่สุด...ต้องเอาที่ดินไปจำนอง แล้วก็เสียที่ดินไป
แววตา...ชาวเกษตรกร
“เกษตรกรจากเคยเป็นเจ้าของที่ดินก็กลายเป็นผู้เช่าที่ดิน เจ้าของที่ดินใหม่แน่นอนว่าคงไม่ได้ลงมาดูแลบำรุงดินอยู่แล้ว เพราะ...ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรปล่อยให้เช่าอย่างเดียว ส่วนคนที่เช่าอยู่ ความคิดที่จะปรับปรุงบำรุงดินให้ดีขึ้นก็คงไม่มีเพราะไม่ใช่ที่ดินของเขา ทำไปเรื่อยๆ...”
ที่ดินเพื่อการเกษตรบ้านเราจึงมีปัญหาเสื่อมโทรม ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเป็นตัวเร่ง
นับรวมไปถึงความเจริญ ขยายเขตเมือง พื้นที่อุตสาหกรรมก็บุกเข้าไปในพื้นที่เกษตร กลายเป็นปัญหา...ในที่สุดก็เกิดการสูญเสียที่ดิน วันนี้เจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์ตัวจริงเสียงจริง จึงมักเป็นผู้มีอันจะกิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการดินและแก้ไขปัญหาทรัพยากรดินเพื่อให้เกษตรกรได้อยู่ดีกินดี และเป็นที่มาของการเสนอให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก”
ปัญหาดินขาดคุณภาพ
สหประชาชาติได้ประกาศรับรองให้ทุกวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก และให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล ซึ่งเป็นปีแห่งการรณรงค์ในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ความเสื่อมโทรมของดินที่นับวันจะทวีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารโลก
นอกจากนี้ในปี 2558 ประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลกยังจะจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องในการให้ความรู้ การปรับปรุง การอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรดินอย่างมีประสิทธิภาพ...ยั่งยืน
“ในโลกนี้มีพระมหากษัตริย์ประเทศไทยพระองค์เดียวที่ลงมาสนใจเกี่ยวกับเรื่องดิน...สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำคือการแก้ปัญหาเรื่องการทำการเกษตร โดยเน้นเรื่องทรัพยากร ถ้าแก้ปัญหาเรื่องดิน ทำให้ดินให้ผลผลิตได้...ได้สูง ก็จะแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้”
อธิบดีอภิชาต ย้ำว่า ปีดินสากล 2558 มุ่งหวังเพื่อให้เกิดการหันมาใส่ใจ ให้ความสนใจ เรารู้ว่าดินมีคุณค่า มีประโยชน์ แต่ว่าเราก็ไม่ได้เอาใจใส่อย่างจริงจัง ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็แก้ไม่ได้
“ปัญหาที่ดิน”...เหมือนคนเป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีขั้นสุดท้ายแล้วก็แทบจะรักษาไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราวางแผนดูแลตั้งแต่แรกก็จะไม่เกิดโรคที่มาฝังอยู่ในที่ดินของเรา
ที่ดินเพื่อการเกษตร
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาเฉียบพลัน แต่เป็นปัญหาเรื้อรังมาเรื่อยๆ แล้วก็เริ่มออกอาการ ทั้งเรื่องเรียกร้องที่ดินทำกิน ต้องหาที่ดินทำกินให้ สัญญาณเหล่านี้เป็นสิ่งที่บอกเราว่า “มะเร็ง” ที่ลุกลามทำให้เราจะไปไม่รอดอยู่แล้ว
โฉมหน้าเกษตรกรไทยในอนาคต รายย่อยจะหดหาย จะมีแต่รายใหญ่ เรียกว่าเป็นยุคสะท้อนคนรวย...รวยเป็นกระจุก แต่คนจน ...ยากจนกระจายทั่วไทย วันข้างหน้าเป็นเรื่องที่ปลาใหญ่จะกินปลาเล็กไปเรื่อยๆอย่างนี้ เกษตรกรรายย่อยจะอยู่โดดเดี่ยวทำคนเดียว
ไม่ได้แล้ว จะเข้มแข็งได้ต้องรวมกลุ่มกัน
“แนวคิดที่คิดกัน จะทำในลักษณะคอมมูน เพราะถ้ามีสิทธิ มีใบเอกสารสิทธิ...หากระบบยังเป็นวังวนเช่นนี้ ในที่สุดแล้วที่ดินก็จะหลุดมือเกษตรกรแน่ๆ ระบบคอมมูน...เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างเดียว แต่ไม่มีสิทธิที่จะขายที่ดินผืนที่ทำอยู่ แล้วก็ทำร่วมกัน เพื่อรวมเป็นเครือข่าย มีโอกาสต่อรองการตลาดมากขึ้น”
แนวทางนี้ รัฐบาลเริ่มมองแล้วว่าจะเป็นระบบที่ดีในอนาคต โดยเฉพาะเกษตรกรไม่ต้องสูญเสียที่ดิน ไม่ว่าอย่างไรก็ยังมีที่ดินทำกิน สร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว
“ระบบนี้ใครไม่ขยันก็ต้องออกไป ตรงกันข้ามถ้าขยัน ก็จะได้รับผลประโยชน์ ได้รับการดูแล เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะป้องกันซึ่งต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันให้ดีพอสมควร เพราะบ้านเรายังไม่คุ้นเคย”
ที่แน่ๆ...แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นการบริหารจัดการที่ดีอย่างชาญฉลาด เกษตรทฤษฎีใหม่ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เอาไว้ทำกินได้ตลอดทั้งปี...ที่สำคัญ หากเกษตรกรขยันไม่ว่าจะทำ 1 ไร่ ได้ 1 แสน ไม่ว่าจะทำเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ถ้าขยันเสียอย่างก็ร่ำรวยมีฐานะขึ้นมาได้
เกษตรกรไทยจะหายจนต้องปรับกระบวนการในการบริหารจัดการที่ดี...“น้ำ” กับ “ดิน” ต้องไปด้วยกัน แนวทางบริหารจัดการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นทางรอด ถ้าเกษตรกรไทยนำมาทำ ปรับใช้อย่างจริงจัง
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 16 ม.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.