โดย...ณัฐพล ไกรทัศ
จากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทวงคืนผืนป่า และคำสั่งที่ 66/2557 เรื่องการเยียวยาและการปฏิบัติต้องไม่ส่งผลกระทบผู้ยากไร้และที่ทำกิน รวมถึงแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้
ถือเป็นเจตนาดีของรัฐบาลคสช. ที่จะป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาใหญ่ระดับชาติที่เรื้อรังคาราคาซังมานาน
แต่ทว่าในทางปฏิบัติค่อนข้างเป็นปัญหา เพราะหลายพื้นที่ชาวบ้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยหากินอยู่ในป่ามาก่อนที่ทางการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และป่าสงวนแห่งชาติ ชาวบ้านเหล่านี้จึงถูกจับกุมดำเนินคดีไม่น้อย
โครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและข้อเท็จจริงบริเวณพื้นที่บ้านโป่ง ปูเฟื่อง ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย หนึ่งในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จับกุมชาวบ้าน และถูกสั่งห้ามเข้าพื้นที่ทำกินของตัวเอง
ที่บ้านโป่งปูเฟื่องมีชาวบ้านอาศัยอยู่ราว 100 ครัวเรือน ปะปนทั้งคนเมืองและคนกะเหรี่ยง มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กรุ่นหลังรู้จักรักและดูแลธรรมชาติ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียน ปลูกพืชหลายชนิด เช่น ข้าว ฟักทอง แตงกวา เป็นต้น
ขณะที่อีกฟากของชุมชนเป็นภูเขาที่เกลื่อนไปด้วยต้นยางพาราและไร่องุ่นนับพันไร่ของนายทุนใหญ่รายหนึ่ง แต่กลับไม่ถูกยึดหรือจับกุมจากทางการ ทั้งที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เช่นเดียวกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเหมือนโดนรังแกและไม่ได้รับความเป็นธรรม
นายวาด ประมาณ หรือลุงวาด ชาวบ้านโป่งปูเฟื่อง ผู้ถูกจับข้อหาบุกรุกผืนป่า และเพิ่งพ้นโทษ เล่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าถูกจับข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าและเป็นผู้ถือครองที่ดิน ทั้งที่ความจริงที่ดินแปลงนั้นไม่ใช่ของลุง แต่ลุงเป็นแค่คนเช่ามาปลูกข้าวโพด 18 ไร่
"ครอบครัวลุงเดือดร้อนมาก ไม่มีที่ดินทำกิน อยากขอร้องให้ ผู้มีอำนาจหยุดใช้นโยบายก่อน ชาวบ้านอย่างลุงประสบปัญหามาก อยู่กินอย่างอัตคัด ขอวิงวอนให้พวกเขาลงมาพูดคุยกับเราบ้าง เพื่อจะได้นำปัญหาไปแก้ไขให้ตรงจุด" ความหวังของลุงวาด
นอกจากนี้ ยังพบว่าพื้นที่ป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย กับชุมชนบ้านโป่งปูเฟื่องนั้น เป็นพื้นที่ทับซ้อน โดยดูตามประกาศป่าสงวนแห่งชาติแม่ลาวฝั่งซ้าย ปีพ.ศ.2511 แต่ชาวบ้านยืนยันว่าพวกเขาอยู่มาก่อนปีพ.ศ.2432 ก่อนจะประกาศป่าสงวนแห่งชาติด้วยซ้ำ
รวมถึงการปรับปรุงแผนที่ปีพ.ศ.2545 นั้น ดังนั้น ปัญหาป่าทับซ้อนกับเขตชุมชน เกิดจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ลงมาสำรวจในพื้นที่จริง ยิ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่ยึดตามคำสั่งคสช.ที่ 64 เข้าแผ้วถางที่ดินทำกินของชาวบ้าน แต่กลับไม่เอาคำสั่งคสช.ที่ 66 มาใช้ด้วย
นายกมล อุปรัตน์ ชาวบ้าน โป่งปูเฟื่อง ร่วมเล่าว่าปีพ.ศ. 2513-2540 มีการปลูกป่าทับที่ชาวบ้านเพิ่มขึ้น บางแปลงมีเอกสารสิทธิ เมื่อเจ้าหน้าที่ปรับปรุงแผนที่ จึงเห็นชัดว่าพื้นที่ป่าและที่ทำกินทับซ้อนกัน ทำให้มีข้อขัดแย้ง กระทั่งปีพ.ศ.2547 ชาวบ้านตัดสินใจจะฟ้องร้องคดี จึงมีการตรวจสอบจนทำให้รู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่ปลูกป่า แต่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน
