โดย...พงศ์ พริบไหว
ปราชญ์ด้านเกษตรท่านหนึ่งตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า หากวันหนึ่งชาวนาในยุคสมัยของเราแก่ชราลงหมดเรี่ยวแรง แล้วใครเล่าจะปลูกข้าวให้เรากิน...
ดูเหมือนว่าคำตอบอาจจะยังไม่เด่นชัดนัก แต่ถึงเช่นนั้นในวันที่ผู้คนเร่งแข่งกันหาเงินทองและกอบโกยคุณภาพชีวิตที่ดี หลายๆ ชีวิตกลับตระหนักและคิดขึ้นได้ว่า แท้จริงแล้วข้าวคือสิ่งจำเป็นที่สุดในชีวิต ทำให้คนหนุ่มสาวหลากหลายชีวิตตัดสินใจมาเป็นชาวนา และนั่นเองจึงทำให้ได้เห็นความหวังใหม่ ความหวังของชาวนายุคทันสมัย ที่สามารถลืมตาอ้าปากด้วยวิถีชาวนาที่เข้มแข็งและยั่งยืนในแบบฉบับของตัวเอง เพื่อคอยสานต่อหนทางแห่งการกินอยู่ให้คนในอีกยุคสมัย
วิธีที่เราคิด คือชีวิตที่เราเลือก
นิค-นิรินธน์ ประเสริฐสังข์ อายุ 31 ปี หลังเรียนจบจากคณะมนุษยศาสตร์สื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เธอไปจับงานเอ็นจีโอในเรื่องสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ทำอยู่หลายปีดีดัก วันหนึ่งเธอได้มีโอกาสเข้าไปทำงานอยู่ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งเป็นเสมือนโรงเรียนบ่มเพาะชาวนา และสำหรับเธอการได้ก้าวเท้าเข้ามาสู่โลกแห่งเกษตรกรในวันนี้ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมากมายเหลือเกิน
“จริงๆ แล้วเราก็เป็นลูกชาวนา พ่อแม่ก็ทำนากันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว แต่ก็คงเหมือนเด็กทั่วไปเรียนจบมหาวิทยาลัย แล้วก็ต้องหางานทำที่กรุงเทพฯ เราก็ทำงานอยู่หลายปีเลยแหละ
จนได้มาทำงานที่มูลนิธิข้าวขวัญซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเลย เพราะเวลาทำงานเราก็ได้เรียนรู้ซึมซับแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์มาเรื่อยๆ เราได้เห็นเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์ หลายต่อหลายคนประสบผลสำเร็จจริงๆ มันก็ยิ่งตอกยํ้าความคิดเราขึ้นมาเรื่อยๆ ว่า เราเองก็มีที่นาอยู่แล้วทำไมเราถึงไม่ทำเหมือนกับชาวนาที่เราให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์กับพวกเขา พอความคิดแบบนั้นมันอยู่ในหัวเรื่อยๆ กลับบ้านไปทำนาดีกว่า อีกอย่างเราก็อยากกลับไปอยู่ดูแลแม่ด้วย”
หลังจากที่เธอเลือกกลับไปทำนาที่บ้านเกิดใน จ.พะเยา สาวเจ้าก็แทบปาดนํ้าตา เพราะรู้ว่ามันไม่ได้ง่ายเหมือนตอนเป็นคนสอนวิธีทำนาให้กับชาวบ้าน เพราะเวลาที่ลงมือจริงนั้นมีแต่อุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของแรงที่มีไม่เหมือนผู้ชาย ต้องอาศัยการปรับตัวอยู่นานพอสมควร แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
