นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผองเพื่อนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้รวมตัวกันที่หน้าพระธาตุครูบาศรีวิชัยลานวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายในการเดินเท้าจากเชียงใหม่สู่กรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์ให้ผู้มีอำนาจรัฐผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดิน ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. 64/2557 และ แผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เนื่องจากภายใต้แผนแม่บทดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับเกษตรและผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกิน หรือมีกรณีพิพาทที่ดินกับรัฐ โดยเฉพาะการกวาดจับชาวบ้านซึ่งที่ดินถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ
ตลอดเวลาที่ผ่านมานโยบายการบริหารประเทศมักเต็มด้วยการเอื้อประโยชน์ให้แก่นักการเมือง ชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจรัฐ ได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความไม่เป็นธรรมในจัดสรรทรัพยากรให้ประชาชนทั้งแผ่นดิน โดยเฉพาะนโยบายการจัดการที่ดินที่ผู้มีอำนาจส่วนน้อยสามารถเข้าถึงการถือครองที่ดินอย่างเสรี กีดกันคนยากจนคนส่วนใหญ่ของชาติไม่สามารถเข้าถึงการครองที่ดินได้ กลายเป็นผู้ไม่มีความมั่นคงที่ดิน คนจน ผู้ยากไร้ ไม่มีที่ทำกินเพียงพอ
ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐ ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินของรัฐที่ไม่ธรรม ทั้งที่ดินที่ทำกินในเขตป่าและนอกเขตป่า จึงรวมตัวกันในรูปของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เพื่อสร้างพลังอำนาจการต่อรอง และเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือวิถีอื่น ลงมาแก้ไขปัญหาของประชาชน ทั้งปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดกระจายการถือครองที่ดิน
ปัจจุบันภายใต้การบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาคุมอำนาจการปกครองนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติสุข ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย เป็นที่เข้าใจได้ของประชาชนทุกหมู่เหล่า และชาวบ้านส่วนใหญ่สนับสนุน
เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ จึงเริ่มเห็นแสงสว่างหรือที่พึ่งในการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมกันมานานปี โดยได้พยายามยื่นหนังสือเพื่อให้คณะ คสช. และรัฐบาล ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบัน เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนมาอย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง
แต่ทว่าการแก้ปัญหากลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ขณะเดียวกัน แผนแม่บทป่าไม้ฯ ของ คสช. กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากให้คนที่อยู่ในเขตป่าในพื้นที่ภาคเหนือจนไม่สามารถดำรงชีพอย่างปกติสุขได้
ชาวบ้าน หรือ สกน.ในนามของผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินของรัฐ จึงได้ป่าวประกาศต่อสาธารณชนเพื่อเดินเท้าทางไกลรณรงค์ "ก้าว แลก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย" เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในปัจจุบัน เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนในพื้นที่ ทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ฯ ออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน 4 ฉบับโดยเร็ว อันได้แก่
1)ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ศ...
2)ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ...
3)ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ... และ
4)ร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ...