นอกจากบ้านโป่งปูเฟื่องแล้ว ที่ชุมชนบ้านแม่ป่าเส้า บ้านแม่คองซ้าย ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็ประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน
บริเวณชุมชนแห่งนี้ เดิมเป็นถิ่นอาศัยของชนเผ่าลัวะ เคยพบหลักฐานโบราณวัตถุ ถ้วยชามและกล้องยาสูบดินเผา แต่ต่อมาทางการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ บางส่วนเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ทำให้ที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ ทับซ้อน
ที่ผ่านมา มีความพยายามจะอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่พิพาท แต่ก็ถูกคัดค้าน และเรียกร้องให้กันเขตชุมชนออกจากเขตอนุรักษ์ พร้อมทั้งขอให้มี พ.ร.บ.ป่าชุมชน และโฉนดชุมชน
จากการจัดเวทีเสวนาร่วมกับชาวบ้าน พูดคุยถึงปัญหา ผลกระทบ และข้อเสนอแนะของชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านทั้งคนเมืองและกะเหรี่ยงจากหลายหมู่บ้าน อาทิ บ้านเลาวู ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง และละแวกใกล้เคียงมาร่วมวงเสวนา เพื่อร่วมกันหาทางออกต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
"ลูกยังเรียนอยู่ เราต้องรับจ้าง ทุกวันนี้นอนไม่หลับเลย ทุกครั้งเห็นแค่ภาพไร่ นาข้าวเสียหาย คิดแล้วเครียดทุกวัน เพราะไม่เคยแจ้งเราก่อน เราไม่รู้ตัว กลับมาก็ไม่เหลืออะไรแล้ว" นางอาหมี่มะ เลาลิปา หนึ่งในชาวบ้านที่เดือดร้อนกล่าว
นางอาหมี่มะเล่าอีกว่า สูญเสียพื้นที่ปลูกข้าวไร่และข้าวโพด รวมทั้งพืชผลการเกษตรราว 5 ไร่ จากทั้งหมด 8 ไร่ เพราะถูกกล่าวหาว่ารุกล้ำเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งคสช.ที่ 64 ดำเนินการ โดยอาหมี่มะยืนยันว่าทำกินในพื้นที่มากว่า 10 ปี จึงอ้อนวอนขอให้ทางการเห็นใจด้วย
ขณะที่นายอมรเทพ ภมรสุจริจกุล ผู้ใหญ่บ้านเลาวู ร่วมกล่าวว่าหมู่บ้านติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีพื้นที่ประมาณ 40,000 ไร่ ชาวบ้านมีพื้นที่ทำกินแค่ 1,000 กว่าไร่เท่านั้น พื้นที่ป่า ทำกินทั้งหมดไม่มีเอกสารสิทธิ ชาวบ้านบุกเบิกมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งบุกรุกภายหลังปีพ.ศ.2545 อยากให้คสช.ยกเลิกคำสั่ง และส่งเจ้าหน้าที่มาพูดคุยกับชาวบ้าน
จากเสียงสะท้อนของชาวบ้าน นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ร่วมให้ข้อสรุปว่าปัญหาอยู่ที่คำสั่งฉบับที่ 64 ของคสช. และเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติไม่ยอมใช้คำสั่งฉบับที่ 66 และแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้เป็นไปด้วยความลักลั่น
"ถือว่าเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ทำให้การแก้ปัญหาต่อมาผิดตลอด ทางแก้ปัญหาคือ คสช.ต้องยุติแผนแม่บท เพราะการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่มีการเจรจากับชาวบ้าน อีกทั้งไม่ใช่การทวงคืนผืนป่า เพื่อเอาไปเพิ่มป่า แต่เป็นการเอาที่ทำกินที่ชาวบ้านใช้มาเป็นเวลานานเอาไปเพิ่มป่า ถือเป็นวิธีการที่ผิด" นายประยงค์กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ในพื้นที่เป็นวงกว้างเรื่อย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมสั่งชะลอการจับกุม หรือดำเนินการใดๆ ไว้ในระหว่างนี้
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 11 ธ.ค. 2557