"กฎหมายต้องสร้างเวที เปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั้งคู่ขัดแย้ง และไม่ขัดแย้งมาแสดงความคิดเห็น ที่สำคัญต้องคำนึงด้วยว่า การปฎิรูปเป็นการรื้อของเดิม ทำให้ดีขึ้น จึงมีฝุ่น จะเลอะเทอะ ก่อนออกมาสวยงาม"
วันที่ 19 พฤศจิกายน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเวทีเสวนาเรื่อง "รวมพลังความคิดก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาประเทศไทย มิติการเมือง การบริหาร และกฎหมาย" ณ ห้องประชุมดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ อาคาร 6 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยศาสตราจารย์ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปาฐกถาถึงบทบาทกฎหมายในการพัฒนาประเทศไทยในมิติต่างๆ รวมถึงความต้องการของสังคมไทยในการพัฒนา หรือในการปฏิรูปว่า แตกต่างจากอดีตอย่างไรบ้าง
ศ.ดร.สุรเกียรติ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีการปฏิรูปมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้มี "ความตื่นรู้" ในมิติทางการเมือง การบริหารราชการ และกฎหมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นมีทั้งการประท้วง การออกมาแสดงความคิดเห็น การรวมตัวกันแสดงจุดยืนต่างๆ จากนั้นก็มีเรื่องของสีเสื้อ มีคนจากกรุงเทพ และต่างจังหวัดมาชุมนุมกันเป็นนับหมื่นนับแสนคน
"การตื่นรู้ทางการเมือง การบริหาร ราชการ และกฎหมาย ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การออกมาแสดงความคิดเห็นและเดินขบวน แต่ได้แทรกซึมเข้าไปในทุกอนู เข้าไปในเนื้อเยื่อของสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน" อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า นักศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง ประชาชนทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัดทุกชนชั้นรู้เรื่องทางการเมือง ส่วนรู้ผิดหรือรู้ถูกเป็นอีกเรื่อง แต่คนสนใจรู้เรื่องการเมือง สนใจรู้ว่า มีความขัดแย้ง รวมถึงการร่วมหาทางออก ซึ่งต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก ฉะนั้น นี่คือบริบทการปฏิรูปการเมือง หรือความต้องการพัฒนาประเทศที่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา
สำหรับสิ่งที่สังคมไทยต้องการไม่ว่าจะพัฒนาประเทศ หรือปฏิรูปด้านใดก็ตามนั้น ศ.ดร.สุรเกียรติ กล่าวว่า 1.ของให้มีการเปิดพื้นที่ในการแสดงออก 2.ขอพื้นที่การมีส่วนร่วมทางด้านการเมือง โดยคนไทยกำลังเรียนรู้การแสดงความคิดเห็นอย่างไรเป็นไปด้วยเหตุและด้วยผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์
ศ.ดร.สุรเกียรติ กล่าวอีกว่า ทุกระดับของสังคมไทยขณะนี้ "ตื่นรู้" หมดแล้ว ดังนั้นการปฏิรูปจะเคลื่อนไปโดยไม่เปิดพื้นที่ให้คนได้รับรู้ หรือร่วมแสดงความคิดเห็นไม่ได้แล้ว
"การปฏิรูป หรือการสร้างความปรองดอง ควรต้องเริ่มจากความเข้าใจการตื่นรู้ของประชาชนที่เกิดขึ้นใน 10 ปีที่ผ่านมา"
กม.เปิดพื้นที่ให้มีการดุล-คานอำนาจ
ขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ศ.ดร.สุรเกียรติ ได้ชวนคิดเรื่องบทบาทของกฎหมาย
1.กฎหมายต้องเปิดรับพื้นที่ในการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เปิดพื้นที่ให้มีการดุลและคานอำนาจทางการเมืองที่เหมาะสม และให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
"เราจะเห็นว่า กระบวนการการดุลและคานอำนาจโดยสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการนั้น ใช้ไม่ได้ผลและไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกับรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่สามารถควบคุมสภาได้ หรือแม้เราจะมีวุฒิสภามาทุกรูปแบบ แต่ก็ยังไม่ค่อยพอใจ ขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็ดึงฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทดุลและคานฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ทั้งในแง่ฝ่ายตุลาการและฝ่ายกึ่งตุลาการ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน
แต่กฎหมายเองไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับผู้แทนราษฎรทุกระดับ ส่วนฝ่ายตุลาการที่เข้ามามีบทบาทเสริมเพื่อดุลและคานฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ก็ไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชนมากเพียงพอ
การปฏิรูปในภาวะสังคมตื่นรู้ โจทย์ใหญ่จะทำอย่างไรเพิ่มความชอบธรรมให้องค์กรตุลาการเหล่านั้น รวมไปถึงกฎหมายจำเป็นต้องออกแบบเปิดพื้นที่เพื่อรองรับการตื่นรู้ของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง การทำหน้าที่ และการจะออกจากตำแหน่ง"
