นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
www.thaisgwa.com
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 27 บัญญัติให้มีมีสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ 11 ด้านด้วยกัน คือ 1) ด้านการเมือง 2)ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3)ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4)ด้านการปกครองท้องถิ่น 5)ด้านการศึกษา 6)ด้านเศรษฐกิจ 7)ด้านพลังงาน 8)ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 9) ด้านสื่อสารมวลชน 10) ด้านสังคม และ 11) ด้านอื่น ๆ
ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็วและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมหนึ่ง ซึ่งมีผู้เขียนเป็นเลขาธิการอยู่ และมีมวลสมาชิกอยู่ทั่วประเทศเกือบ 200 องค์กร ได้มีการประชุม ปรึกษา หารือกันหลายครั้ง หลายเวทีทั่วประเทศ เพื่อระดมความคิดเห็น และร่วมกันตกผลึกทางความคิดร่วมกันในการจัดทำกรอบแนวความคิดเพื่อการปฏิรูปสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาตินำไปสังเคราะห์และบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป ซึ่งมีหลายประเด็นที่สำคัญ ใคร่ขอนำมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านทั่วประเทศได้รับรู้ รับทราบกรอบแนวคิดของเครือข่ายสมัชชาฯ หลายเรื่อง ดังนี้
-สิทธิของบุคคลทุกคนที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดี ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาวะ ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรัฐต้องมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธินี้ และบุคคลหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ย่อมมีสิทธิที่จะปกป้อง และมีสิทธิในการดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณและวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
-สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคน การกำหนดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามหลักฉันทานุมัติร่วมกันของสังคม ประชาชนมีสิทธิที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู เข้าถึงและรับผลประโยชน์อย่างเสมอภาคและเป็นธรรมภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
-สิทธิในการกำหนดการพัฒนา ประชาชนในท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ภูมิภาค มีสิทธิที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบหลักจากกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาต้องเป็นผู้ตัดสินใจหลักในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการนั้น ๆ ซึ่งประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและการชดเชยอย่างเป็นธรรมที่สูงกว่ามาตรฐานทางกฎหมาย โดยเฉพาะการเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการพัฒนา ซึ่งต้องครอบคลุมถึงครอบครัว ชุมชน และวิถีทางวัฒนธรรม
รัฐต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ในระดับการวางแผน แผนงาน แผนยุทธศาสตร์ หรือแผนแม่บท ก่อนการกำหนดกิจกรรมหรือโครงการ กิจกรรมใดที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชนต้องจัดให้มีการจัดทำรายงานประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม รวมทั้งต้องรับฟังความเห็นขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อน และกระบวนการจัดทำ พิจารณา และอนุมัติหรือเห็นชอบรายงานฯ ต้องดำเนินการโดยองค์การหรือหน่วยงานที่เป็นอิสระไม่มีการให้คุณให้โทษจากหน่วยงานหรือองค์กรเจ้าของโครงการ และต้องสร้างระบบการตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจการอนุมัติและการให้ความเห็นชอบ
-สิทธิชุมชน ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม ชุมชนจะต้องมีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา ปกป้อง และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน มีสิทธิที่จะอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จารีตประเพณี รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
-สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บุคคลทุกคนจะต้องมีสิทธิในการรับรู้ รับทราบ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในการครอบครองของหน่วยงานราชการ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระ หน่วยงานอื่นของรัฐ และราชการส่วนท้องถิ่นทุกระดับ อย่างสะดวกและรวดเร็ว
-สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ การมีส่วนร่วมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับการรับรู้ข้อมูล การแสดงความคิดเห็น การร่วมปรึกษาหารือ การร่วมตัดสินใจ การร่วมดำเนินงาน การร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ และร้องเรียน
-สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีขั้นตอนวิธีการที่ถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม บุคคลและชุมชนมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐทุกระดับ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรรัฐในทุกระดับ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในสิ่งแวดล้อมที่ดี ในสิทธิของชุมชน ละสิทธิของประชาชน รวมทั้งสิทธิในการฟ้องร้องผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน ชุมชน โดยการคุ้มครองของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
สิทธิของประชาชนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ สิทธิที่จะได้รับคำปรึกษา การเป็นตัวแทนทางด้านกฎหมาย ในทุกขั้นตอนของการดำเนินคดีต่อศาลทุกศาล รวมทั้งการจัดให้มีกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก หรือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางปกครองจากรัฐและองค์กรสาธารณประโยชน์
-สิทธิของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน บุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม ที่ดำเนินงานในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับของกฎหมายและระบบสากล มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐในทุกระดับ ให้พ้นจากความรุนแรง การข่มขู่ คุกคาม การตอบโต้ และการเลือกปฏิบัติ
-สิทธิการร่วมกับรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบังคับใช้สิทธิ ชุมชนมีสิทธิร่วมกับรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบัญญัติกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนดของท้องถิ่นเพื่อรองรับการให้การคุ้มครองสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
-เสรีภาพ ประชาชนมีสิทธิที่จะจัดการชุมนุม การก่อตั้งสมาคม การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นองค์กร การแสดงความคิดเห็น และการแสดงออก ภายใต้สิทธิที่รัฐธรรมนูญที่ให้การคุ้มครอง และสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพ ไม่ถูกครองงำโดยอำนาจทุนหรืออำนาจอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
กรอบแนวคิดและข้อเสนอบางส่วนเหล่านี้จะถูกนำเสนอให้สภาปฏิรูปนำไปเป็นกรอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไปครับ...
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 20 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.