โดย...นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
www.thaisgwa.com
วันก่อนมีข่าวว่าคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอประเด็นที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2558 คือ การกำหนดให้มี ศาลสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาเพื่อพิจารณาพิพากษาอรรถคดีที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ
ได้อ่านข่าวนี้แล้วใจหนึ่งก็ยินดีและอีกใจหนึ่งก็รู้สึกเฉย ๆ เพราะคาดการณ์หรือเล็งเห็นผลในอนาคตได้ว่าหากมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นมาจริง แล้วจะนำไปสู่มรรคผลหรือความล้มเหลวอย่างไร
ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสกับกระบวนการทางศาลยุติธรรม และศาลปกครองของประเทศไทยก็อาจจะยินดีปรีดาก็ได้ว่าเราจะได้มีโครงสร้างใหม่ในกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรงเสียที
หากจะมีการบัญญัติหรือจัดตั้งให้มี ศาลสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาเป็นศาลชำนัญการพิเศษนั้นต้องตอบคำถามของสังคมหรือประชาชนให้ได้เสียก่อนว่าจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มักถูกค่อนขอดว่า ความล่าช้า คือ ความอยุติธรรม นั้นได้ไหม ? ศาลสิ่งแวดล้อมจะตอบโจทย์นี้ได้หรือไม่ อย่างไร ?
เพราะ ณ พ.ศ.นี้กระบวนการศาลของไทยก็มีศาลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วทั้งในศาลยุติธรรม และศาลปกครอง ซึ่งศาลยุติธรรม (ใช้ระบบกล่าวหา) ได้จัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมครั้งแรกในศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 ถัดมาอีก 1 ปี คือ วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ก็จัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นทั้ง 9 ภาคของศาลอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ก็เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลแพ่งทุกศาล เป็นอันครบถ้วนทั้งสามศาล ในส่วนของระบบศาลยุติธรรม
ส่วนในระบบศาลปกครอง (ใช้ระบบไต่สวน) ซึ่งมีอยู่ 2 ศาล คือ ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) และศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็ได้จัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาแล้ว โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ทั้งศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองภูมิภาคต่าง ๆ
เกือบ 10 ปีที่ศาลไทยเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมาพิจารณาพิพากษาอรรถคดีนั้น แม้เป็นสิ่งที่ดี แต่ทว่า ณ วันนี้ทำไมจึงมีการพูดถึง หรือเสนอให้มีการจัดตั้ง ศาลสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาอีก ซึ่งแสดงว่าความน่าเชื่อถือ หรือความคาดหวังของสังคมไทยที่เคยสัมผัส แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ทั้งในศาลยุติธรรมและศาลปกครองนั้น ล้มเหลว ใช่หรือไม่ ?
ถ้าตอบว่า ไม่ใช่ แล้วทำไมจึงมีการพูดกันหนาหู และเสนอให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมกันมาใหม่ล่ะ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเราก็มีแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลยุติธรรมและศาลปกครองแล้ว
ถ้าตอบว่า ใช่ ศาลทั้งปวงก็คงต้องหันกลับไปถอดบทเรียนของตนเองกันยกใหญ่แล้วว่า เหตุใดจึงทำให้ภาคประชาชนขาดความเชื่อถือในกระบวนการของศาลแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ทั้ง ๆ ที่น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อพิพาททางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาถ้าจะพิเคราะห์ก็คงเป็นเรื่องของ ความล่าช้า เป็นประเด็นสำคัญในการลดความน่าเชื่อถือของศาลลง เพราะบางคดีปล่อยให้การพิจารณาคดีใช้ระยะเวลาเนิ่นช้าไปเกินสมควรมาก เช่น คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คดีสารตะกั่วเหมืองแร่คลิตี้ คดีบ่อบำบัดน้ำคลองด่าน ฯลฯ เพราะกว่าศาลจะตัดสินครบทุกศาลก็ใช้ระยะเวลาไปกว่า 10 ปีทุกคดี จนบางคดีผู้ฟ้องและหรือผู้ถูกฟ้องคดีบางรายเสียชีวิตไปแล้วก็มี แต่ศาลจะรู้สึกรู้สาอะไรหรือไม่ไม่มีใครรู้หรอก
