เป็นเรื่องที่น่าตกตะลึงในรอบสัปดาห์กับข่าวชาวนาใน จ.ชัยนาท กู้เงินจากเพื่อนบ้านจำนวน 40,000 บาท แต่เมื่อเวลาผ่านไป 21 ปี ยอดหนี้กลับพุ่งทะลุ 69 ล้านบาท
จึงเป็นที่มาในการค้นหาคำตอบว่าตามหลักกฎหมายแล้ว การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ควรเกินร้อยละเท่าไหร่ต่อปี และสามารถทบดอกเบี้ยไปกับเงินต้นได้หรือไม่ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและรู้ทันเจ้าหนี้สุดโหด จะได้เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเงินกู้นอกระบบ
ทาง "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จึงได้ต่อสายตรงไปยังทนายความชื่อดัง อาจารย์วันชัย สอนศิริ เพื่อช่วยไขปมเรื่องดอกเบี้ยโหดนี้กัน...
นายทิ้ง ชั้นตะ คืนเงินเจ้าหนี้ 1.5 แสนบาท
เปิดบทเรียนกู้เงิน 4 หมื่น เป็นหนี้ 69 ล้าน !
นายทิ้ง ชั้นตะ ชาวนาวใน จ.ชัยนาท กู้เงินเพื่อนบ้านเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท เมื่อปี พ.ศ.2536 โดยทำสัญญาเงินกู้ดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่งบางช่วงมีปัญหาต้องส่งลูกเรียน จึงทำให้บางปีขาดส่งดอกเบี้ย
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2541 เจ้าหนี้ได้เรียกนายทิ้ง ไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ โดยระบุยอดเพิ่มเป็น 837,000 บาท ซึ่งนายทิ้ง ได้นำเอาโฉนดที่ดินเลขที่ 2004 หน้าสำรวจ 188 ตำบลวัดโคก เนื้อที่ 46 ไร่ ไปค้ำประกันเงินกู้ไว้ โดยทุกปี นายทิ้งจะนำเงินไปจ่ายดอกเบี้ยปีละ 90,000 บาท จนเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2556 เมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ยแล้วเป็นเงิน 69,119,154 บาท นายทิ้ง จึงได้ส่งหนังสือเข้าร้องทุกข์เพื่อให้หน่วยงานราชการเข้าช่วยเหลือ
กระทั่ง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยนาท เป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งหลังจากรับทราบเรื่อง ทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยนาทได้เข้าดำเนินการจนทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ โดยฝ่ายเจ้าหนี้ขอให้นายทิ้ง ชำระหนี้สิน 150,000 บาท ภายในวันที่ 30 พ.ย.57 จนนายทิ้ง ได้นำเงินมาชำระหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าสัญญาเป็นโมฆะ
รีดดอกเบี้ย เกินร้อยละ 15 ต่อปี เป็นโมฆะ จำไว้!
อาจารย์วันชัย สอนศิริ เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า การคิดดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกิน ร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี” การคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เจ้าหนี้สามารถเรียกจากลูกหนี้ได้ไม่เกิน ร้อยละ 15 ต่อปี แต่จากกรณีชาวนาใน จ.ชัยนาทนั้น ทำสัญญาอัตราดอกเบี้ยไว้ ร้อยละ 3 ต่อเดือน ดังนั้น การกู้ยืมเงินที่เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดย่อมตกเป็นโมฆะ ลูกหนี้ใช้คืนเฉพาะเงินต้นเท่านั้น
อ.วันชัย สอนศิริ
ทั้งนี้ หากไม่ได้มีการระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญา แต่ไปเรียกเก็บร้อยละ 3 ต่อเดือน ตามกฎหมาย มาตรา 7 “ถ้ามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” การที่เอาดอกเบี้ยต่างๆ มาทบมันใช้ไม่ได้ ต้องใช้เงินต้นคูณ 7.5 และต้องเรียกเก็บไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น ถ้าเกินกว่านั้นผิดกฎหมาย ส่วนในสัญญามีการระบุชัดเจนว่ามี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน ถือว่าสัญญาฉบับนั้นใช้บังคับไม่ได้ในเรื่องดอกเบี้ย ใช้ได้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น
ฉะนั้น หากสัญญาฉบับนี้ระบุไว้ว่า ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ถือว่าคิดได้เฉพาะเงินต้น 40,000 บาทเท่านั้น ส่วนถ้าไม่ระบุไว้ ให้คิดได้แค่ร้อยละ 7.5 ต่อปี และต้องไม่เกิน 5 ปี ส่วนถ้าเจ้าหนี้เอาดอกเบี้ยมาทบกับเงินต้นถือว่าผิดกฎหมาย ใช้บังคับไม่ได้
สำหรับกรณีที่ลูกหนี้ผิดชำระ และเจ้าหนี้ได้ทำการคิดดอกเบี้ยเพิ่มนั้น ตามหลักกฎหมายเงินกู้ ไม่สามารถไปคิดเพิ่มหรือปรับลูกหนี้ได้ คิดได้เฉพาะดอกเบี้ย
ศูนย์ดำรงธรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างนายทิ้งและเจ้าหนี้
“กฎหมายกำหนดไว้ว่า อายุความมีแค่ 10 ปี ถ้าเกินกว่า 10 ปีถือว่าขาดอายุความ แต่ต้องดูการทำสัญญากู้ใหม่ว่ามีการทำตอนไหนบ้าง ส่วนถ้ามีการสู้คดีแล้วสืบความตามข้อเท็จจริง มันไม่มีทางเป็นไปได้หรอก เงินต้นแค่ 4 หมื่น แล้วทบไปทบมาเป็น 69 ล้าน เป็นไปไม่ได้” ทนายชื่อดัง กล่าว
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 1 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.