โดย...พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ข่าวการสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง นาโนไฟแนนซ์ หรือองค์กรบริการสินเชื่อขนาดย่อมของรัฐบาลทหารที่เมืองไทยในขณะนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของเมืองไทยในเวลานี้ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาหนี้สินผ่านระบบธนาคาร และส่วนที่สอง คือ ปัญหาความยุติธรรมหรือการทำธุรกิจที่ยุติธรรมของธนาคารพาณิชย์ของไทย โดยที่ในส่วนที่สองยังหมายถึงการทำธุรกรรมของธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ต้องอิงอยู่กับมาตรฐานสากล แต่ธนาคารของไทยอิงอยู่กับมาตรฐานสากลหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่มาก ในขณะที่มีการพูดเชิงการอวดอ้างถึงการนำระบบธนาคารและสถาบันการเงินเข้าสู่ชุมชนโลกให้มากขึ้น อย่างน้อยก็ชุมชนเอ.อี.ซี.(A.E.C.)
แม้ไม่โดยตรง แต่ความเป็นไปในเรื่องปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความยุติธรรมของการให้บริการของธนาคาร โดยเชื่อมโยงถึงนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพราะสถาบันการเงินอย่างธนาคารคือเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ หากรัฐกำหนดนโยบายให้ธนาคารบริการลูกค้าหรือประชาชนด้วยความยุติธรรม (fairness) กับพวกเขาและคำนึงถึงหลักการแข่งขันด้านธุรกิจ ปัญหาด้านสินเชื่อนอกระบบก็อาจลดลงไปได้มาก ซึ่งนั่นหมายถึงการวางระบบถ่วงดุลความเสี่ยงให้ยุติธรรมมากขึ้น
สถานการณ์ที่เป็นไปในปัจจุบัน คือ ลูกค้าของธนาคารได้รับความเสี่ยงจากบริการสินเชื่อที่นำไปใช้ในกิจการธุรกิจต่างๆ ขณะที่ธนาคารมีความเสี่ยง(จากการปล่อยกู้)น้อย การเสี่ยงน้อยของธนาคารแม้ดูว่าทำให้ธนาคารมีความมั่นคง แต่กลับทำให้ธนาคารกลายเป็นเสือนอนกินมากกว่าการดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ เพราะระบบการแข่งขันของธนาคารไทยไม่เคยทำงานเลยตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของการกำเนิดสถาบันการเงินเหล่านี้ขึ้นมา ในภาพรวมนั้นรัฐจึงควรปลดล็อคให้เกิดการแข่งขันในระหว่างธนาคารด้วยกันมากขึ้น รวมถึงการเปิดโอกาสเชิงการสนับสนุนให้มีการตั้งธนาคารใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ระบบการแข่งขันดำเนินไปอย่างเต็มที่ตามกลไกการตลาด
ข้อแห่งการเอารัดเอาเปรียบลูกค้าของธนาคารไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ควรเข้าไปปรับปรุงกฎกติกาในเรื่องดังกล่าวนี้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีมาตรฐานแบบสากล รูปแบบการทำงานแบบเสือนอนกินทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ค่อยกันไปทำการตลาดเชิงวาณิชธนกิจ หากแต่มุ่งทำธุรกรรมประเภทหากินง่าย ชนิดที่ไม่ต้องออกแรงลงทุนอะไรมาก คือ แสวงหากำไรจากค่าธรรมเนียม
ผมเคยพูดปัญหาของธนาคารพาณิชย์ของไทยที่สัมพันธ์กับอำนาจรัฐในการกำกับดูแลสถาบันการเงินไปบ้างแล้ว ก็อยากขอย้ำสรุปถึงปัญหาอีกครั้ง ดังนี้
1. การยังมุ่งหวังกำไรจากธุรกรรมค่าธรรมเนียม เป็นสิ่งสะท้อนถึงการเอารัดเอาเปรียบของธนาคารไทยอย่างเห็นได้ชัดที่สุด เช่น ค่าธรรมเนียมการถอนหรือโอนเงิน ระหว่างเขตที่แม้การทำธุรกรรมประเภทนี้จะเป็นการดำเนินในธนาคารเดียวกัน ซึ่งประเทศที่พัฒนาทางด้านระบบการเงินแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมการถอน ฝากหรือโอนเงิน เป็นในส่วนของการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารเท่านั้น
2. การสร้างความลำบากให้กับลูกค้าของธนาคาร (ส่วนหนึ่งเพื่อหวังค่าธรรมเนียม) ด้วยการไม่อนุญาตให้ลูกค้า ทำธุรกรรม อย่างเช่น การปิดบัญชี การเปลี่ยนชื่อ หรือที่อยู่ ฯลฯ ที่สาขาใดก็ตาม แต่ธนาคารบังคับให้ลูกค้าต้องกลับไปหาสาขาเดิมที่เปิดบัญชีไว้
3. การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิตด้วยจำนวนค่าธรรมเนียมที่แพง มาก แม้แต่การเปลี่ยนบัตร กรณีบัตรหายหรือชำรุด ธนาคารไทยก็ยังคิดค่าบริการอีก ในต่างประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมลูกค้าจากสาเหตุดังกล่าวนี้ และบัตรเอทีเอ็มหนึ่งใบ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนสามารถใช้บริการฝากถอน หรือทำธุรกรรมอื่นๆ ได้แทบทุกประเภท โดยไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม (กรณีแบงก์เดียวกัน) และสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มนั้น ทำธุรกรรมผ่านแบงก์ที่เป็นลูกค้าอยู่ สาขาใดก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เพียงแต่ต้องเป็นแบงก์เดียวกัน การที่ธนาคารพาณิชย์ไทยทำตัวเป็นเสือนอนกินอยู่นั้น ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสแห่งการพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจรวมทั้งพัฒนาการเชิงการแข่งขันเท่าที่ควรจะเป็น การคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทำนองนี้ ยังทำให้มีเกิดต้นทุนที่เกินความจำเป็นโดยใช่เหตุ ส่งผลให้ไทยไม่เป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน หรือนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เข้าไปเยือนประเทศไทย