ประเด็นที่สอง คือ การตรวจสอบฝ่ายตุลาการ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราเคยเรียกร้องให้มีการตรวจสอบผู้มีอำนาจในฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครอง และฝ่ายนิติบัญญัติ มาโดยตลอด โดยการกำหนดหรือบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่ค่อยจะมีการกล่าวถึงหรือบัญญัติให้มีการตรวจสอบฝ่ายตุลาการบ้างว่า มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่น่าสงสัยในการบริหารจัดการคดีหรืออรรถคดีจนนำไปสู่ความเดือดร้อนและเสียหายต่อประชาชนหรือไม่ ถ้ามีจะมีช่องทางใดในการใช้สิทธิของประชาชนในการตรวจสอบอำนาจฝ่ายตุลาการได้บ้าง
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากจะคิดให้ก้าวหน้าควรต้องมีการบัญญัติมาตรการในการตรวจสอบอำนาจฝ่ายตุลาการไว้ด้วย โดยเฉพาะต้องมีกระบวนการที่ให้ปวงชนชาวไทย ในฐานะผู้มีอำนาจอธิปไตยตามมาตรา 3 ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นั้น มีอำนาจตรวจสอบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอำนาจฝ่ายตุลาการได้ด้วย มิใช่ตรวจสอบได้แต่เฉพาะฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติ จึงจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ณ วันนี้อรรถคดีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลมีนับหมื่นแสนคดีในศาลปกครองและศาลยุติธรรม เราอยากเห็นผู้ทำหน้าที่ตุลาการหรือผู้พิพากษาทุ่มเทการทำงานเพื่อผดุงความยุติธรรมไว้เป็นที่ตั้ง มีกระบวนการอย่างโปร่งใส รวดเร็ว เป็นธรรม และประหยัด เราคงไม่อยากเห็นตุลาการหรือผู้พิพากษาไปตีกอล์ฟในวันเวลาราชการ เราคงไม่อยากเห็นท่านมาทำงานสายและเร่งรีบออกจากสำนักงานไปก่อนเวลาราชการเลิก เราคงไม่อยากเห็นท่านเอาเวลาไปเรียนหลักสูตรพิเศษเพื่อสร้างสายสัมพันธ์กันหรือคอนเน็คชั่น(Connection) ในหลักสูตรต่าง ๆ ที่แห่กันเปิดเป็นดอกเห็ดในหลาย ๆ องค์กร/หน่วยงาน เราคงไม่อยากเห็นท่านนัดคู่ความให้มาศาลตรงเวลาแต่ท่านกลับออกนั่งบัลลังก์เสียสายโด่งล่าช้าเกินสมควร เราไม่อยากเห็นท่านเอาอารมณ์เสียที่บ้านมาระบายในห้องพิจารณาคดี ฯลฯ
แต่หากสังคมไทยจะมีกระบวนทัศน์ใหม่ หนีไปจากพาราไดม์ (Paradigm) เดิม ๆ เพื่อการนำไปสู่จัดตั้ง ศาลสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาโดยตรงในระบบศาลคู่อีกศาลหนึ่ง ก็พอจะมีข้อเสนอเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้ครับ
1)ต้องเตรียมบุคลากรเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาและหรือตุลาการให้เพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว และต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญการทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง (เพราะเป็นศาลชำนัญการพิเศษ) และบุคลากรเหล่านั้นต้องมีระบบการตรวจสอบได้ และต้องมีระบบค่าตอบแทนที่สูงสุด
2)วิธีพิจารณาคดีต้องเป็นระบบไต่สวนเท่านั้น ศาลต้องแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยตัวของศาลเองหรือการมีที่ปรึกษาและหรือพนักงานคดีจำนวนมากที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาช่วยเหลือเป็นทีมมากเพียงพอต่ออรรถคดีที่รับผิดชอบในการกรองงานและสรุปสำนวนข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงเพื่อถกแถลงให้ทราบ ไม่ใช่เอาเด็กวัยรุ่นเพิ่งจบการศึกษามาช่วยทำงาน
3)เปิดโอกาสให้กระบวนการเรียกร้องสิทธิของประชาชนเป็นทั้งแบบเดี่ยว ปัจเจกชน และแบบกลุ่ม แบบตัวแทนเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และประหยัด มีดรรชนีชี้วัดอรรถคดีหรือการกำหนดระยะเวลาการพิพากษาไม่เกิน 6 เดือนในแต่ละคดี
ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนับวันจะรุ่นแรงเพิ่มมากขึ้น หากกระบวนการศาลยุติธรรมยังไม่ปรับตัวเองเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม นับวันความเสื่อมถอยของระบบก็จะเพิ่มมากขึ้น การบัญญัติตัดตอนลดความสูงของหอคอยงาช้าง เพื่อให้ลงมาแนบชิดใกล้ชิดกับประชาชนที่ทุกข์ร้อนเดือดร้อนที่มีทั้งแผ่นดินให้มากขึ้นนั้น น่าจะเป็นของขวัญชิ้นเลิศสำหรับกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมของไทย...เอ๊ะ..ผมฝันไปหรือเปล่าเนี่ยะ...
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 19 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.