มีข่าวด้านเศรษฐกิจรายงานถึงสภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ว่าสูงถึง 83 % ของจีดีพี เป็นจำนวนเงินถึงสิบล้านล้านบาท แม้สถานการณ์จะยังไม่อันตราย แต่ควรระมัดระวัง
หนี้ครัวเรือนคือ ภาระทางการเงินของภาคครัวเรือนอันเกิดจากการก่อหนี้โดยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยครัวเรือนก่อหนี้เพื่อนำไปใช้ในการบริโภคสินค้าในช่วงที่รายได้มีน้อยกว่ารายจ่าย นอกจากนี้หากครัวเรือนเห็นว่าผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุนมากกว่าต้นทุนการกู้ยืม ก็อาจทำการก่อหนี้ได้เช่นเดียวกัน โดยหนี้ครัวเรือนของไทยส่วนใหญ่ปล่อยกู้โดยธนาคารพาณิชย์ประมาณ 32% สำหรับประเภทของการก่อหนี้นั้นส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มากที่สุดประมาณ 32%
ในช่วงวิกฤติซับไพรม์ของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2008 และวิกฤติหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 2011 ทำให้ความต้องการสินค้าของโลกลดลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งด้วยปัจจัยในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริโภคของภาคครัวเรือน ที่ได้รับผลบวกมาจากสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งหมายถึงภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปนั้น น่าจะมาจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ดี หากหนี้ครัวเรือนมีระดับสูงมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือนไทย ซึ่งอาจขยายวงกว้างไปสู่การชะลอตัวหรือความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมได้
ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 16.7% ต่อปี ทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2011 ที่ร้อยละ 64 ต่อ GDP เป็นร้อยละ 78 ต่อ GDP ในไตรมาส 1 ปี 2013 นอกจากระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงแล้ว ภาระในการชำระหนี้ยังสูงขึ้นอีกด้วย จากการคำนวณโดย EIC พบว่าอัตรารายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio: DSR) ของครัวเรือนที่เป็นหนี้เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 30% ในปี 2011 เป็น 33% ในปี 2012 แต่หากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทจะพบว่า DSR จะสูงถึง 57% ในปี 2012 ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานบ่งบอกว่าระดับ DSR ที่สูงกว่า 40% บ่งชี้ถึงโอกาสการผิดนัดชำระหนี้อย่างมีนัยสำคัญ
การที่ครัวเรือนมีระดับหนี้ที่สูงขึ้น ย่อมทำให้ความสามารถในการบริโภคสินค้าและบริการถูกลดทอนลงไป สำหรับหนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 พบว่า มียอดคงค้างอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยกลุ่มที่มีการให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก คือ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 มียอดคงค้างอยู่ที่ 1.5ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.3 แสนล้านบาท
การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก สาเหตุเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินกู้มากขึ้น สิ่งที่ต้องระวังในระยะต่อไป คือ หนี้ครัวเรือนจะมีปัญหาได้มาก หากมีการกระจายตัวของปัญหาผ่านตัวแปรอื่นๆ เช่น ราคาของสินทรัพย์ที่ลดลง ขณะเดียวกัน ต้องดูว่าหนี้ที่กู้ยืมมานั้นครัวเรือนเอาไปใช้ทำอะไรด้วย ถ้าเป็นการนำไปซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย ความมั่งคั่งตรงนี้อาจไม่ได้รับผลกระทบนัก แตกต่างจากการนำไปซื้อรถยนต์ที่มีผลต่อความมั่งคั่งได้ เนื่องจากรถยนต์มีแต่จะเสื่อมราคาลง
อย่างไรก็ตาม การมองปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้นควรจำแนกภาคส่วน โดยภาพรวมแล้วภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศอาจจะยังไม่น่ากังวล แต่ถ้าแยกประเภทแยกภาคส่วนดูแล้ว จะเห็นว่า หนี้ครัวเรือนในภาคเกษตรน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงทั้งข้าวหรือยางพารา
การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนภาคเกษตรควรบูรณาการทั้งระบบ หรือทำให้หนี้นอกระบบเข้ามาเป็นหนี้ในระบบ เช่น ใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านที่มีข้อมูลรากหญ้าและเชื่อมข้อมูลเหล่านั้น เข้ามากับระบบสถาบันการเงิน และให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้าน ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้รากหญ้า เพราะสถาบันการเงินในระบบ ไม่สามารถลงลึกถึงรากหญ้าได้ หากเชื่อมข้อมูล และเห็นความสัมพันธ์ของระบบการเงินท้องถิ่นจะช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นระบบมากขึ้น
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 25 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.