ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่แล้ว การบริหารจัดการการค้าข้าว ก่อหนี้สินให้พลเมืองไทยที่ยังไม่ได้เกิดมา เป็นจำนวนมากมาย ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ก็กำลังก่อภัยเศรษฐกิจร้ายแรง ซึ่งถ้าบริหารจัดการไม่ถูกต้องก็จะก่อหนี้สินให้พลเมืองไทยที่ยังไม่ได้เกิดมา เป็นจำนวนมากมายอีก
ทำไมเกษตรกรรายย่อยยากจนลงเรื่อย ๆ ?เราต้องพิจารณาปัญหาทั้งระบบ อย่าหลงกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบประชานิยม ปัญหาของเกษตรกรรายใหญ่ที่ทำ นา/สวน/ไร่ ขนาดใหญ่ แบบฟาร์มทุนนิยมนั้นเป็นแบบหนึ่ง
ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยที่ทำ นา/สวน/ไร่ แบบฟาร์มขนาดเล็กก็เป็นอีกแบบหนึ่ง การผลิตของเกษตรกรรายย่อยนั้นมิเพียงเป็นการทำมาหากินเท่านั้น แต่มันเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวสยาม เมื่อสังคมไทยกลายเป็นทุนนิยมมากขึ้น ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยจะยิ่งรุนแรงขึ้น
จุดพลาดของเกษตรกรรายย่อยคือ การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว พึ่งรายได้หลักจากพืชชนิดเดียว ทุนนิยมกระตุ้นให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อสนองความต้องการปริมาณมหาศาลแบบการผลิตของทุนนิยม แต่ไม่อาจประกันราคาสินค้าการเกษตรได้ ซ้ำร้ายตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตรยังเป็นตัวกดราคาสินค้า เพราะซื้อขายกำหนดราคากันไว้ข้ามปีแล้ว
พลเมืองส่วนใหญ่ขอทุกประเทศเป็นชนชั้นกลางและล่าง ไม่อาจขัดขืน สู้รบกับทุนนิยมได้ เกษตรกรรายย่อยในไทยก็เช่นเดียวกัน เมื่อถูกตลาดแบบทุนนิยมครอบงำเช่นนี้ ก็เหลือทางเดียวที่เอาตัวรอด ไม่ล่มสลายทางฐานะเศรษฐกิจ แล้วกลายเป็นกองทัพแรงงานรับใช้ทุนนิยม ทางรอดนั้นคือการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพาะปลูกพืชมากมายหลายชนิด เลี้ยงสัตว์หลายชนิด ลดต้นทุนการลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าของตน สรุปรวมคือทำระบบเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
ทำสวนลำไยอย่างเดียว ถึงฤดูลำไยออกผล ราคาก็ตกต่ำ จนขาดทุน
ทำนาอย่างเดียว ขายข้าวไปแล้ว ก็ต้องซื้ออาหารทุกอย่าง
ทำสวนยางพาราอย่างเดียว เมื่อราคายางตกต่ำ ก็เดือดร้อน ไม่มีรายได้ทางอื่น
สรุปว่า หากเกษตรกรรายย่อยเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ก็จะขาดทุนเสมอ แล้วค่อย ๆ ล้มละลายช้า ๆ จนในที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ขายแรงงานกันหมด ชีวิตทางวัฒนธรรมก็จะเปลี่ยนไป วัฒนธรรมไทยส่วนดี ๆ ที่เป็นมรดกจากสังคมเกษตรกรรมก็จะสูญไปด้วย
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 10 ธ.ค. 2557