โดยที่ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว ได้มีการระดมความคิดเห็นและยกร่างเสนอให้รัฐบาลได้ทราบและพิจารณาแล้ว และชาวบ้านเชื่อมั่นใน คสช. ว่าจะช่วยผลักดันกฎหมายข้างต้นออกมาได้ ทั้งนี้ภายใต้คำประกาศดังกล่าว ชาวบ้านได้ยืนยันในจุดยืนของภาคประชาชนที่พร้อมทุ่มเทกายใจรณรงค์เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม และพร้อมเจรจากับรัฐบาลเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขในที่สุด
หากจะมองอีกด้านหนึ่ง ปัญหาที่ดินเอกชนที่มีการกระจุกตัวนั้น ในปี 2517 เป็นยุคที่มีการประกาศจัดตั้ง "สหพันธุ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" ผลพวงของการเคลื่อนไหวของสหพันธุ์ชาวนาฯ ได้นำมาสู่การแก้ไขกฎหมายค่าเช่านาให้เป็นธรรม ที่สำคัญคือ การประกาศใช้พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ที่ดินของรัฐ เช่น ป่าสงวนเสื่อมโทรม ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ ฯลฯ ที่นำมาออกให้แก่เกษตรกรมีจำนวนราว 33 ล้านไร่ แต่เป็นที่ดินเอกชนเพียงราว 451,000 ไร่เท่านั้น
การปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 แม้จะทำได้จำนวนมากแต่มีข้อจำกัดก็คือ มีการเปลี่ยนมือของที่ดินจากเกษตรกรไปสู่นายทุนและกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ทำเกษตรกรรมแม้จะมีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนก็ตาม และที่สำคัญก็คือ สภาพการกระจุกตัวของที่ดินเอกชน เกษตรกรจำนวนร้อยละ 40 หรือจำนวน 1.5 ล้านครัวเรือนไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินแต่ไม่พอทำกินโดยต้องเช่า ในขณะที่ที่ดิน ร้อยละ 90 อยู่ในมือของคนเพียง ร้อยละ 10 บางรายมีที่ดินถึง 6 แสนไร่ ซึ่งนำมาสู่คำถามว่าเราจะมีมาตรการในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างไร
ดังนั้น ข้อเสนอผ่านการรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับของชาวบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ กล่าวคือ จำเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่ดินเพื่อเป็นมาตรการในทำให้ผู้ที่มีที่ดินจำนวนมากคายที่ดินออกมา รวมทั้งควรจะต้องพิจารณาการจำกัดการถือครองที่ดิน การจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อให้เป็นสถาบันทางการเงินสำหรับคนจนในการเข้าถึงที่ดิน แม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เคยออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งสถาบันการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และอนุมัติงบประมาณเพื่อที่ดินชุมชนนำร่องจำนวน 5 แห่งเป็นจำนวนเงิน 167 ล้านบาท แต่ก็คาราคาซังกันจนมาถึงทุกวันนี้เพราะเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย
นอกจากนี้ ยังมีบทเรียนในการจัดการที่ดินของรัฐประเภทอื่นด้วย เช่น ในรูปแบบการเช่าที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ฯลฯ ที่ไม่มีการจำกัดผู้เช่าว่าจะต้องเป็นเกษตรกร เราจึงเห็นที่ดินราชพัสดุที่จังหวัดกาญจนบุรีกลายเป็นสนามกอล์ฟสนามละหลายร้อยหลายพันไร่ ที่ดินเขตป่าสงวนเสื่อมโทรมกลายเป็นสวนป่า ไร่ไม้โตเร็ว สวนยูคาลิปตัสของนายทุนอุตสาหกรรมการเกษตร ฯลฯ ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเกษตรกรรายย่อย แต่มีโอกาสได้ใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรมที่อธิบายว่านี่คือ ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 และรวมอยู่ในการคืนผืนป่าให้ได้ครบร้อยละ 40 ปัญหาด้านหนึ่งของการคืนผืนป่าจึงมักเกี่ยวข้องว่า ผืนป่านี้ใครมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ การคืนผืนป่าโดยการปลูกป่าเศรษฐกิจด้วยการให้บริษัทเอกชนปลูกไม้โตเร็วกลายเป็นการแย่งที่ดินทำกินของเกษตรรายย่อยที่ถูกอพยพขับไล่ออกมา ปัญหาเช่นนี้จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปกว่าการคืนผืนป่าเพื่อนำมาปลูกป่ายูคาฯ แต่จะเกี่ยวข้องกับการให้สัมปทานทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ อีกด้วย
ปัญหาการเปลี่ยนมือที่ดินในโครงการปฏิรูปที่ดิน หรือการจัดหาที่ดินสำหรับเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ จึงนำมาสู่ข้อเสนอในเรื่องของแนวคิดโฉนดชุมชน การจัดการแบบสิทธิร่วมของชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามาช่วยกันกำกับตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน และนี่เป็นแนวคิดที่ปรากฏมาสู่การเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในที่สุดด้วย
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 13 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.