“พอมาทำนาใหม่ๆ คนเขาก็นินทาเราทั้งหมู่บ้านหาว่าเราเป็นบ้า บางคนก็มาพูดกับเราว่าคิดผิดแล้ว เรียนจบปริญญากลับไปทำงานในห้องแอร์ดีกว่า ยุให้กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ เถอะ ไม่ต้องมาเป็นชาวนาหรอกมันลำบาก แล้วเราก็ทำนาอินทรีย์ด้วยไง ชาวบ้านเขาก็ยิ่งคิดว่าเราเพี้ยน (หัวเราะ) เราก็พยายามทำเต็มที่นะตอนนั้น อันไหนที่ทำไหวพึ่งพาตัวเองได้เราก็ทำ อันไหนที่ไม่ไหวก็จ้างเขาไปก่อน ทำแบบลดต้นทุนเอา ซึ่งตอนนั้นก็แบ่งที่นาเพื่อทดลองทำแปลงเกษตรอินทรีย์ก่อน 25 ไร่ แล้วเราก็ปลูกกล้วยปลูกมะนาวเอาผลผลิตมากินมาขายบ้าง”
นิรินธน์บอกว่า เธอไม่คิดเสียใจ และมองในอีกมุมกลับว่า ดีเสียอีกที่เธอได้กลับมาอยู่กับครอบครัวใช้ชีวิตที่แสนเรียบง่ายพอเพียง ได้อยู่กับท้องทุ่งนาของตัวเองได้เฝ้ามองดอกผลที่กำลังเติบโตบนแปลงปลูก ทั้งยังไม่ต้องมาเป็นลูกน้องใคร ไม่ต้องทำงานตามใครสั่ง ไม่มีเวลาเข้างานเลิกงาน เพียงแต่ต้องมีการจัดการวางแผนที่ดี แค่นี้มันก็เพียงพอแล้วที่ทำให้ชีวิตใหม่ของเธอครบพร้อม ซึ่งสามารถวัดค่าด้วยอัตราความสุขบนใบหน้าของเธอ
“มาทำนาได้ 3 ปี ตอนนี้เราตอบตัวเองได้เลยนะว่าเราคิดถูกที่สุดแล้ว เพราะหลังจากที่เราตัดสินใจกลับบ้านเราก็บอกกับตัวเองไว้เลยว่าอาชีพสุดท้ายที่ฉันจะทำคืออาชีพชาวนา แล้วเราก็ไม่ได้หวังรวยอยู่แล้ว เพราะถ้าจะทำนาให้รวยเราต้องมีที่เยอะๆ แต่เรากลับมาทำนาเพราะคิดว่าเราจะทำให้แค่พออยู่ได้ไม่เป็นหนี้ใคร ทำนาแล้วได้กำไรแค่นั้นพอ อย่างตอนนี้เรารู้นะว่าทำนามันอยู่ได้จริง เพราะเราจะจดต้นทุนไว้หมดว่าเราซื้ออะไรไปบ้าง แล้วเราขายข้าวได้เงินเท่าไร พอมาเทียบกับต้นทุนดูเราก็รู้ว่าเราได้กำไรเท่าตัว ถ้าปีไหนราคาข้าวดีก็จะได้กำไรสูง”
ตัวกำไรที่เธอพูดถึงก็มาจากการปลูกข้าวและการทำตลาดเองเพื่อเพิ่มมูลค่าในแบบที่ไม่ถูกกดราคา โดยเธอปลูกข้าวปลอดสารไว้หลายชนิด เพื่อขายให้กับคนที่สนใจโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “สวนนาขวัญ” ซึ่งมีข้าวคัดสรรพร้อมส่งทั่วประเทศในราคาย่อมเยาที่กิโลกรัมละไม่ถึง 100 บาท มาถึงตอนนี้ใครอยากปรึกษาเรื่องการทำนาเธอเองพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มใจ (โทร.08-5712-8221)
“ถ้าเกิดว่าเป็นไปได้ก็อยากให้คนยุคใหม่มองเรื่องอาชีพชาวนาเป็นตัวเลือกบ้าง เพราะจริงๆ การทำนามันไม่ได้ยากโดยเฉพาะการทำนาอินทรีย์ จริงๆ มันเป็นวิธีการที่ง่ายนะเราไม่ต้องพึ่งสารเคมีเลยมันก็ทำให้เราลดต้นทุนได้มากเป็นเท่าตัว แต่เราต้องศึกษาและวางแผนให้ดี อย่างเราเป็นผู้หญิงเรายังทำได้เลย แล้วคิดว่าถ้าใครจะทำก็คงไม่ยาก อยู่ที่ว่าเราต้องสู้ต้องมุ่งมั่นกับผืนนาของเรา แล้วอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่ปลูกข้าวให้คนกิน ยิ่งเราทำด้วยแนวคิดที่ดีก็ยิ่งได้บุญคือเรามองแบบนั้น” ชาวนาสาวพูดด้วยนํ้าเสียงที่แฝงด้วยความเป็นห่วงทิ้งท้าย
