การประเมินผลงานของรัฐบาลนี้ในรอบหกเดือน ไม่อาจด่วนสรุปว่ามีผลงานความสำเร็จหรือล้มเหลวอะไรบ้างก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยนั้น หมักหมมมายาวนานมาก และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจำเป็นต้องทำถึงขั้น ปฏิรูป ขนานใหญ่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มาจาก คสช. สื่อมวลชนวิจารณ์กันว่ามี เกาเหลา ระหว่างผู้นำทีมเศรษฐกิจ คือ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล กับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
อันที่จริงแนวคิดหลักทางเศรษฐกิจของทั้งสองทีมคือเศรษฐกิจกระแสหลัก หรือที่เรียกกันว่าเสรีนิยมโลกภิวัตน์ จะแตกต่างกันบ้างในบางจุดเท่านั้นรวมทั้งทีมเศรษฐกิจของพรรคการเมืองทุกพรรค พวกเขาก็ยึดมั่นแนวทางเศรษฐกิจกระแสหลักกันทั้งนั้น ดังนั้นไม่ว่าพรรคใดได้เป็นรัฐบาล แนวทางแก้ปัญหาก็จะคล้าย ๆ กันเศรษฐกิจกระแสหลักก็คือแนวทางเสรีนิยมโลกาภิวัตน์ การแก้ปัญหาก็จะเหมือน ๆ กับประเทศทุนนิยมศูนย์กลางทั้งหลาย ซึ่งทำกันแล้วยังเห็นความสำเร็จน้อย
แม้กระทั่งมาตรการคิวอี QE ที่สหรัฐอเมริกาทำ แล้วดูเหมือนมีผลสำเร็จช่วยให้ตัวเลขคนตกงานลดน้อยลง แล้วสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็กำลังทำบ้างเศรษฐกิจทุนนิยมยุคปัจจุบันนี้ แตกต่างจากสมัยอดีต ตรงที่อำนาจอิทธิพลของ ทุนการเงิน มีสูงสุด ภาคการเงินสร้างกำไรสูงสุด แทนที่จะเป็นภาคการผลิตแบบดั้งเดิมแต่แล้ว การเก็งกำไรของภาคการเงิน กลับทำให้เกิดวิกฤติการเงินระดับโลก
วิกฤติการณ์ระดับโลกสองสามครั้งหลังนี้ ล้วนเกิดจากภาคการเงินมาตรการคิวอี ก็เป็นการช่วยเหลือภาคการเงินเป็นหลัก คือช่วยให้มีสภาพคล่องไปผยุงราคาหุ้น ราคาหลักทรัพย์แล้วมันช่วยด้านการผลิต การจ้างงานตรงไหน ช่วยได้เพียงใดเศรษฐกิจประเทศไทย พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก รองลงมาก็พึ่งพาการท่องเที่ยว ซึ่งก็คือพึ่งพาคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวใช้จ่ายในเมืองไทย ต้องยืมจมูกเขาหายใจเหมือนการส่งออก
ถ้าเศรษฐกิจในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง อย่างสหรัฐ อียู ญี่ปุ่น ไม่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยก็ไม่อาจโตได้การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของภาคประชนไทยนั้น จำเป็นต้องเดินแนวทางเศรษฐกิจทางเลือก เช่น แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่อังค์ถัดเสนอแนะ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้นประเทศไทยแม้โดยภาพลักษณ์จะเชิดชู เศรษฐกิจพอเพียง แต่จริง ๆ แล้วทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่ได้ปฏิบัติอย่างแท้จริง ส่วนเศรษฐศาสตร์ทางเลือกสายอื่น ๆ ก็ยังมีสัดส่วนน้อยนิด
สรุปแล้วเศรษฐกิจไทยก็ยังจะต้องรอคอยให้เศรษฐกิจโลกเขาฟื้นตัวดีขึ้นมากเสียก่อน เศรษฐกิจไทยจึงจะฟื้นตาม น่าเสียดายโอกาสที่ไทยควรเร่งพัฒนาขยายสัดส่วนการใช้เศรษฐศาสตร์ทางเลือก ถ้าเราใช้จังหวะนี้ทุ่มเทงบประมาณสนับสนุนเศรษฐศาสตร์ทางเลือกให้เข้มแข็ง ไทยจะมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นตัวของตัวเองได้แท้จริง ไม่ต้องเป็นทาสทุนต่างประเทศอีกต่อไป อย่าคิดว่าเราจะทำไม่ได้ ประเทศญี่ปุ่นใช้เวลาห้าสิบปี ปฏิรูปประเทศให้เจริญทัดเทียมฝรั่งได้ ประเทศจีนใช้เวลาห้าสิบปี สร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งจนถึงระดับเป็นแนวหน้าของโลกได้แล้ว
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 24 พ.ย. 2557