เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ที่อยากตั้งคำถามว่า พักหนี้เพื่อใคร เพราะพักหนี้เกษตรกรกันมาไม่รู้กี่สิบหนแล้ว ชาวไร่ชาวนา คนทำการเกษตรก็ยังวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ของหนี้สินและความยากจน แต่คนที่ได้เครดิต ได้คะแนนเสียง ได้หน้า คือ ทุกรัฐบาลที่กำหนดเรื่องนี้ออกมา
ถ้า ธ.ก.ส. มีหนี้อยู่กว่าหนึ่งล้านล้านบาท ธ.ก.ส.น่าจะมีบทบาทมากกว่าแค่เป็นที่ไปฝาก ไปถอน ไปกู้ ไปคืน ยิ่งปรับบทบาทจากสวมเสื้อแดงมาเป็นเสื้อเขียว จากคนทวงหนี้มาเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกร จากธนาคารที่ทำแต่เรื่องการเงินมาเป็นธนาคารพัฒนาชนบท
ธ.ก.ส.ยุคใหม่ยังมีศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ยังมีโรงเรียนชาวนา ยังมีสถาบันพัฒนาการเกษตรและชนบท มูลนิธิจำเนียร สาระนาค และมีพันธมิตรอีกมากมายเพื่อร่วมมือกันทำงาน แล้วทำไมรัฐบาลไม่ให้ ธ.ก.ส.จัดทำยุทธศาสตร์ระยะสั้นระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้ดีกว่านี้
ไหนๆ ก็ไม่ใช่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีอำนาจอยู่เต็มมือ มอบอำนาจให้ ธ.ก.ส.เป็นแกนกลาง แกนนำ ที่มีอำนาจหน้าที่ประสานพลังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม องค์กรหน่วยงานภาคเอกชน ภาคชุมชน
ให้มีอำนาจจริงๆ โดยให้นายกรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการแก้หนี้แห่งชาติ ธ.ก.ส.เป็นเลขาฯ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องพร้อมกับปลัดฯ และทีมงานมานั่งในที่ประชุม เพื่อทำแผนยุทธศาสตร์ที่ ธ.ก.ส.ไปเตรียมมาพร้อมกับคณะทำงานจากทุกฝ่ายที่คณะกรรมการแก้หนี้แห่งชาติแต่งตั้ง
พักหนี้นั้นง่าย แต่แก้หนี้นั้นยาก พักวันนี้ หนี้เก่าก็แก้ไม่ได้ หนี้ใหม่ก็ตามมาอีก และมากกว่าเดิม เพราะชีวิตไม่ได้ดีขึ้น รายได้ไม่ได้มากขึ้น ทำนาก็ได้เท่านั้น ราคายางก็เท่านี้ วิถีเกษตรกรไม่ได้มีการพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ระบบการเงินการคลังเพื่อคนจน คนขาดโอกาสก็ยังไม่ได้เปิดกว้าง การเรียนรู้เพื่อการจัดการชีวิต พัฒนาอาชีพ จัดการสุขภาพก็ไม่มีอะไรใหม่ วนเวียนไปมาชั่วนาตาปี
พักหนี้เกษตรกรจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจนได้จริงขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ
๑. เจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาล ถ้านายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่น เห็นความสำคัญของปัญหานี้
เอาจริง แม่น้ำ 4 สาย 5 สายประสานพลัง แก้ไขระบบโครงสร้าง แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ส่งเสริมการพัฒนายุทธศาสตร์ที่ทำได้จริงทั้งระยะสั้นระยะยาว
๒. ยุทธศาสตร์ งานนี้ต้อง สู้ด้วยยุทธศาสตร์ รบด้วยปัญญา ชนะด้วยความรู้ อย่างที่ซุนหวู่ว่าไว้
สองพันกว่าปี และยังใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ ปัญหาที่ผ่านมาคือมีแผนมียุทธศาสตร์ที่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีการยุทธศาสตร์ร่วม ไม่ได้มีการผนึกพลัง เปลี่ยนรัฐบาลที เปลี่ยนรัฐมนตรีที แผนก็เปลี่ยนไป พักหนี้แบบซื้อเวลา ซื้อความนิยมกันไปเรื่อยๆ
๓. พลังชุมชน เครือข่ายประชาสังคม งานนี้ใหญ่ยิ่งและสำคัญต้องมีการระดมพลังจากทุกภาคส่วน
จากคนทั้งชาติ เพราะปัญหาหนี้สินและความยากจนเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินไปสำหรับรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่าง คสช. ก็ไม่มีทางแก้ได้
งานนี้ไม่ใช่เข็นครกขึ้นภูเขา แต่เป็นการเคลื่อนภูเขา ซึ่งเป็นอะไรที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงก็เป็นไปได้แบบสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่คุณหมอประเวศ วะสีท่านพูดมาหลายปี ที่ต้องมีพลังหลักทั้งสาม คือ อำนาจทางการเมือง พลังความรู้พลังปัญญา และการมีส่วนร่วมของสังคม
การทำแผนยุทธศาสตร์และนำไปสู่การปฏิบัตินั้น ถ้ามีการประสานพลังกันจริงก็จะได้ผล ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำแผนของตนเอง แผนเพื่อของบประมาณ แล้วก็เอาไปละลายแบบปูพรม อบรม อบรมแล้วอบรมอีก แข่งกันอบรม ตัดราคากับอบรมโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยบางแห่งที่ลอกเลียนแบบเอาสูตร แก้หนี้แก้จน เครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนไปทำกับหน่วยงานของรัฐ
ไม่ได้ต่างอะไรจากหลายปีก่อนที่ปูพรมทำแผนแม่บทชุมชนทั่วไปประเทศโดยหน่วยงานรัฐ ปูพรมไปทั่วประเทศ นำเอาแผนแม่บทชุมชนต้นฉบับเดิมที่มูลนิธิหมู่บ้านได้พัฒนาขึ้นมาไปใช้แบบบิดเบือน จนแผนแม่บทชุมชนที่เคยเป็นเครื่องมือการเรียนรู้สู่การพึ่งตนเอง ก็กลายเป็นเครื่องมือของบขอโครงการ
การแก้ปัญหาหนี้สินไม่อยากเห็นการทำแผน แล้วเอาไปอบรมกันเป็นสูตรสำเร็จ เอาเครื่องมือแก้หนี้แก้จนที่สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนหรือมหาวิทยาลัยชีวิตได้พัฒนาขึ้นมาไปใช้แบบเพี้ยนๆ เพราะจะไม่ได้ผลจริง ได้แต่งบประมาณที่รัฐบาลจะให้องค์กรหน่วยงานที่ของบเก่งเท่านั้น
ถ้าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะลงไปช่วยงานนี้ ที่ทำได้ดีที่สุด คือการลงไปวิจัย ไปลุยเอารายละเอียดของปัญหาหนี้สิน ในระบบ นอกระบบ และช่วยกันระดมพลังของผู้คนในท้องถิ่นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน พลังความรู้ พลังปัญญา และพลังสังคมที่ระดมกันทั้งประเทศเท่านั้นจะผ่าทางตันนี้ได้
คือแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม การครอบงำ การหลอกลวงที่เกิดขึ้นทั่วแผ่นดิน ชาวบ้านขาดโอกาสในการเรียนรู้ จนความรู้ จนปัญญา จนตายไปจริงและตายทั้งเป็น ก็ยังไม่เห็นทางออก
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 2 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.