ทิ้งหนังสือหนังหามาทำนา
ปุ๊บปั๊บ-ธิติวุฒิ พวงจันทร์ เด็กหนุ่มวัย 19 ปีที่เคยใช้ชีวิตเฟี้ยวฟ้าวอยู่ในกรุงเทพฯ วันและเวลาของเขาหมดไปกับการเล่นเกมและเล่นเกม อยู่ๆ ในขวบปีที่ต้องเลือกเรียนต่อ ไม่รู้อะไรโดนใจให้เขาอยากเป็นชาวนาเอาเสียดื้อๆ และตั้งใจไว้มากด้วยว่าจะเป็นชาวนาเงินล้านให้ได้แบบ ชัยพร พรหมพันธุ์ ผู้ที่เด็กหนุ่มยึดถือเป็นครูบาอาจารย์
“ผมก็เป็นเด็กทั่วไปที่โตและเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ นี่แหละ ก็จะอยู่กับเกมคอมพิวเตอร์ แล้วตอนที่เรียนอยู่ ปวช. คือทุกคนต้องมีโอกาสได้ไปฝึกงาน ได้ไปทำงานเหมือนมนุษย์เงินเดือน จริงๆ แล้วผมรู้สึกว่าไม่ชอบชีวิตแบบนั้นเลย แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเราอยากโตขึ้นทำอะไรดี วันหนึ่งแม่ผมยื่นหนังสือที่เกี่ยวกับการทำนาทำสวนให้ พอผมอ่านผมก็ดีเลยทำงานแบบนี้มันไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร แล้วบวกกับผมได้เห็นชีวิตของชาวสวนชาวนาหลายคนจากรายการทีวี ก็ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นชาวนา พ่อผมเองก็มีที่ดินอยู่ จ.นครสวรรค์ ก็ปล่อยให้คนอื่นเช่า ผมก็เลยคิดว่าวันหนึ่งผมต้องกลับไปทำนา”
หลังจากคิดแบบนั้นปุ๊บปั๊บก็พยายามหาความรู้ในเรื่องการทำนา เพราะครอบครัวของเขาเองมิได้มีใครเคยเป็นเกษตรกรมาก่อน เรียกได้ว่าเด็กติดเกมคนหนึ่งต้องทิ้งความบันเทิงของชีวิตเพื่อเริ่มจากศูนย์ไปเป็นชาวนา โดยเขาเองพยายามเดินทางไปที่ต่างๆ ฝึกอบรมกับผู้มีองค์ความรู้จริงในเรื่องเกษตร ฝากเนื้อฝากตัวกับชาวนาเก่งๆ หลายคน จนได้องค์ความรู้การเป็นชาวนามาอย่างเต็มเปี่ยม และเมื่อฤดูฝนมาถึงเด็กหนุ่มก็เริ่มลงมือกับอาชีพของเขา
“นาแรกของผมก็เหมือนการเรียนรู้นะ คือมันไม่ได้ยากแต่มันเหนื่อย ตอนนั้นก็ได้พี่ที่เป็นญาติกันมาช่วย ตอนเริ่มแรกก็ทำเอง 12 ไร่ก่อน เพราะยังต้องจ้างรถไถอยู่ไม่มีเป็นของตัวเอง แต่ตอนนี้มีเป็นของตัวเองแล้วนะ ขายข้าวได้ครั้งแรกก็เอาเงินไปซื้อเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นก็ทำนาแบบลดต้นทุนเอา พอเกี่ยวข้าวก็ขายได้กำไรเท่าหนึ่งกับที่ลงทุนไปก็ยังถือว่าเป็นการเรียนรู้อยู่ แล้วผมก็ปลูกไว้กินเองด้วย”
เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ดูการทำนามันง่ายเหลือเกิน สำหรับการเริ่มต้นเอง เลยต้องถามกลับไปว่า เป็นชาวนามันง่ายแบบนั้นเลยหรือ...