4. โอกาสที่จะเกิดนวัตกรรมการเงินน้อยมาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทย ไม่ยอมคิดทำสิ่งใหม่ทางด้านการเงิน ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับแบงก์ต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน หรือจะเข้าลงทุนกิจการในไทยได้ นอกเหนือไปจากโอกาสในแข่งขันเพื่อลงทุนในต่างประเทศยิ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่การดำเนินงานอิงมาตรฐานสากลเชิงเสรีการเงินที่รายได้ของแบงก์ส่วนใหญ่มาจากส่วนต่างของดอกเบี้ยและวาณิชธนกิจ มากกว่ารายได้จากค่าธรรมเนียม
5. การมีนโยบายปล่อยกู้ โดยพิจารณาจากฐานความเชื่อ ความเสี่ยงเรื่องอายุ ประเด็นนี้เข้าข่ายผิดหลักในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล การพิจารณาเรื่องเงินปล่อยกู้ให้กับลูกค้า ขึ้นกับธนาคารโดยคำนึงถึงความเสี่ยงเรื่องอายุก็จริงอยู่ แต่ไม่ควรใช้เกณฑ์นี้อย่างเป็นทางการทั่วไป หากควรใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างอื่นพิจารณาร่วมด้วย เช่น รายได้หรือความสามารถในการผ่อนชำระ ร่วมกับระบบหลักประกันด้านการออมของลูกค้าผู้สูงวัยเหล่านั้น
น่าคิดว่า ทางการไทยไม่เคยมีการสนับสนุนให้จัดตั้งธนาคารขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะการให้มีสถาบันการเงินประเภทธนาคารขนาดกลางถึงขนาดย่อมในส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคที่เป็นในลักษณะจำเพาะท้องถิ่น โดยรัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐกำหนดขึ้นตามแบบอย่างมาตรฐานสากล หลักการก็คือ สำหรับการลงทุนทำธุรกิจแล้วไม่มีฝ่ายไหนไม่เสี่ยง ธนาคารมีความเสี่ยง และลูกค้าของธนาคารก็มีความเสี่ยง ลูกค้า(ประชาชน) จึงควรทราบข้อดีข้อด้อยของกิจการธนาคารที่ตนเองทำธุรกรรมหรือลงทุนด้วย
ขณะที่สถาบันการเงินท้องถิ่นเอื้อประโยชน์กับคนท้องถิ่นเองโดยตรง เพราะคนในท้องถิ่นนั้นๆ ย่อมรู้ปัญหาและความต้องการด้านการเงินและธุรกิจของตนในท้องถิ่นนั้นๆ ดีกว่าคนท้องถิ่นอื่น ดังกรณีของธนาคารท้องถิ่นอเมริกันที่มีการรวมกลุ่มกันของคนกลุ่มต่างๆ จัดตั้งเป็นธนาคารเฉพาะท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของคนท้องถิ่นนั้นๆ
การเปิดโอกาสให้ธนาคารท้องถิ่นถือกำเนิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ประชาชนหรือนักลงทุนมีทางเลือกในการใช้บริการการเงินผ่านธนาคารมากขึ้น สินเชื่อหรือธุรกรรมที่ต้องดำเนินการผ่านธนาคารไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงธนาคารขนาดใหญ่อย่างเดียว ธนาคารขนาดใหญ่จึงอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันกับธนาคารท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ธนาคารจากส่วนกลางแข่งขันกันให้ผลประโยชน์ด้านธุรกรรมประเภทต่างๆ กับลูกค้ามากขึ้น
หากดูจากกรณีของธนาคารท้องถิ่นอเมริกัน การที่ธนาคารมีขนาดเล็ก ทำให้มีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการค่อนข้างสูง ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นให้เงื่อนไขผ่อนปรนในการทำธุรกรรม เพียงแต่ต้องเป็นไปตามกติกาหรือกฎหมายของรัฐซึ่งสัมพันธ์กับกฎหมายของรัฐบาลกลาง เช่น เรื่องทุนสำรอง ทำให้ธนาคารขนาดย่อมเหล่านี้ สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ และทำให้ธุรกรรมการเงินไม่ได้ถูกกินรวบโดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เหล่านี้ เมื่อมาดำเนินกิจการในรัฐต่างๆ ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขหรือกติกาของแต่รัฐนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้น หากเศรษฐกิจส่วนการเงินของประเทศอยู่ในขั้นวิกฤต ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารท้องถิ่นจะพลอยวิกฤตไปด้วย หากสถาบันการเงินท้องถิ่นเหล่านี้กลับสามารถประคับประคองตนเองให้อยู่รอดได้ เพราะความสัมพันธ์เชิงปริมาณการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารมีน้อยกว่าธนาคารที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงการจัดการแก้ไขปัญหาองค์กรของธนาคารขนาดย่อมเป็นไปอย่างฉับไวมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ตามจำนวนบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือที่มีน้อยกว่า
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 19 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.