โดย พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร และกฤชกนก ศรีเมือง
บทสัมภาษณ์ประภาส ปิ่นตบแต่ง : ต่อไปนี้คือบทสนทนาบนรถที่เขาถูกควบคุมตัว - คุยกันผ่านลูกกรงเหล็กดัด
"ความรู้สึกแรก รู้สึกอย่างไร?"
"ก็โอเค พี่น้องเราเจอมาเยอะแล้ว ซึ่งเราก็เอาเปรียบพี่น้องมาเยอะมากแล้ว พี่น้องทนทุกข์ลำบาก แต่เราได้ดิบได้ดี...เรียนจบปริญญาเอก
"สังคมตั้งคำถามว่า ในเมื่ออาจารย์รู้อยู่แล้วว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ อาจจะทำให้ติดคุก แล้วทำไมยังเลือกที่จะทำ?
"คิดว่าเรื่องนี้ควรที่จะให้สังคมได้รับรู้ ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าผมเป็นแค่คนที่ทุกข์นิดหน่อย แทนพี่น้องที่จะต้องมาเดือดร้อน ต้องมาเดินขบวนแบบเดิม หรือพี่น้องหลายคนแม้แต่ต้องยอมเสียชีวิต ผมคิดว่าผมเสียสละน้อยมาก
"สิ่งที่อาจารย์อยากเห็นคืออะไร?
"1.ผมคิดว่าแผนแม่บทคืนผืนป่านี้ต้องทบทวน เพราะมันคือ คจก.ภาค 2 ที่สร้างความเดือดร้อนมากมาย 2.กลับไปสู่การแก้ปัญหาที่พี่น้องมีส่วนร่วมมาอย่างยาวนาน เรามีบทเรียนมาเยอะแยะ...ถอยกลับไปที่บทเรียนเดิมก็พอแล้ว"
แม้เพียงสั้นๆ แต่ชัดเจนในจุดยืนของ ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาเคลื่อนไหวในกิจกรรม "เดิน-ก้าว-แลก" ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ
ในวัยกลางคน เขาไม่ได้เป็นเพียงอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังเป็นนักเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์
ท่ามกลางปัญหาร้อน อย่างการอพยพชาวบ้านออกจากป่าตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ พ.ศ.2557 ไปจนถึงประเด็นกรมที่ดินสนองนโยบาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยการให้ชาวบ้านเช่าที่ดินราคาถูก คราวละ 5 ปี เร่งทำใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่
ประภาส เกรงว่านี่จะเป็น "คจก.ภาค 2"
เป็นภาคต่อของ "โครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนฯเสื่อมโทรม" ที่จัดทำขึ้นหลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี พ.ศ.2534 ที่มีการอพยพไล่ที่ชาวบ้าน สร้างความเดือดร้อนมากมาย ส่งผลให้ชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้ปัญหาปากท้องบนท้องถนนอย่างยาวนาน จนเป็นที่รู้จักกันในนาม "สมัชชาคนจน" ในที่สุด
ประภาส ถูกทหารควบคุมตัว หลังออกเดินเท้าได้เพียง 50 เมตร ถูกจำกัดอิสรภาพก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา
และนี่คือบทสนทนาที่เขาบอกว่า "อยากพูด"
เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ทำไมตัดสินใจเดินขบวน?
พอทราบว่าทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ จะทำกิจกรรม "เดิน-ก้าว-แลก" เพื่อพูดถึงแนวคิด "ก้าวแลก" คือ แลกที่ดิน ผมก็ประกาศไปว่าจะร่วมเดินขบวนด้วย เพราะคุยกับเพื่อนๆ ว่า พวกเราจบปริญญาเอกด้วยความทุกข์ยากของชาวบ้าน ติดตามศึกษากระบวนการทำงานของพวกเขา ทำวิจัยเกี่ยวกับคนยากจน เรียกว่าเราหากินกับชาวบ้าน ดังนั้น จึงจะลงไปร่วมทุกข์ยากกับพี่น้องที่เดือดร้อนจากนโยบายการอพยพคนออกจากป่า ซึ่งมันเคยล้มเหลวมาแล้วนับตั้งแต่ คจก. จากแผนแม่บทคืนผืนป่า นโยบายป่าไม้แห่งชาติที่ประกาศในปี 2528 และแก้ไขอีกครั้งในปี 2532 กำหนดให้ข้อมีป่าอนุรักษ์ ร้อยละ 25 ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15
จุดมุ่งหมายการคืนผืนป่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัยแต่ปัญหาก็คือ มีผู้คนจำนวนมากอยู่ในเขตป่าด้วยเงื่อนไขที่สลับซับซ้อน ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีก
จุดประสงค์ของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้?