“ผมโชคดีที่ครอบครัวสนับสนุน ซึ่งแม่ผมจะบอกเสมอว่าเป็นชาวนามันไม่ได้สำคัญที่ใบปริญญา หากอยากเรียนเอาเวลาที่เหลือจากการทำนาไปเรียนหนังสือก็ยังได้ แล้วมันทำให้ผมตัดสินใจง่ายขึ้นมากเลย แล้วพอทำนาก็สนุกดีชีวิตมันไม่ได้เชิงเปลี่ยนหรอก แต่ที่เปลี่ยนไปหน่อยคือเมื่อก่อนเห็นอะไรก็จะเอาเงินไปซื้อๆ แต่พอทำอาชีพนี้เราจะรู้จักว่าอะไรควรซื้อ รู้จักประหยัดขึ้นเอง แล้วอีกอย่างมันทำให้เรารู้จักความอดทนและโตขึ้น อย่างตอนเห็นคนอื่นทำนามันก็ดูง่าย แต่พอมาเจอที่ดินตัวเองผมนี่ช็อกเลยนะ มันเป็นนาฝนไงเราไม่ใช่นา
ชลประทานมันก็ดึงนํ้ามายาก มันจะหนักที่ว่าเราต้องมาเริ่มต้นใหม่กับสถานที่ ก็ค่อยๆ เรียนรู้ ซึ่งบางครั้งมันก็หนักจนผมท้อนะ คือชีวิตอยากกลับไปเรียนต่อให้มันจบมหาวิทยาลัยไปเลย
พอเวลาที่ผมล้าผมท้อ ผมก็จะมองไปยังชาวนาไอดอลที่เขาประสบความสำเร็จนะ คนเหล่านั้นเขาต้องผ่านอุปสรรคยากๆ ครั้งใหญ่มากๆ มาก่อนเสมอ แล้วถ้าผ่านมาได้ทุกอย่างมันก็ไม่ยากแล้ว อย่างผมตอนนั้นมันอาจอยู่ในช่วงที่ยากที่สุดก็ว่าได้ ก็ต้องพยายามผ่านมันไปให้ได้ เดี๋ยวได้ประสบการณ์แล้วมันก็จะง่ายขึ้นมาเองผมจะคิดแบบนั้น เพราะมันคงไม่ได้มีอะไรอย่างที่หวังไว้ทุกอย่าง ก็เจออุปสรรคตลอด แต่ผมก็ดีใจนะว่าสามารถทำนารอบแรกไม่ขาดทุน พอตอนหลังเราก็สบายแล้วเพราะนามันสอนเราหมด”
หนุ่มน้อยคนนี้เล่าถึงประสบการณ์การเป็นชาวนาของเขาให้ฟังแบบย่อๆ แต่เหนืออื่นใดเรื่องราวของเขาทำให้เห็นถึงความตั้งใจของเด็กคนหนึ่งที่อยากยึดอาชีพเป็นชาวนา
เมื่อหัวใจฉันอยากทำนา
ออยล์-นุจรี สิทธิสุข คืออดีตเซลส์สาวที่ต้องทำสวยทุกวันเพื่อออกไปทำงาน เมื่อชีวิตเบื่อหน่ายจ่อมจมกับโลกคนเมืองจู่ๆ เธอก็สลัดมาสคาร่าทิ้งเพื่อไปจับเคียวเกี่ยวข้าว ดำรงชีวิตแบบเกษตรกร ซึ่งสาวเจ้าเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟัง...
“ยิ่งอยู่กรุงเทพฯ เรามีความรู้สึกว่าเรายิ่งเบื่อรถติด เบื่อความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้มีความสุขกับงานที่ทำเลย ก็มานั่งคิดว่าเราจะทำยังไงให้ตัวเองมีความสุขกับงานที่ทำ จนคิดได้ว่าบางครั้งเราลืมวิ่งหาความสุขให้หัวใจตัวเองดูบ้าง คือเมื่อมัวแต่วิ่งตามหาเงินเห็นใครมีอะไรก็อยากมี แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไร มันจึงเป็นสาเหตุให้เราอยากกลับไปทำเกษตร เพราะชอบและศึกษาเรื่องของการทำเกษตรมานานพอสมควร อีกทั้งเราเคยมีพื้นฐานเป็นครอบครัวเกษตรกร”
เนื่องจากศึกษามาพอสมควรจึงนำองค์ความรู้ต่างๆ มาปรับใช้กับผืนนาและสวนที่ครอบครัวของเธอมี เธอใช้หลักคิดในการทำเกษตรที่ว่า เมื่อไม่รู้สิ่งใดจงลงมือทำเพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่ไม่รู้ เธอจึงลงมือเรียนรู้ศึกษากับครอบครัวช่วยกันหาทางทำเกษตรอินทรีย์บนผืนนาให้สามารถอยู่ได้จริง เมื่อผิวเริ่มกร้านแดดแรงเริ่มอยู่ตัวและประสบการณ์เริ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด สาวเจ้าก็ขยับขยายทำเกษตรแบบครบวงจรปลูกผักเลี้ยงสัตว์จนสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข
“คือความสุขของเราจริงๆ คือเราได้ทำข้าวที่ปลอดสารให้ตัวเราเองกินให้ครอบครัวและคนรอบข้างได้ทาน มันมีแค่นี้จริงๆ ซึ่งถึงคนอื่นมองว่าเราเรียนจบมาสูงเสียดายแทนที่เราเอาใบปริญญามาไว้ข้างฝา แต่เราไม่เคยเสียดายตรงนั้นเลยนะ เพราะเรามองความสบายใจมากกว่า เรามองกลับไปที่เพื่อนเราซึ่งยังทำงานอยู่ ทุกวันนี้เขายังเครียดยังต้องรับผิดชอบอะไรอยู่มากมายเลย ซึ่งหากเราไม่มาทำตรงนี้เราก็คงยังเป็นเหมือนเขา คือเราไม่สามารถมองกระจกแล้วเห็นตัวเองมีความสุขจริงๆ ได้เหมือนวันนี้
เป็นความสุขที่ดูเรียบง่ายของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เคยผ่านการต่อสู้ในโลกแห่งการแข่งขันของผู้คนในสังคมเมือง วันนี้เมื่อได้เป็นชาวนา เธอมองกลับและเห็นความสุขของตัวเองได้อย่างชัดเจน ซึ่งเธอบอกว่าคงมีความสุขมากขึ้นไปอีก เมื่อการทำเกษตรของเธออยู่ในจุดที่สมบูรณ์มากกว่านี้ เพราะเธอเองเพิ่งเริ่มทำมาได้เพียง 5 ปี ซึ่งก็หวังไว้ว่าเธอจะสามารถทำงานที่รักเช่นนี้ให้ยั่งยืนได้ในแบบของเธอ
“พอมาปลูกข้าวแล้ว เราก็อยากให้ข้าวของเรากระจายไปสู่คนที่อยากกินข้าวปลอดสาร ตอนนี้เลยต้องพยายามทำให้ข้าวของเรากระจายไปให้ทั่วถึง และพยายามคิดทำสินค้าแปรรูปอื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อวางขายตามที่ต่างๆ อย่างตอนนี้ก็ลองทำวาฟเฟิลข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่อยู่ คืออย่างที่บอกพอมาทำเกษตรเราต้องลองหาข้อมูลเรียนรู้และฝึกฝนลงมือทำ เพราะสมัยนี้ข้อมูลก็หาได้ไม่ยาก ลองถูกลองผิดด้วยตัวเองดู แล้วสำหรับเรามันก็เลยกลายเป็นการต่อยอดทำอย่างอื่นขึ้นมา เพราะยิ่งเรียนรู้มันไม่ใช่แค่การทำนาเพียงอย่างเดียวแล้ว มันเป็นการคิดเพื่อสามารถทำให้งานเกษตรกรอยู่ได้”
ด้วยความที่เป็นชาวนาหัวทันสมัยเธอเองจึงคิดอะไรสนุกๆ ได้เสมอ แล้วทำมันเป็นสินค้าใหม่ๆ มาแจกญาติพี่น้องได้ทดลองกัน บ้างได้จำนวนเยอะก็แบ่งขาย จนเกิดเป็นการสร้างเครือข่ายของตัวเองขึ้นมาในชื่อของ “ข้าวมีดี” ซึ่งจำหน่ายข้าวกล้องอย่าง ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมรำเพย เป็นหลัก โดยใช้แฟนเพจที่ชื่อ “น้าออยล์ บ้านสวนธรรมชาติมีดี” เป็นสื่อกลางในการเข้าถึงลูกค้า เรียกได้ว่าสามารถเข้ามาเห็นขั้นตอนการปลูกการผลิตผ่านโลกออนไลน์เลยก็ว่าได้
ยกตัวอย่างเมื่อผลไม้ในสวนกำลังจะสุกงอมเธอก็จะนำรูปมาโพสต์ไว้ คนที่อยากกินก็สามารถสั่งจองกัน แถมสามารถจองข้าวกันข้ามปี ดูเป็นแนวคิดที่น่าจะถูกอกถูกใจคนที่ชอบทานข้าวปลอดสาร ทั้งยังเป็นแนวคิดที่แข็งแรงเหมาะสมเอื้อกับชาวนายุคใหม่ได้กระจายสินค้าที่ตั้งใจทำด้วยความมุ่งมั่น
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 ธ.ค. 2557