"ให้เลิกปลูกข้าว แล้วจะไปทำอะไร?"
คำถามเกิดขั้นหลังฟังข่าวจากทางการ เป็นบทสนทนาของชาวนาหนุ่มเมืองยโสธรคุยกับคนที่ประกอบอาชีพเดียวกัน
ข่าวที่กล่าวถึง สื่อมวลชนก็นำเสนอครึกโครม และประชาชนก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างคึกคักในช่วงที่ผ่านมา สังเกตได้จากหัวข่าวหรือหัวข้อตามสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์หลายสำนัก เช่น จ้างชาวนาให้ลดพื้นที่ทำนา, กษ.ของบแสนล้านเลิกจ้างทำนา, คราวนี้มาแรง! จ้างให้ชาวนายกเลิกทำนา, ชงของบ ครม.แสนล้าน จ้างเลิกอาชีพทำนาข้าว หรือ บริหารประเทศไทยไม่ยาก จ้างชาวนาไม่ให้ทำนา เป็นต้น
พบว่าคำสำคัญจากตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ "เลิกทำนา"
มาตรการรัฐกับการ ′ทำนา′
ความชัดเจนก็ปรากฏขึ้นมาให้เห็นร่างบางๆ เมื่อ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาเปิดเผยว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อวางยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเกษตรครบวงจร วิธีหนึ่ง คือ ลดพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพการผลิตให้สอดคล้องความต้องการของตลาด
การลดพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งมีการเสนอให้เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพ แต่จะต้องเกิดจากความสมัครใจ นโยบายเสนอต่อไปว่ามี 3 แนวทางเปลี่ยนอาชีพ คือ 1.เปลี่ยนอาชีพเพาะปลูกไปเลย 2.ปรับบางส่วน ลดพื้นที่ปลูกพืชบางอย่าง และปลูกอีกอย่างเพิ่มขึ้น และ 3.ปรับปรุงคุณภาพการเพาะปลูก
อาชีพชาวนาก็อยู่ในข่ายนโยบายนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก คือ มีการเสนอให้ปรับโครงสร้างการผลิต เปลี่ยนไปผลิตพืชอื่น โดยอาจให้เงินเพื่อเลิกอาชีพ
อะไรคือสาเหตุที่ต้องปรับโครงสร้างการผลิต (ข้าว) ทั้งที่ในอดีตประเทศไทย ชาวนาก็ผลิตข้าวกันตามสมัครใจ และไม่ต้องลดปริมาณการผลิต อาจมีเพียงบางช่วงที่รัฐขอความร่วมมือไม่ให้ชาวนาทำนาปรัง เนื่องจากภาวะน้ำแล้งในประเทศ
โดยข้อมูลในส่วนนี้ ชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯอธิบายผ่านสื่อว่า ตัวเลขเกษตรกรที่ต้องปรับเปลี่ยนอาชีพอยู่ที่ 2.6 แสนครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกข้าว 6 ล้านไร่ ที่ต้องปรับโครงสร้างการเกษตร มาตรการจูงใจและค่าตอบแทน คือ ปีแรก 5 พันบาทต่อไร่ และปีที่สอง 3 พันบาท ปีที่สาม 2 พันบาท โดยอาจให้เปลี่ยนไปปลูกพืชพลังงาน และบางส่วนส่งเสริมแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ จะเน้นทำกับเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีพื้นที่ถือครองต่ำกว่า 15 ไร่
ดูจากรายละเอียดภาคปฏิบัติแล้ว จะเรียกว่า "จ้างให้เลิกทำนา" ก็คงไม่ผิดนัก
(บน) เมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่เก็บไว้เป็นตัวอย่าง (ล่าง) จากซ้าย วิชัย ศรีประเสริฐ, รศ.สมพร อิศวิลานนท์, แก่นคำหล้า พิลาน้อย
เสียงครวญ ′ชาวนา-ผู้ส่งออกข้าว′
"ตอนได้ยินข่าวก็สงสัยว่าจริงไหม ตอนแรกไม่ได้ยินจากปากของรัฐมนตรี มีแค่คนมาเล่าให้ฟัง เลยเช็กข่าว เพื่อนชาวนาได้ยินข่าวก็ตกใจนะว่าให้เลิกปลูกข้าว บางทีรัฐบาลไม่ชัดเจนว่าให้เลิกปลูก แล้วอย่างไรต่อ"