ประเด็นสำคัญ คือ การสื่อสารกับผู้คนในสังคมว่า ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนอะไรบ้าง มีทางเลือกในการจัดการคืนผืนป่าอย่างไร และนำเสนอทางเลือกของชาวบ้านซึ่งอยู่กับป่าและจะช่วยกันดูแลป่า
คสช.ควรแยกประเด็นการเคลื่อนไหวเพื่อปากท้องออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง?
หากชาวบ้านไม่มีอำนาจในการต่อรองและส่งเสียง จะไม่เกิดการแก้ปัญหา เรื่องที่ดินมีปัญหามาก เวลาพูดถึงประชาธิปไตย จะคืนความสุข ต้องคืนประชาธิปไตยให้ชาวบ้านก่อน ไม่ต้องมาเพิ่มอำนาจให้ประชาชนหรอก แค่ขออำนาจเดิมที่เคยมีอยู่ คืนประชาธิปไตยให้เป็นกลไกในการต่อรอง และส่งเสียงก็พอแล้ว
การผลักดันชาวบ้านออกจากป่าชุมชนโคกยาว จ.ชัยภูมิ เมื่อไม่นานมานี้?
เหตุก็เกิดจากการฟื้นผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ พ.ศ.2557 ซึ่งฟังแล้วดูดี แต่ประเด็น คือ การคืนผืนป่าให้ได้ตามเป้านั้น จะต้องอพยพชาวบ้านดั้งเดิมที่อยู่ในป่า อันนี้เป็นปัญหา ชาวบ้านก็ต่อสู้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องโฉนดชุมชนได้เขียนเอาไว้ พื้นที่ตรงนี้ก็ทำเป็นโครงการนำร่องด้วย
พอสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็คงคิดว่าเป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ได้ทำอะไรต่อ ไม่ทำแม้กระทั่งจัดตั้งกรรมการบริหารโฉนดชุมชน เท่าที่ผมติดตามแทบจะไม่มีการประชุมถึงเรื่องนี้ คาดว่าเป้าหมายคือต้องการจะยุบเรื่องโฉนดชุมชน แต่ชาวบ้านไม่ยอม มีชุมชนที่เข้ามาเสนอเรื่องกว่า 400-500 ชุมชน ให้รัฐจัดสรรประโยชน์ที่ดินทำกิน พอมาถึงรัฐบาล คสช. ปัญหาก็ยิ่งหนักอย่างที่เห็น
แนวโน้มสถานการณ์เป็นอย่างไร?
ผมคิดว่าความเดือดร้อนมันกว้างขวาง คงไม่สามารถทานไว้ได้นาน ตอนนี้ชาวบ้านก็พยายามออกมาแสดงสิทธิและส่งเสียง ถ้าไม่มีกฎอัยการศึก สถานการณ์คงลุกเป็นไฟแล้ว และจะสะสมไปเรื่อยๆ เกิดเป็นไฟป่า ถ้าปราบปรามรุนแรง ผลก็จะยิ่งแรง อำนาจเบ็ดเสร็จอาจจัดการปัญหาได้จริง แต่คงต้องสูญเสีย ผมคิดว่ารัฐบาลแบบนี้อยู่ไม่ได้ในสังคมสมัยนี้ ซึ่งการสื่อสารรวดเร็ว
คาดการณ์ว่าปัญหาการจัดการที่ดินจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน?
ถ้ายังดันทุรังจัดการด้วยวิธีเดิมๆ ก็จะเกิดแต่ปัญหาไม่รู้จบ เพราะการทวงคืนผืนป่าด้วยแนวคิดอพยพคน การหาที่รองรับแบบนี้มันทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วในช่วงรัฐบาล รสช. ก็ดำเนินการด้วยวิธีคิดการกำหนดพื้นที่ป่า 40% มาจากนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2528 กำหนดป่าอนุรักษ์ไว้ 15% ป่าเศรษฐกิจ รวมไม้โตเร็วต่างๆ 25% พอปี 2532 ก็เปลี่ยนมาเป็นป่าอนุรักษ์ 25% ป่าเศรษฐกิจ 15% ป่าเหล่านี้มีตัวเลขที่จะต้องเอาคืนราว 40 ล้านไร่
ปัญหาที่พ่วงมาคือ ในตัวเลขที่จะต้องเอาคืนให้ได้ 40% มีคนเข้าไปอยู่อาศัยเต็มหมดแล้ว ทั้งป่าอนุรักษ์ และป่าเศรษฐกิจ โดยมีหลายสาเหตุหนึ่ง แน่นอนคือการบุกรุก และการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจก็ด้วย เช่น ข้าวโพด ตอนนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของบ้านเราก็ได้ประโยชน์จากการบุกรุกป่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่กันมาก่อนการประกาศเขตป่าก็ต้องอพยพ เพียงแค่ติดเรื่องการพิสูจน์สิทธิการทำมาหากินในพื้นที่
ต้องการคืนผืนป่าโดยไม่สนใจคน?