2.กฎหมายต้องไม่ใช้ดุลยพินิจมากเกินไป เพราะจะเป็นที่มาของคอร์รัปชั่น
"กฎหมายไทยควรมีความโปร่งใส อัตโนมัติในการบังคับใช้ ไม่ใช่ใช้ดุลยพินิจมากเกินไป เช่น กฎหมาย Farm Act ของสหรัฐฯ ที่มีความละเอียดมาก ไม่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจเลย ต่างจากกฎหมายไทยให้อำนาจไปยังอนุบัญญัติ (กฎหมายที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ กฎหมายที่ไม่ผ่านสภา) ทั้งประกาศกรม ประกาศกระทรวง หนังสือเวียน กฎกระทรวง เป็นพันฉบับ"
อดีตรองนายกฯ เห็นว่า จากการตื่นรู้ของประชาชน การปฏิรูปกฎหมายจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการตรากฎหมาย ให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบการดำเนินนโยบายของภาครัฐ
พร้อมยกตัวอย่าง ในต่างประเทศเวลามีการรับฟังความเห็นสาธารณะ จะมีการกำหนดให้ใช้เหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์ต้องมีตัวเลข หลักฐาน ข้อมูล เมื่อภาคประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเพราะอะไร จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ ไม่ได้ใช้อารมณ์
3.กฎหมายต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถจัดการกิจการในชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดได้มากขึ้น ให้สิทธิต่อชุมชน เช่น การบริหารจัดการป่าชุมชน การบริหารที่ดิน อย่างโฉนดชุมชน แม้แต่การมีสภาพลเมือง ประจำหมู่บ้าน ตำบลจังหวัด เพื่อวางแผนชุมชนได้ รวมไปถึงเรื่องการเงินชุมชน เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นต้น
"กฎหมายต้องให้ประชาชน ท้องถิ่น จังหวัดจัดการตนเองได้ในบางเรื่อง เช่น ทรัพยากร ขยะ ผังเมือง การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมบางประเภท" ศ.ดร.สุรเกียรติ กล่าว พร้อมกับเห็นว่า นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดค่อนข้างมาก จากเดิมการบริหารประเทศแบ่งทุกอย่างเป็นกระทรวง แต่หากเปลี่ยนวิธีคิดโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช้ภารกิจเป็นตัวตั้ง แล้วลงพื้นที่ สอบถามแต่ละจังหวัดอยากทำอะไร หรืออยากทำอะไรได้ด้วยตัวเองบ้าง ต่อจากนั้นภาครัฐจึงไปเสริมให้ทำสิ่งต่างๆได้ประสบความสำเร็จ
กรณีให้ที่ท้องถิ่น จังหวัดจัดการตนเอง ศ.ดร.สุรเกียรติ มองว่า ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะสังคมไทยมีความซับซ้อน และหลายหลาย ฉะนั้นกฎหมายต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นการกระจายอำนาจที่เข้าใจความซับซ้อนและความหลากหลายด้วย
"การมาพูดว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดควรมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง อาจไม่ใช่ประเด็นที่ประชาชนต้องการ อาจไม่ใช่การกระจายอำนาจที่สะท้อนความซับซ้อนและความหลากหลายของสังคมแล้วก็ได้"
4.กฎหมายต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนช่วยกันรักษาหลักนิติธรรม ควบคู่กับนิติรัฐ เช่น กฎหมายที่มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษ กฎหมายนิรโทษคอร์รัปชั่นทุกประเภท ใช้กฎหมายอาญาแก้ปัญหาการเมืองเกินไป หรือแม้แต่เรื่องการรุกป่า เป็นคนรุกป่าหรือป่ารุกคน
5.กฎหมายต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูป การปรองดอง โดยเฉพาะผู้ทำการปฏิรูปต้องไม่ใช่ผู้รับเหมาการปฏิรูป และไม่ใช่การปฏิรูปของผู้ชนะ
สุดท้าย อดีตรองนายกรัฐมนตรี เห็นว่า การตื่นรู้ของประชาชน ไม่เชื่อ "พ่อรู้ดี" อีกต่อไป ที่ใครจะมาทำอะไรแล้วบอกดีกับพวกคุณทั้งหมด คนไทยไม่เอาแล้ว ขอมีส่วนร่วม ขอแสดงความคิดเห็น ดังนั้น ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของการปฏิรูป
"การปฏิรูปและความปรองดอง เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน การปฏิรูปที่สำเร็จเป็นขั้นๆ ไป ก็จะนำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ ความปรองดองที่สำเร็จเป็นขั้นๆ ไป ก็จะนำไปสู่การปฏิรูปประสบความสำเร็จ การปฏิรูปประชาชนต้องมีส่วนร่วม อย่างที่เคยบอก รถไฟของการปฏิรูปต้องไม่ทิ้งใครไว้ที่ชานชาลา
กฎหมายต้องสร้างเวที และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั้งคู่ขัดแย้ง และไม่ขัดแย้งมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องสำคัญ ที่สำคัญเราต้องคำนึงด้วยว่า การปฎิรูปเป็นการรื้อของเดิม ทำให้ดีขึ้น จึงมีฝุ่น และจะเลอะเทอะ ก่อนออกมาสวยงาม"
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 19 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.