ในฐานะคนทำนาวิถีเกษตรอินทรีย์ แก่นคำหล้า พิลาน้อย หรือ "ตุ๊หล่าง" ชาวนาหนุ่มวัย 30 ต้นๆ แห่ง อ.กุดชุม จ.ยโสธร เอ่ยชัดถ้อยชัดคำ แสดงความเห็นต่อนโยบายข้างต้นว่า ไม่เห็นด้วยกับการจ้างให้เลิกทำนาไปเลย แต่ควรให้คงพื้นที่ทำนาไว้ในบางส่วนสำหรับพื้นที่หนึ่งแปลง
ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเงินจ้าง เอาเงินส่วนนี้มาจัดระบบน้ำให้ชาวนาจะดีกว่าให้เลิกทำนาไปเลย
"แต่ถ้าให้ลดพื้นที่ปลูกลงผมเห็นด้วยนั่นจะต้องมีแผนชัดเจนว่าจะมีการส่งเสริมอย่างไรชาวนาแสนคนทำนาคนละสิบไร่รวมเป็นล้านไร่ อาจปรับเป็นชาวนาหนึ่งแสนคน ทำนาเหลือคนละ 5 ไร่ก็ได้ ที่จริงคนไทย 65 ล้านคนควรปลูกข้าวเป็นด้วยซ้ำ แต่ไม่ต้องมาทำนาทุกคนนะ ถ้าเกิดวิกฤตบางอย่างขึ้นมาในประเทศ จะได้ปลูกข้าวกินเองได้
"มาตรการช่วยเหลือชาวนาที่ควรจะทำเป็นแผนชัดเจน ว่า ไม่ใช่แค่กำหนดนโยบายให้ลดพื้นที่การปลูกข้าวนะ ให้มีนโยบายชัดเจนเป็นผล จะส่งเสริมให้มีรายได้กลับมาเหมือนเดิมอย่างไร รัฐบาลต้องทำให้ชาวนามีรายได้จากส่วนอื่น ไม่ใช่เป็นเรื่องการชดเชย แต่เป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องทำ" แก่นคำหล้ากล่าว
มาตรการที่สนับสนุนนโยบายปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าว) ของรัฐบาลที่จะเน้นทำเกษตรกรรายย่อยนี้ ชาญพิทยา ฉิมพาลี รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย ฉบับที่ 3 ปี 2558-2562 ซึ่งปรับปรุงเสร็จเรียบร้อย
เนื้อหาหลักหนึ่งในนั้น คือ ลดปริมาณผลผลิตข้าว ให้มีประมาณ 31 ล้านตันต่อปี จากเดิม 37-38 ล้านตัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต นั่นคือ คุณภาพข้าว ให้สามารถสร้างราคาและรายได้ให้กับชาวนาไทยมากขึ้น คาดว่ายุทธศาสตร์ข้าวไทย ฉบับที่ 3 ขณะนี้ยังไม่คลอด น่าจะอยู่ในขั้นตอนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในระหว่างนี้ ก่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ฉบับที่ 3 จะคลอด
เมล็ดข้าวเปลือกที่ได้จากการเก็บเกี่ยว
"เรื่องที่น่าช่วยที่สุดคือ ชลประทานที่มีประโยชน์กว่านี้ ชลประทานบ้านเราส่วนใหญ่มีน้ำเป็นคูคลองไปให้เกษตรกร แต่เป็นคูคลองที่ต่ำกว่าระดับนา เกษตรกรอยากใช้น้ำต้องสูบขึ้นไป ค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำจะแพง
"เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลอยากจะช่วยก็ทำเหมือนเมืองจีน ส่งน้ำให้สูงกว่าพื้นนาสัก 50-100 เซนติเมตร ไปสำรวจว่าตำบลไหนมีที่นา ระดับเท่าไหร่ แล้วส่งน้ำให้สูงกว่าพื้นที่นาส่วนใหญ่ ใช้การไหลโดยธรรมชาติ ถือเป็นประโยชน์กับเกษตรกรโดยใช้การชลประทานชนิดที่ไม่ต้องไปสูบน้ำขึ้นมาที่นา นี่คือตัวอย่าง เรื่องแบบนี้ไม่ได้ลงทุนมาก น้ำก็ใช้เท่าเดิม" นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าว
นักวิชาการแนะ ′จัดการพื้นที่′
เรื่องลด-เลิก "ทำนา" อันเป็นมาตรการของรัฐในครั้งนี้ มีความเห็นจาก สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ
สมพรอธิบายถึงความจำเป็นในการลดปริมาณการผลิตข้าวในประเทศ ว่า อาจเพราะปีที่ผ่านมาเราปลูกข้าวได้ข้าวเปลือก 38 ล้านตัน สีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 25-26 ล้านตัน ใช้บริโภคในประเทศแค่ 10 ล้านตัน เหลืออีก 16 ล้านตัน ซึ่งเกินกว่าที่ตลาดจะรองรับ ที่มีความต้องการ 38-40 ล้านตันเท่านั้น
"และข้าวพม่ากำลังเข้ามา คาดการณ์ว่าราคาข้าวจะมีทิศทางลดลงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จากการฟื้นตัวของพม่ากับกัมพูชา โอกาสที่ปริมาณซัพพลายจะอยู่ในตลาดเยอะ ถ้าเราไม่ปรับตัว ให้เกษตรกรที่ส่วนหนึ่งปลูกแล้วได้ผลผลิตที่ต่ำ แล้วต้นทุนสูง เขาจะอยู่ไม่ได้" สมพรกล่าว ก่อนจะเสนอวิธีสนองนโยบายการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวนี้
สมพรบอกว่า การจะบอกให้ชาวนาไม่ปลูกข้าว ต้องมีกลไกที่จะมาเกื้อหนุนในแง่ของการผลิตไปสู่การตลาด ไม่อย่างนั้น บอกให้ชาวนาปลูกถั่วเหลือง เมื่อผลิตขึ้นมาแต่ไม่มีตลาดรองรับ แม้ว่าราคาจะสูง แต่ผลิตแค่กลุ่มเล็กๆ ก็จะแย่เหมือนกันเมื่อหาตลาดไม่ได้
"ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนต้องดูกลไกของการตลาดที่จะตาม อาจจัดกลุ่ม community base แล้วต่อซัพพลายเชนให้เขา จึงจะเวิร์กในแง่ของการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าว ตรงไหนที่ไม่เหมาะสมก็หาทางที่จะทำให้เป็น community base แล้วดูเชิงการจัดซัพพลายเชนใหม่ อาจจะเอาพืชอื่นเข้ามาจะช่วยในแง่ของการที่จะยกระดับเขาให้สูงขึ้น หรือมิฉะนั้นกลุ่มหนึ่งอาจใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามา คือ แทนที่จะปลูกข้าวอย่างเดียว อาจต้องปลูกพืชอย่างอื่นด้วย เพื่อให้มีการกระจายของรายได้ดีขึ้น"
เป็นการจัดการ "พื้นที่ไม่เหมาะสม" (Marginal Land) หรือพื้นที่ซึ่งปลูกข้าวแล้วต้นทุนสูง
"อาจจะให้ทางเลือกเกษตรกรไปปลูกพืชอื่น ซึ่งต้องดูว่าถ้าพืชอื่นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ก็ควรจะปรับให้ชาวบ้านไปปลูก แล้วอาจจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งของตัวเองไว้ปลูกข้าวกินเอง เพราะบางพื้นที่ข้าวคือวิถีชีวิต ปลูกข้าวแล้วไปปลูกพืชอย่างอื่นด้วยที่อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการเน้นปลูกแต่ข้าว" สมพรกล่าว
ล่าสุดของการจัดการโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ออกมาเปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 ประเภท ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ว่าในระยะ 10 ปีกำหนดพื้นที่เพาะปลูกตามความเหมาะสม ยึดความต้องการตลาด
หนึ่งในรายละเอียดสำคัญที่สัมพันธ์กับการปลูกข้าวคือ ภายในปี 2567 จะมีพื้นที่ปลูกอ้อย 16.07 ล้านไร่ ซึ่งขยายพื้นที่ปลูกแทนข้าวไม่เหมาะสม 6 ล้านไร่ จะช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยเป็น 20 ล้านตันต่อปี
สร้างรายได้ให้ประเทศไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาท
หรือจะเป็น "ทางออก (คำตอบ)" ให้กับประโยคคำถามของชาวนาหนุ่มจากยโสธร
ที่มา : มติชน วันที่ 27 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.