โครงการ คจก.ต้องการอพยพชาวบ้านเพื่อคืนผืนป่าให้ได้ 40% ช่วงนั้นเริ่มทำที่อีสานก่อน ผมตามไปดูที่แรกเลยคือ ป่าต้นน้ำลำธารที่ อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ทหารก็เอารถไปขนชาวบ้าน รื้อบ้าน ก็เจอปัญหาคือ ที่รองรับก็ทำมาหากินไม่ได้ เพราะบางพื้นที่เป็นหิน ไม่สามารถทำการเกษตรได้ บางพื้นที่มีคนอยู่ก่อนหน้าแล้ว ไม่มีที่ไหนที่ว่างเปล่า เจ้าของเดิมก็มาไล่อีก สุดท้ายก็กลับขึ้นข้างบน
ที่ จ.นครราชสีมา ก็มีการตั้งศูนย์คนไทยอพยพ บ้านหนองใหญ่ ต.สระตะเคียน ตั้งชื่อว่าศูนย์คนไทยอพยพ (หัวเราะ) ไม่รู้จะอพยพไปไหน ไปไล่ชาวบ้านลงมาด้วยวิธีคิดแบบเดียวกัน ตอนหลังเกิดเครือข่าย พัฒนามาเป็นสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เพื่อการจัดการที่ดินที่ยั่งยืน ช่วงหลังก็พัฒนามาเป็นเครือข่ายสมัชชาคนจน
สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นและมีการอพยพชาวบ้านมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2535 ชาวบ้านชุมนุมใหญ่ที่ จ.นครราชสีมา เคลื่อนพลมาปิดถนนตรง
ลำตะคอง เดือนกรกฎาคมปีเดียวกันหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น คุณเอนก สิทธิประศาสน์ เป็นตัวแทนเจรจา จนได้ข้อยุติ รัฐบาลประกาศยกเลิกโครงการ คจก.
ดังนั้น การอพยพให้คนออกจากป่าอีก ถือว่าไม่เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว
ประวัติศาสตร์ไม่ได้สอน?
ผมคิดว่ามันสอนผู้คนในสังคมเรื่องแนวคิดคนอยู่กับป่า แนวคิดพระราชบัญญัติป่าไม้ชุมชน ที่ผลักดันกันออกมา มีประชาชนเข้าชื่อหมื่นชื่อ แนวคิดการจัดการที่ดินโดยชุมชน แนวคิดสิทธิชุมชนมันไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ทั้งสิ่งที่มันไปปรากฏอยู่บนรัฐธรรมนูญ เรื่องของชุมชนดั้งเดิม ชุมชนพื้นถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ในมาตรา 66 หากจะทำโครงการขนาดใหญ่ให้ทำประชาพิจารณ์เรื่องผลกระทบต่างๆ มาคราวนี้ถูกกำปั้นใหญ่ๆ กวาดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากโต๊ะแล้ว เหลือแต่กำปั้นใหญ่ๆ อยู่บนโต๊ะ
ชาวบ้านเรียนรู้ แต่ภาครัฐบางส่วนไม่เรียนรู้จากอดีต?
ผมคิดว่าเป็นแบบนั้น มันไม่ได้ผิดพลาด แต่จัดการไม่ได้...จะเรียกว่าผิดพลาดก็ได้นะ (หัวเราะ) มันถูกพิสูจน์มาแล้วว่า วิธีคิดอพยพคนออกจากป่าจะทำให้ลุกเป็นไฟ ผมเลยเรียก แผนแม่บทคืนผืนป่าของ คสช.ว่า "คจก.ภาค 2" แต่เขาอาจจะมียุทธวิธีที่ดีกว่า เช่น ไม่ได้มาประกาศคืนป่าผืนใหญ่ๆ ไม่ได้ตั้งกองอำนวยการ แต่อาศัยแปลงเล็กแปลงน้อย เลือกบริเวณที่ชาวบ้านอ่อนแอก่อน ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไป และการต่อสู้ของชาวบ้านก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ อย่างที่เคยเกิดในช่วง คจก.
ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตอนนี้บางส่วนก็เปลี่ยนมือไปเป็นของนายทุน เป็นของบริษัทเอกชนเป็นหมื่นไร่ เราก็รู้ๆ กันอยู่ จะไปจัดการหรือเปล่า ผมก็อยากให้จัดการที่พวกนี้ ที่ดินส่วนหนึ่งในป่าเศรษฐกิจ รัฐก็เอาไปให้บริษัทที่ผลิตไม้โตเร็วเช่า ป่าอีกส่วนหนึ่งก็อย่าลืมเรื่องป่าเศรษฐกิจ สวนปาล์ม ไม้ยูคาลิปตัส ก็เป็นป่าเศรษฐกิจ ที่ดินพวกนี้พอหมดสัมปทาน ชาวบ้านที่เคยทำกินอยู่เดิมก็บุกเข้าไปยึด หมดสัมปทานแล้วรัฐก็เอามาให้เช่า ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินทหารที่กาญจนบุรีกี่แสนไร่ ตอนนี้เราก็ให้สนามกอล์ฟเช่า 2-3 พันไร่บ้าง ทำรีสอร์ต สิ่งปลูกสร้างต่างๆ บ้าง
สิ่งนี้มันควรจะมีไว้สำหรับเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ ผมคิดว่าควรมองในภาพรวม ไม่ใช่ไปไล่กระทืบชาวบ้าน อพยพได้แต่ชาวบ้านรายเล็กรายน้อย แต่นายทุนกลับได้ไม่กี่ที่
ในความเป็นจริง คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ไหม ตามกฎหมายเป็นอย่างไร?
ถ้ายึดตามกฎหมายจริงๆ ชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำต่างๆ ต้องอพยพออกมาหมด ไม่ว่าจะอยู่กันมากี่ร้อยปี
มีกรณีตัวอย่างทางภาคใต้ซึ่งมีการประกาศพื้นที่ป่าทับที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งทางชุมชนเขาก็มีข้อเสนอให้ใช้ที่ดินร่วมกัน ซึ่งเรียกว่าเกษตรยั่งยืน ผมคิดว่าแนวคิดแบบนี้น่าจะไปได้
การให้เช่าที่ดินราคาถูก 5 ปี ทำได้จริงหรือไม่ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง?
การให้สาธารณประโยชน์แก่เกษตรกรและคนยากจน เป็นเรื่องดีแน่นอน แต่ผมไม่คิดว่าพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่พูดกันว่ามีอยู่ล้านกว่าไร่ จะเป็นพื้นที่ว่างเปล่าจริงๆ สักกี่ไร่
ลองมาดูข้อมูลกันว่าที่ดินทั้งหมดของประเทศไทย มี 320 ล้านไร่ เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ 130 ล้านไร่ ที่ป่าซึ่งประกอบด้วยอุทยานฯและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6.4 ล้านไร่ ที่ดินราชพัสดุ 2.1 ล้านไร่ และที่สาธารณประโยชน์ ประมาณ 1,154,000 ไร่ ซึ่งส่วนนี้เราไม่รู้ว่ามีที่ว่างเปล่าจำนวนเท่าไหร่กันแน่ เพราะในความเป็นจริงมันมีการเช่า การบุกรุกทั้งจากนายทุนและชาวบ้านเอง ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงรายละเอียด คือการจัดการกับที่ดินสาธารณะอาจทับซ้อนกับที่ทำกินของชาวบ้าน
ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมีการนำที่ราชพัสดุ 1 ล้านไร่ ให้เกษตรกรเช่าในราคาถูกแค่ 20 บาท แต่พอไปสำรวจกลับพบปัญหาหลายอย่าง เช่น มีคนไปอยู่อาศัยบ้าง ไปเช่าอยู่บ้าง เช่นที่บ้านผมตรงคลองโยง จ.นครปฐม ซึ่งมีการผ่อนส่งกันมาภายใต้การจัดการที่ดินตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกองทุนหมุนเวียนเพื่อการรับซื้อที่ดิน แต่พอไปขึ้นทะเบียนแล้วกลับเป็นที่ราชพัสดุ ดังนั้น มันจะเกิดปัญหาว่า กลายเป็นการเอาที่ดินซึ่งชาวบ้านควรจะเป็นเจ้าของมาให้เขาเช่า ซึ่งผมคิดว่าครั้งนี้เราก็จะเจอปัญหาแบบนี้อีก
ระยะเวลาเช่า 5 ปี เหมาะสมหรือไม่?
การให้เช่าแค่ 5 ปี มันไม่มีอนาคต เพราะช่วงเวลาสั้นเกินไป ถ้าปลูกไม้ยืนต้น จะไม่ทันเก็บผล เกษตรกรก็เกิดความไม่มั่นใจว่า ถ้าลงทุนไปแล้วจะได้เช่าที่ดินต่อไหม นี่ก็จะเป็นอีกปัญหาหนึ่ง
จะมีปัญหาการเปลี่ยนมือ?
มีแน่นอน เพราะการเช่าที่สาธารณประโยชน์แบบนี้ มีระเบียบคล้ายๆ กับที่ดินราชพัสดุคือใครเช่าก็ได้ ซึ่งมันจะนำมาสู่ปัญหาการขายสิทธิการเช่า อย่างเช่นที่ ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ก็เจอปัญหานี้ ปัจจุบันที่ดินเปลี่ยนมือเป็นของคนใหญ่คนโต ดารานักร้อง คนฐานะดี นี่คือจุดอ่อน
ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร?
ต้องมีการทบทวนเรื่องการจัดการที่ดินว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกินยาวนานกว่า 5 ปี และทำอย่างไรที่จะสามารถกำกับไม่ให้เกิดการเปลี่ยนมือ เช่น ข้อเสนอเรื่องโฉนดชุมชน คือให้ชุมชนเข้ามาดูแลกำกับ ถ้าจะขายก็ต้องขายให้สหกรณ์ และถ้าจะใช้ทำกิน ก็ต้องไม่ให้คนอื่นเช่าต่อ ถ้าทำไม่ไหวก็ต้องสืบทอดเป็นมรดกให้ญาติ หรือถ้าไม่มีคนทำจริงๆ ก็ต้องถ่ายคืน
หากมีมาตรการที่ทำให้เป็นเช่นนี้ได้ ที่ดินก็จะอยู่กับเกษตรกรตามวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดิน
กรณีศึกษาในต่างประเทศ?
ที่พูดถึงกันมากที่สุดคือบราซิล ซึ่งมีขบวนการสรรหาที่ดิน หรือ เอ็ม เอส ที ซึ่งเป็นตัวย่อจากภาษาโปรตุเกส มีสมาชิกถึง 2.5 ล้านครัวเรือนเป็นอย่างน้อย ในบราซิลมีที่ดินมาก รัฐหนึ่งของบราซิลเท่ากับพื้นที่ประเทศไทย แต่มีปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของที่ดิน เพราะเอาไปให้ต่างชาติเช่าครั้งละ 30 ล้านไร่ หรืออะไรทำนองนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างกับบ้านเรา คือมีการบุกยึดที่ดิน แต่มีการใช้รูปแบบที่คล้ายๆ กับโฉนดชุมชน ซึ่งพวกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินก็เรียนรู้มาจากที่นั่น ตอนเย็นบุกยึดที่ดิน ตอนเช้าตั้งชุมชน สร้างโรงเรียน ปรับระบบการผลิตในลักษณะของสหกรณ์
สรุปแล้วปฏิรูปที่ดินทำอย่างไรจึงยั่งยืน?
มันคงคิดเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้ อย่างแผนแม่บทอันไหนที่มีมาตรฐานเดียวกันผมคิดว่ามีบทเรียนที่เราได้คุยกันมาแล้ว เรื่องการจัดการโฉนดชุมชน เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องให้คนอยู่กับป่า การเอาคนอพยพออกมาก่อน แล้วค่อยหาที่ดินให้อยู่ ซึ่งที่ดินเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ว่าง มันก็เป็นเหมือน คจก. หลังๆ มานี้ชาวบ้านเรียกกรมป่าไม้ เป็นกรมป่าม้วยแล้ว (หัวเราะ) ถ้ากรมป่าไม้ปลูกป่าด้วยงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้วและได้ผลจริง เราคงไม่มีที่อยู่นะ คือคงเป็นป่าไม้ทั้งประเทศไปแล้ว
เราย้อนกลับสู่ยุคที่เราได้เดินผ่านมันมาแล้ว?
ผมก็ไม่คิดว่าหัวหงอกจนป่านนี้แล้ว จะต้องมาเดินร่วมกับชาวบ้านเพื่อเคลื่อนไหวประเด็นปัญหาเหล่านี้อีก
ควรเป็นสิ่งที่เราต้องเดินไปข้างหน้า และจัดการทรัพยากรป่าไม้ เรื่องการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน
ที่มา : มติชน วันที่ 15 พ.ย. 2557